กรุงเทพฯ--6 ส.ค.--เพนเนอร์-แมดิสัน
กลุ่มผู้ประกอบการแปรรูปอาหารจากถั่วชี้การลดอัตราอากรขาเข้าสินค้าประเภทถั่ว
ไม่กระทบเกษตรกรไทย ช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันกับสินค้านำเข้า ขยายตลาดในประเทศและการส่งออก
บริษัท อกรีซอส จำกัด บริษัทที่ปรึกษาและวิจัยการตลาดด้านธุรกิจการเกษตรและอาหาร เปิดเผยถึงผลการวิจัยเรื่อง “ผลกระทบของอัตราอากรขาเข้าของสินค้าประเภทถั่ว (dry peas, chickpeas, และ lentils) ที่มีต่อกลุ่มผู้ประกอบการอาหารแปรรูปและอาหารสัตว์ของไทย” โดยยืนยันว่าการลดอัตราอากรขาเข้าสินค้าประเภทถั่วไม่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรไทยที่ปลูกถั่ว รวมทั้งผู้ผลิตอาหารแปรรูปจากถั่วที่ปลูกในไทยอย่างแน่นอน เนื่องจากถั่วดังกล่าวไม่สามารถปลูกในประเทศไทย
กลุ่มผู้ประกอบการฯ มุ่งหวังว่าผลการวิจัยจะช่วยผลักดันการลดอัตราอากรขาเข้าลงเหลือ 5 เปอร์เซ็นต์ หรือต่ำกว่าเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันสินค้าแปรรูปจากถั่วเมืองหนาวที่ผลิตในไทยให้แข่งขันกับสินค้านำเข้าได้พร้อมทั้งยังเป็นการขยายตลาดในประเทศและเพิ่มการส่งออก
ปัจจุบัน ผู้ประกอบการแปรรูปอาหารจากถั่วกำลังประสบปัญหาอัตราอากรขาเข้าสินค้าประเภทถั่วซึ่งอยู่ในระดับสูงมากโดยปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 30 เปอร์เซ็นต์ของราคา CIF เมื่อรวมภาษีและค่าบริการอื่นๆ แล้วจะต้องเสียค่าใช้จ่ายรวมทั้งสิ้นสูงถึง 40 - 45 เปอร์เซ็นต์
อัตราอากรขาเข้าสินค้าประเภทถั่วของไทยสูงกว่าประเทศอื่นๆ ถึง 6 เท่า กลุ่มผู้ประกอบการแปรรูปอาหารต่าง ๆ ที่ใช้ถั่วเป็นวัตถุดิบไม่ว่าจะเป็น อาหารกระป๋อง ขนมขบเคี้ยว (Snack Food) ต่างได้รับผลกระทบโดยตรงจากอัตราอากรขาเข้าในระดับสูงเช่นนี้ ในขณะที่ประเทศผู้นำเข้าสินค้าถั่วในอาเซียนประเทศอื่นๆ ได้เปิดตลาดสินค้าประเภทนี้แล้ว โดยมาเลเซีย และสิงคโปร์ลดอัตราอากรเหลือ 0 เปอร์เซ็นต์ สำหรับฟิลิปปินส์ลดลงเหลือ 3 เปอร์เซ็นต์ และอินโดนีเซียลดลงเหลือ 5 เปอร์เซ็นต์
อัตราอากรขาเข้าที่ 30 เปอร์เซ็นต์ส่งผลให้อาหารแปรรูปที่ผลิตในประเทศไทยมีราคาสูงกว่าสินค้าที่นำเข้า มาจากต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศอื่นๆ ในอาเซียนที่นำเข้าเมล็ดถั่วแห้งในอัตราอากรเพียง 0-5 เปอร์เซ็นต์ ยิ่งกว่านั้น เมื่อประเทศคู่แข่งต่างๆ ในอาเซียนผลิตอาหารแปรรูปจากเมล็ดถั่วแห้งและส่งออกสู่ประเทศไทยก็จะเสียอากรนำเข้าสู่ประเทศไทยในอัตราเพียง 5 เปอร์เซ็นต์ ตามข้อตกลง AFTA จึงยิ่งทำให้อุตสาหกรรมการผลิตอาหารแปรรูปของไทยไม่มีทางแข่งกับต่างประเทศได้อย่างแน่นอน
บริษัท อกรีซอส จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาและวิจัยการตลาดสินค้าเกษตรกรรมได้ติดตาม สถานการณ์อัตราอากรขาเข้าสินค้าประเภทถั่วของประเทศไทย และทำการศึกษาวิจัยถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นโดยเก็บข้อมูลจากภาครัฐ และทำการสำรวจความคิดเห็นถึงผลกระทบจากกลุ่มสมาชิกผู้ประกอบการอาหารแปรรูป และอาหาร รายงานผลการศึกษาระบุว่าการนำเข้าสินค้าประเภทถั่วทั้ง dry peas, lentils และ chickpeas นั้นจะไม่ ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรไทย จึงไม่จำเป็นต้องจำกัดปริมาณการนำเข้าโดยเก็บอัตราอากรขาเข้าสูงถึง 30 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ ถั่วพันธุ์ดังกล่าวยังสามารถปลูกได้เฉพาะในเขตหนาวที่มีช่วงแสงยาว (long photo-periods) เท่านั้นจึงไม่สามารถปลูกในเขตร้อนเช่นประเทศไทยอย่างแน่นอน
