“งานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ประจำปี 2547 และการฉลองสมโภช 200 ปี แห่งการพระบรมราชสมภพและเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4

ข่าวทั่วไป Tuesday August 3, 2004 10:19 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 ส.ค.--สสวท.
การแถลงข่าว “งานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ประจำปี 2547 และการฉลองสมโภช 200 ปี แห่งการพระบรมราชสมภพและเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย” และโอกาสครบรอบ 25 ปีศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา โดย รองศาสตราจารย์ ดร.คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ นายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ณ ห้องกมลทิพย์ โรงแรมสยามซิตี้ กรุงเทพฯ
รองศาสตราจารย์ ดร.คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ นายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้กล่าวถึง การจัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ประจำปี 2547 สำหรับปีนี้จะจัดขึ้นในวันที่ 18-21 สิงหาคม 2547 ในวโรกาสฉลองสมโภช 200 ปี แห่งการพระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เพื่อเฉลิมพระเกียรติ “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย” และในโอกาสครบรอบ 25 ปี ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา เพื่อเป็นการเน้นให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพ พระวิสัยทัศน์และพระพิริยะอันสูงส่งของพระองค์ที่ทรงศึกษา ค้นคว้า วิจัยและทรงนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนชาวไทย อันเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงเอื้ออาทรต่อพสกนิกรทุกหมู่เหล่าให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อีกทั้ง ยังมีการจัดมหกรรมวิทยาศาสตร์และมีสัมมนาวิชาการในโอกาสครบรอบ 25 ปี ของศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา
ในปีนี้มีการจัดงานเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้น ในฐานะที่พระองค์ทรงเป็น “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทยงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติเพื่อเทิดพระเกียรติคุณพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในปีนี้ ได้จัดขึ้นพร้อมกับการจัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ประจำปี 2547 ภายใต้แนวคิด “เศรษฐกิจของชาติมีปัญหา วิทยาศาสตร์มีคำตอบ” และมีการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ โดยฝีมือของเด็กและเยาวชนไทย มีนิทรรศการเทคโนโลยีนาโนและของเล่นวิทยาศาสตร์ที่หลากหลายเพื่อแสดงถึงศักยภาพของการศึกษาและการเรียนรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อีกทั้งยังทำให้เกิดความตื่นตัวในการร่วมกันพัฒนาวงการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลสู่เป้าหมายแห่งการสร้างสรรค์ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระตุ้นความสนใจใฝ่รู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ของเด็กและเยาวชนไทย
งานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติได้จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี มีความสำคัญเนื่องจากเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงทำนายการเกิดสุริยุปราคาได้อย่างแม่นยำ เป็นที่ประจักษ์เป็นที่ชื่นชมของบรรดาพสกนิกรชาวไทยและชาวต่างประเทศ พระองค์ท่าน ได้รับการยกย่องให้เป็นพระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทยและในปีนี้เป็นปีที่สำคัญ เป็นปีที่ฉลองสมโภช 200 ปี แห่งการพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 จึงได้มีการจัดงานสมโภช 200 ปี ตลอดทั้งปี สัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติในปีนี้ก็เป็นส่วนสำคัญในการจัดงานฉลองพระบรมราชสมภพ สำหรับการจัดงานกระทรวงหลักที่ได้สนับสนุนด้วยเงินและบุคลากรก็คือ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ในนามของสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ขอกล่าวคำขอบคุณทุกท่านที่ได้ให้ความร่วมมือและช่วยสนับสนุนการจัดงานในครั้งนี้ องค์กรที่ร่วมจัดงาน ได้แก่ สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) โรงเรียนปทุมคงคา สมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีศึกษาไทย และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) องค์กรที่ให้การสนับสนุนได้แก่ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงศึกษาธิการ มูลนิธิวิทยาศาสตร์ ดร.ปรีชา-ประไพ อมาตยกุล บริษัท ESSO จำกัด บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) และขอขอบคุณสำหรับการเอื้อเฟื้อสถานที่ ในการจัดกิจกรรมเยาวชนและแสดงนิทรรศการของศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา(ท้องฟ้าจำลอง) สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(สสวท.) และโรงเรียนปทุมคงคา
งานจัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาตินี้มีผลอย่างมากในการเรียนรู้ของเด็ก แต่ก็มีแนวโน้มที่จะดีขึ้นตามลำดับ สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้จับประเด็นเรื่องนี้มานับเป็นเวลาหลายสิบปี และจัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า สำหรับผู้ใหญ่อาจจะมองว่าเป็นการจัดงานอย่างซ้ำ ๆ แต่สำหรับเด็กและเยาวชนนั้นมีความหมายมาก ในแต่ละปีจะมีเด็กและเยาวชนมาชมงานจำนวนมากที่เข้ามาร่วมงานเข้ามาสัมผัสกับวิทยาศาสตร์ เรียนรู้วิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะสื่อมีอิทธิพลอย่างมากในการช่วยนำเสนอข่าวและเผยแพร่ข่าว สำหรับเด็กเป็นการสร้างชีวิตใหม่ สร้างจิตสำนึก สร้างจิตวิญญาณใหม่และปลูกฝังแนวคิดแบบวิทยาศาสตร์ให้กับเด็กๆ สามารถที่จะทำให้เด็กจำนวนมากเกิดแรงบันดาลใจที่จะเรียนรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และสร้างผลงานทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตั้งแต่วัยเด็กไปจนกระทั่งถึงวัยผู้ใหญ่ สิ่งสำคัญยิ่งในการจัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ คือ การที่เด็กมีความสนใจในการเรียนรู้วิทยาศาสตร์เพื่อการแข่งขันในระดับนานาชาติด้วย
หัวข้อการจัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ “เศรษฐกิจของชาติมีปัญหา วิทยาศาสตร์มีคำตอบ” เป็นหัวข้อที่เหมาะสมอย่างยิ่ง วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการพัฒนาประเทศ สำหรับการจัดงานในปีนี้มีกลุ่มกิจกรรม อันได้แก่ คือ การประกวดและการแข่งขันทางวิทยาศาสตร์ อาทิ การประกวดการพูดทางวิทยาศาสตร์ การประกวดวาดภาพจินตนาการทางวิทยาศาสตร์ ฯลฯ การประกวดที่สำคัญมากคือ การประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ อีกกิจกรรมหนึ่งคือ การสัมมนาทางวิชาการ “แหล่งเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์” ซึ่งจัดควบคู่กันไป และจะมีนิทรรศการวิทยาการใหม่ ๆ ให้เด็กและเยาวชนได้รับความรู้เกี่ยวกับวิทยาการใหม่ ๆ เกี่ยวกับนาโนเทคโนโลยี เป็นต้น
