คปก.เสนอนายกฯ-วิปฝ่ายค้านยกเลิกผู้ริเริ่มเสนอกฎหมาย-ประชาชนมีสิทธิเสนอกกต.

ข่าวทั่วไป Tuesday August 21, 2012 16:14 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 ส.ค.--สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย นายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.)ได้ลงนามในหนังสือบันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายเรื่อง ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมายพ.ศ.....เสนอต่อนายกรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา ประธานวิปรัฐบาล และประธานวิปฝ่ายค้าน เพื่อนำความเห็นและข้อเสนอแนะดังกล่าวประกอบการพิจารณาในวาระสองและวาระสามของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและประกอบการพิจารณารับหลักการร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมายพ.ศ.... รวมทั้งการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญของวุฒิสภา ซึ่งจะมีการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 22 สิงหาคมนี้ คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายจึงมีความเห็นที่สำคัญหลายประเด็นคือ ไม่ควรกำหนดให้มีผู้ริเริ่มจำนวน20 คน เป็นผู้ริเริ่มเสนอกฎหมาย เพื่อเสนอให้ประธานรัฐสภาตรวจสอบร่างพระราชบัญญัติว่ามีหลักการเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพของประชาชนหรือแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เนื่องจากตามมาตรา 6กำหนดให้มีผู้ริเริ่มจำนวน20คน ทำหน้าที่ในการพัฒนาร่างพระราชบัญญัติจนเป็นร่างกฎหมายที่สมบูรณ์แล้ว หรือหากจะแก้ไขร่างกฎหมายที่เสนอต้องดำเนินการก่อนการเข้าชื่อเสนอกฎหมายเท่านั้นดังนั้นกระบวนการและขั้นตอนดังกล่าวจึงเป็นการตัดตอนและลดทอนกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งซึ่งร่วมลงชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติรายอื่นๆซึ่งควรมีโอกาสเข้าร่วมในการพัฒนากฎหมายตั้งแต่เริ่มต้นอย่างกว้างขวางมากที่สุด ขณะที่ประเด็นการเข้าชื่อเสนอกฎหมายโดยการดำเนินการของคณะกรรมการการเลือกตั้งคปก.มีความเห็นว่า ประชาชนผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมายควรมีสิทธิเสนอให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ดำเนินการจัดให้มีการเข้าชื่อเสนอกฎหมายดังเช่นที่เคยบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมายพ.ศ.2542 เนื่องจากร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ....เป็นร่างกฎหมายที่มีเจตนารมณ์ในการส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนดังนั้นจึงควรเปิดช่องทางและทางเลือกในทุกช่องทางที่เป็นการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน นอกจากนี้คปก.ยังเห็นว่าในการเข้าชื่อเสนอกฎหมายโดยประชาชนนั้นมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการจำนวนมากทั้งในการรณรงค์เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายฉบับนั้นค่าใช้จ่ายในการจัดทำเอกสารต่างๆ ควรกำหนดให้กองทุนพัฒนาการเมืองภาคพลเมืองซึ่งมีเจตนารมณ์ตามรัฐธรรมนูญเพื่อช่วยเหลือการดำเนินกิจกรรมสาธารณะของชุมชนรวมทั้งสนับสนุนการดำเนินการของกลุ่มประชาชนที่รวมตัวกันในลักษณะเครือข่ายทุกรูปแบบให้สามารถแสดงความคิดเห็นและเสนอความต้องการของชุมชนในพื้นที่เพื่อเป็นกองทุนสำหรับสนับสนุนการเข้าชื่อเสนอกฎหมายของประชาชนด้วยแม้ว่าการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการวิสามัญฯจะมีความเห็นว่า ไม่จำเป็นต้องกำหนดกองทุนพัฒนาการเมืองภาคพลเมืองสำหรับการดำเนินการเข้าชื่อเสนอกฎหมายก็ตาม นายไพโรจน์ พลเพชร กรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) เปิดเผยว่า ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมายพ.ศ...เป็นกฎหมายที่ว่าด้วยการวางหลักเกณฑ์และวิธีการเข้าชื่อของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติหรือเสนอญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญดังนั้นร่างกฎหมายดังกล่าวจึงมีความสำคัญอย่างมากในแง่ของการส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมในทางการเมืองโดยตรงของประชาชนโดยที่ผ่านมาประชาชนมีความตื่นตัวต่อร่างกฎหมายดังกล่าวค่อนข้างสูง มีภาคประชาชนได้ร่วมลงชื่อ10,000 รายชื่อเพื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมายฉบับประชาชน จำนวน 2ฉบับ “อย่างไรก็ตามภายหลังจากการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการวิสามัญ กลับไม่ได้นำสาระสำคัญในร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมายฉบับที่ภาคประชาชนเสนอบรรจุไว้ในร่างกฎหมายที่ผ่านการพิจารณาทั้งยังมีบทบัญญัติบางมาตราอาจเป็นอุปสรรคและไม่เอื้อต่อการส่งเสริมและสนับสนุนการเข้าชื่อเสนอกฎหมายโดยประชาชนเช่น ประเด็นการกำหนดให้มีผู้ริเริ่มในการเสนอกฎหมายจำนวน20 คน การตัดบทบาทของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)กองทุนพัฒนาการเมืองภาคพลเมืองออกจากการเป็นองค์กรสนับสนุนการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย นอกจากนี้ยังกำหนดโทษทางอาญาสำหรับผู้กระทำผิดเกี่ยวกับการเข้าชื่อเสนอกฎหมายซึ่งคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายมีความเห็นว่าเนื่องจากร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมุ่งส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนการกำหนดโทษทางอาญาไว้ในร่างกฎหมายฉบับนี้อาจทำให้เกิดความไม่มั่นใจในการใช้สิทธิเสนอกฎหมายของประชาชน”นายไพโรจน์ กล่าว ติดต่อ: สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย : OFFICE OF LAW REFORM COMMISSION OF THAILAND อาคารซอฟต์แวร์ ปาร์ค ชั้น๑๙ ตำบลคลองเกลือ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ๑๑๑๒๐ โทร.๐ ๒๕๐๒ ๖๐๐๐ ต่อ ๘๒๗๘ โทรสาร. ๐ ๒๕๐๒ ๖๐๐๐ ต่อ ๘๒๗๔

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