นักวิจัยจากบริษัท อกรีซอส จำกัด เปิดเผยว่า “จากผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่าหากมีการลดอัตราอากรขาเข้าสินค้าประเภทถั่วลงเหลือ 0 เปอร์เซ็นต์ ประเทศไทยจะมีรายได้เพิ่มขึ้นถึง 46.42 ล้านบาทต่อปี จากอุตสาหกรรม การแปรรูปอาหารและอาหารสัตว์ที่ขยายตัวขึ้น ผู้ประกอบการอาหารแปรรูปจะสามารถลดต้นทุนการผลิตในส่วนของต้นทุนการนำเข้าวัตถุดิบไปได้อย่างน้อย 15 เปอร์เซ็นต์ หรือ 33.26 ล้านบาท และช่วยให้สามารถแข่งขันกับผู้ผลิตอาหารนำเข้าได้ ตามปกติสินค้านำเข้ามักจะมีราคาแพงกว่าสินค้าที่ผลิตในประเทศ แต่ในกรณีนี้ เนื่องจากอากรขาเข้าของประเทศไทยในอัตราที่สูงทำให้อาหารแปรรูปที่ผลิตในประเทศกลับมีราคาสูงกว่าสินค้านำเข้า ดังนั้นการลดอัตราอากรดังกล่าวยังจะส่งผลดีต่อผู้บริโภคที่จะมีสินค้าอาหารแปรรูปที่ราคาถูกลง รวมไปถึงผู้ประกอบการผลิตอาหารสัตว์ก็มีทางเลือกเพิ่มขึ้นในการใช้พืชตระกูลถั่วเมืองหนาวที่มีคุณค่าทางอาหารสูงมาเป็นส่วนผสม ในอาหารสัตว์นอกเหนือจากข้าวโพดและถั่วเหลือง”
ผู้ผลิตอาหารแปรรูปประเภทขนมขบเคี้ยว (Snack Food) รายหนึ่งกล่าวว่า “ปัจจุบัน ต้นทุนวัตถุดิบของเรา สูงกว่าประเทศอื่นๆ ในอาเซียน เนื่องจากเราต้องจ่ายภาษีนำเข้าในอัตราที่สูง ในขณะที่ประเทศอื่นๆ จ่ายเพียง 0-5% เท่านั้น ทำให้เราไม่สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้ แม้กระทั่งตลาดในประเทศก็ตาม ดังนั้น ในปี 2550 ซึ่งข้อตกลง AFTA จะบังคับใช้โดยสมบูรณ์ หากประเทศไทยยังคงอัตราภาษีนำเข้าสูงเช่นนี้ มี 2 ทางเลือกที่ผู้ประกอบการไทย จะต้องตัดสินใจ คือ หนึ่ง ปิดกิจการ เลิกจ้างแรงงาน หรือ สอง ย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่นในกลุ่มอาเซียน”
เกี่ยวกับอกรีซอส
บริษัท อกรีซอส จำกัด เป็นบริษัทที่ปรึกษา และวิจัยการตลาดให้กับองค์กรอาหารและเกษตรกรรมต่างๆ บริษัทฯ มีความเชี่ยวชาญในการวิจัยตลาด การพัฒนาธุรกิจการค้า การวิเคราะห์เศรษฐกิจ และการบริหารโครงการ บริษัทฯ ซึ่งก่อตั้งในปี พ.ศ. 2532 ได้ทำการบริหารจัดการโครงการต่างๆ ให้กับลูกค้าจากหลากหลายวงการทั้งในประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ในอาเซียน รวมทั้งบริษัทข้ามชาติชั้นนำต่างๆ ที่ดำเนินธุรกิจการเกษตรและอาหาร สมาคมการค้า และตัวแทนภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการค้า
ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ
หทัยทิพย์ นันทิยา บริษัท อกรีซอส จำกัด
โทร 0-2251-8655 โทรสาร 0-2251-0390 อีเมล์ [email protected]
อาจรีย์ สุวรรณกูล บริษัท เพนเนอร์-แมดิสัน จำกัด
โทร 0-2716-5246 ต่อ 121 โทรสาร 0-2716-5250 อีเมล์ [email protected]จบ--
--อินโฟเควสท์ (นห)--