นอกจากนี้แล้วยังมีการจัดกิจกรรมค่ายวิทยาศาสตร์ ซึ่งมีอยู่หลายค่ายด้วยกัน อาทิ ค่ายวิทยาศาสตร์ที่หว้ากอ ค่ายวิทยาศาสตร์ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา (ท้องฟ้าจำลอง) มีนักเรียนเข้าค่ายจำนวน 200 คน และมีค่ายที่จัดขึ้นทั้งมัธยมศึกษาตอตต้นและมัธยมศึกษาตอนปลาย รวมทั้งค่ายเยาวชนช้างเผือก ของเครือซิเมนต์ไทยด้วย ซึ่งได้ช่วยสนับสนุนการจัดค่ายและการจัดการประกวดแข่งขันทางวิทยาศาสตร์ เป็นประจำทุกปี และยังมีกิจกรรมโครงการรางวัลนวัตกรรมแห่งประเทศไทย เป็นการประกวดเพื่อให้ได้ผู้ที่มีความสามารถในเชิงนวัตกรรม
การจัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาตินั้น มุ่งเป้าหมายตั้งแต่เด็กชั้นประถมศึกษา ชั้นมัธยมศึกษา อาชีวศึกษาและระดับอุดมศึกษา และนิสิต นักศึกษาในมหาวิทยาลัย วันที่ 18 สิงหาคม 2547 พิธีเปิดงาน จะจัดขึ้นที่ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา ณ ห้องมหกรรม ชั้น 2
(ท้องฟ้าจำลอง) กิจกรรมหลักจะจัดขึ้นที่ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา และโรงเรียนปทุมคงคาในบริเวณใกล้ ๆ กันอีกแห่งหนึ่งจัดที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิล์ดพลาซ่า คือ การจัดการแข่งขันรางวัลนวัตกรรมแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 4 ซึ่งต้องการจะให้เป็นจุดสนใจของภาคเอกชนและประชาชนทั่วไป
ดร.สุพจน์ หาญหนองบัว อุปนายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ประธานโครงการการจัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า การจัดงานเทอดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ณ บริเวณ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา ในวันที่ 4 สิงหาคม 2547 จะมีการแถลงข่าวประกาศผลผู้ที่ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น นักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ครูวิทยาศาสตร์ดีเด่น ที่ได้รับรางวัลในปีนี้ และมีนิทรรศการผลงานดังกล่าวของผู้ที่ได้รับรางวัล ณ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา (ท้องฟ้าจำลอง) ในช่วงการจัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติด้วย ซึ่งจะมีเด็กนักเรียนจากจังหวัดต่าง ๆ ที่ชนะเลิศระดับภาคและระดับเขต นำกิจกรรมมาประกวดแข่งขันทางวิทยาศาสตร์และ นักเรียนที่ทำกิจกรรมทั้งหมดจะมาอยู่ค่ายวิทยาศาสตร์รวมกัน เป็นค่ายสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ
ในช่วงพิธีเปิดจะมีท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มาเป็นประธาน หลังจากนั้นจะมีการแสดงของนักเรียน ที่ชนะเลิศการประกวดแข่งขันการแสดงละครวิทยาศาสตร์ เมื่อปี 2546 ที่ผ่านมา และมีการบรรยายพิเศษโดย ดร.ศิรศักดิ์ เทพาคำ นักวิจัยจาก ศูนย์ไบโอเทค สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ เรื่อง “นาโนเทคโนโลยี” โดยจัดแสดงนิทรรศการ ณ บริเวณชั้น 2 ของตึกมหกรรม ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา
ในวันที่ 18 สิงหาคม 2547 จะมีการนำนักเรียนที่ชนะเลิศ รางวัล Sigma Award การประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ “คลื่นการเดินของกิ้งกือ” จากประเทศสหรัฐอเมริกา จะมีทั้งนักเรียนและครูมาจัดแสดงผลงานนิทรรศการและบรรยายให้ฟังเกี่ยวกับ “การประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ระดับนานาชาติ” ซึ่งเป็นตัวแทนของประเทศไทยไปประกวดและได้รับรางวัลชนะเลิศประเภททีม แบบบูรณาการ จัดโดย สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์
วันที่ 19 สิงหาคม 2547 จะมีการจัดสัมมนาทางวิชาการ ช่วงเช้า เรื่อง “ทิศทางของแหล่งเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์” จัดโดยศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา และช่วงบ่าย เรื่อง “คิดสร้างสรรค์ สานฝันเป็นของเล่น” จัดโดย สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)
วันที่ 20 สิงหาคม 2547 ช่วงเช้ามีการนำเสนอผลงานวิจัยเรื่อง “การจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เคมี ฟิสิกส์ และวิทยาศาสตร์ทั่วไปด้วยวิธีการเรียนรู้ร่วมกัน” ช่วงบ่าย นำเสนอเรื่อง “คลินิกโครงงานวิทยาศาสตร์ ระดับประถมศึกษา” จัดโดยสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีศึกษาไทย
วันที่ 21 สิงหาคม 2547 นำเสนอ“สนุกกับวิทยาศาสตร์” มีการแสดงละครวิทยาศาสตร์ เรื่อง “Spy Science” จัดโดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
นายธงชาติ วงศ์สวรรค์ ผู้อำนวยการโรงเรียนเทพลีลา กล่าวถึง ในโอกาสที่ฉลองสมโภช 200 ปี พระบิดาวแห่งวิทยาศาสตร์ไทย กิจกรรมการจัดค่ายวิทยาศาสตร์แห่งชาติ ที่หว้ากอ จะจัดกิจกรรม “ตามรอยพระยุคลบาท ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ซึ่งได้เคยเสด็จไปที่ค่ายหว้ากอโดยทางเรือ ในปีนี้จะพานักเรียนซึ่งเป็นนักเรียนที่คัดมาจากทั่วประเทศ นักเรียนระดับชั้น ม.4 เขตการศึกษาละ 1 คน รวมแล้วประมาณ 200 คน
เดินทางโดยเรือรบหลวง “เจ้าพระยา” จากกองทัพเรือ เริ่มออกเดินทางจากป้อมพระจุล และได้รับความกรุณาจากตำรวจน้ำนำเรือเล็กทยอยนำนักเรียนและครูที่เดินทางไปขึ้นฝั่งที่ประจวบคีรีขันธ์ และเดินทางโดยรถยนต์ไปยังค่ายหว้ากอ จะนำเด็กนักเรียนมาเข้าค่ายวิทยาศาสตร์ จำนวน 200 คน ให้ใช้ชีวิตแบบชาวค่ายบริเวณอุทยานวิทยาศาสตร์หว้ากอเป็นระยะเวลา 7 วัน พานักเรียนทำกิจกรรมวิทยาศาสตร์ที่น้ำตกห้วยยางพักค้างคืนที่นั่น จะมีป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์มีลักษณะสมบูรณ์ของธรรมชาติ อาทิ มอส ไลเคน ให้ศึกษาธรรมชาติ ซึ่งเป็นกิจกรรมวิทยาศาสตร์ ในขณะที่เดินทางไปทางเรือ 8 ชั่วโมงจะมีกิจกรรมวิทยาศาสตร์ไปตลอดการเดินทาง
คุณมนธิดา สีตะธนี กล่าวว่า กิจกรรมที่สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ร่วมจัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติในปีนี้ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มแรก เป็นนิทรรศการเรื่อง “นาโนเทคโนโลยี” มีพื้นที่ 50 ตารางเมตร โดยได้รับความร่วมมือจากศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ การจัดแสดงตั้งแต่วันที่ 18 — 21 สิงหาคม 2547 ทางศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา ได้ขอให้จัดแสดงนิทรรศการนาโนเทคโนโลยีไปจนถึงสิ้นเดือนสิงหาคม 2547 นี้ ในวันที่ 21 สิงหาคม 2547 ในช่วงเช้าจะมีการบรรยายเกี่ยวกับนาโนเทคโนโลยี โดย ดร.ศิรศักดิ์ เทพาคำ นักวิจัยจากศูนย์ไบโอเทค สวทช. และในช่วงบ่ายมีการแสดงละครวิทยาศาสตร์เรื่อง “Spy Science” ซึ่งแสดงโดย นิสิตปริญญาเอกจากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ และภาควิชา อักษรศาสตร์ จุฬา ร่วมกันแสดง 8 ฉากจึงอยากจะให้นักเรียนและผู้ที่สนใจเข้าชม หลังจากนั้นจะมีการเสวนาเกี่ยวกับประเด็นวิทยาศาสตร์ที่แสดงในละคร
นายยุคล พิริยะกุล ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา กล่าวว่า ปี 2547 นี้ เป็นปีที่ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา มีอายุครบ 25 ปี โดยมีการจัดนิทรรศการในหัวข้อ “การเรียน- เล่น ให้เป็นวิทยาศาสตร์” ซึ่งการเรียนวิทยาศาสตร์นั้นไม่ควรจะเรียนแบบที่ดูยาก ควรจะเรียนด้วยความสุข สนุกและได้ความรู้ไปด้วย จะมีการจัดแสดงตัวอย่างการเรียน — เล่น ให้เป็นวิทยาศาสตร์ได้อย่างไรมีเครื่องมือชนิดต่าง ๆ ที่เสริมความรู้และทักษะทางด้านวิทยาศาสตร์ และมีการจัดแสดงทั่ว ๆ ไปในการจำลองระบบสุริยะ ฯลฯ มีการแสดงละครทางวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กก่อนวัยเรียนเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์มีนิทรรศการถาวรจัดแสดง 26 นิทรรศการ อาทิ กิจกรรมประเภทการทดลอง การประดิษฐ์ แทรกไปในทุกนิทรรศการ อาทิ แมลงน่ารักน่าเลี้ย ก็จะมีกิจกรรมให้เด็กศึกษาแมลง เป็นต้น นอกจากนั้น ภายในงานจะมีการประกวดกลวิทยาศาสตร์ระดับประเทศ (Science Show) ซึ่งบริษัท นานมีบุ้ค ได้ร่วมจัดและออกค่าใช้จ่ายให้กับศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา เด็กที่แข่งขันกันในระดับภาค ระดับประเทศ จะเข้าร่วมประกวดชิงรางวัลชนะเลิศที่ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาในงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติที่จัดขึ้นนี้ อาทิ การประกวดโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ฯลฯ ในพื้นที่ของศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาและโรงเรียนดาราคามวิทยา จะมีกิจกรรมทางด้านวิทยาศาสตร์อยู่เต็มพื้นที่
รองศาสตราจารย์ ดร.คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ นายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า “ กิจกรรมสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติที่จัดขึ้นนี้ตามจุดต่าง ๆ มีมาก สำหรับผู้ใหญ่อาจจะมองว่าธรรมดาเด็กแต่ละคนคือทรัพยากรที่สำคัญมาก เด็กที่จัดแสดงผลงานเมื่อมีผู้มาชมจำนวนมาก ก็จะเป็นการสร้างความรู้สึกประทับใจให้กับเด็ก ๆ ของเรา งานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ จึงเป็นกลไกที่สำคัญยิ่งในต่างประเทศให้ความสำคัญกับกิจกรรมอย่างนี้เป็นอันมาก เพราะถือว่าการกระตุ้นด้วยสิ่งเหล่านี้ ยิ่งกว่าการเรียนรู้ในห้องเรียนได้ผลมากกว่าหลายเท่านัก โอกาสอย่างนี้ความจริงควรจะมีทั้งปี แต่เราไม่มีทรัพยากรพอที่จะทำได้ เราจึงนำมารวมตัวกันจัดขึ้นปีละครั้ง ควรจะมีการทำสกู๊ปพิเศษ ตลอดการแข่งขันทั้งช่วงก่อนและในช่วงงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติและหลังงาน เพื่อให้คนทั่วไปได้ทราบโดยทั่วกัน โดยเฉพาะเด็ก ๆ และเยาวชนไทยได้เห็นและตื่นเต้นตามเสมือนการติดตามการแข่งขันกีฬาที่ต้องคอยลุ้นเหรียญรางวัล ซึ่งจะเป็นการสร้างบรรยากาศการแข่งขันการเรียนรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ของสังคมไทย ซึ่งเด็กไทยที่ได้รับความสำเร็จประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ในระดับนานาชาติ จะทำให้สังคมได้รับรู้ว่า “เด็กไทยเก่งไม่แพ้ชาติใดในโลก” อันจะยังประโยชน์ให้เกิดขึ้นแก่สังคมและประเทศชาติ โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนไทยจะได้รับรู้ภาพแห่งความสำเร็จและเกิดแรงบันดาลใจทำให้อยากเรียนรู้วิทยาศาสตร์เพื่อพัฒนาความรู้และความสามารถอย่างกว้างขวางสู่การแข่งขันกับนานาประเทศได้ในระดับสากล”
สอบถามรายละเอียดได้ที่ ศูนย์ประสานงานการจัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ
ณ อาคารศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา ชั้น 10
โทรศัพท์ 02-391-0544 , 02-392-1773
หรือสอบถาม call center กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือ
โทรศัพท์ติดต่อที่
คุณบำรุง ไตรมนตรี (01) 801-2519 ,
คุณวรรณธนี เขียวอร่าม (09) 215-4144 และ
คุณรุ่งนภา ทัดท่าทราย (01)684-4794
รุ่งนภา ทัดท่าทราย รายงาน--จบ--
--อินโฟเควสท์ (นท)--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