บลจ.ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล โชว์ผลงานครึ่งปีเติบโตถึง 35% พร้อมเป็นประตูสู่การลงทุนในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 23, 2012 16:30 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 ส.ค.--บลจ.ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล นายเจิดพันธุ์ นิธยายน ประธานเจ้าหน้าที่การตลาดและการขาย บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล จำกัด เปิดเผยว่า ช่วงครึ่งปีแรกของปี 2555 บริษัทมีสินทรัพย์สุทธิภายใต้การบริหารจัดการ (AUM) เพิ่มขึ้นกว่า 3,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 35*โดยมีอัตราการเติบโตเป็นอันดับ 4 ของอุตสาหกรรมกองทุนรวม ตั้งแต่ต้นปีบริษัทเสนอขายกองทุนใหม่จำนวน 10 กองทุน โดยแบ่งออกเป็น กองทุนตราสารหนี้ กองทุนทาร์เก็ตฟันด์ และกองทุนอินคัมฟันด์ (iFund Series) กองทุนอินคัมฟันด์ หรือ iFund series เป็นชุดกองทุนที่ลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่างๆเพื่อเป็นเครื่องมือในการจัดพอร์ตการลงทุน อีกทั้งยังตอบโจทย์ทุกความต้องการของนักลงทุนในกองทุนเดียว กล่าวคือ 1. แบบสะสมเงินลงทุน 2 .แบบรับเงินปันผล 3. แบบรับซื้อหน่วยลงทุนอัตโนมัติ ปัจจุบันบริษัทมีกองทุน iFund Series แล้วจำนวน 3 กองทุนคือ 1. กองทุน CIMB-PRINCIPAL iPROP ลงทุนในกองทุนอสังหาริมทรัพย์ 2. กองทุน CIMB-PRINCIPAL iDAILY ลงทุนในตราสารหนี้ตลาดเงิน และ 3. กองทุน CIMB-PRINCIPAL iDIV ลงทุนในหุ้นปันผล โดยบริษัทยังมีแผนออกกองทุน iFund Series ที่ลงทุนในทรัพย์สินอื่นเพิ่มเติม เช่น ตราสารหนี้ระยะยาว หรือ ทองคำ เป็นต้น “จุดเด่นของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล จำกัด คือได้รับการสนับสนุนด้านการวิเคราะห์หลักทรัพย์จากต่างประเทศจากบริษัทแม่ และเครือข่ายพันธมิตรในภูมิภาค อาทิ มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มีทีมวิเคราะห์หลักทรัพย์กว่า 20 คน และทีมผู้จัดการกองทุนกว่า 50 คนทั่วทั้งภูมิภาคแสดงถึงความพร้อมในการเป็นประตูสู่การลงทุนในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)” คุณเจิดพันธุ์กล่าว นายเจษฎา สุขทิศ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล จำกัด กล่าวถึงมุมมองการลงทุนในประเทศ และภูมิภาคอาเซียน ว่ากลุ่มซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล มีมุมมองเชิงบวกต่อตลาดหุ้นของภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะประเทศไทย และฟิลิปปินส์ หากดูผลประกอบการในรอบ 5 — 6 ปีที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าผลประกอบการของบริษัทในอาเซียนมีความน่าสนใจจากการเติบโตของกำไรที่สูง และมีความสม่ำเสมอดีพอสมควร รวมไปถึงอัตราเงินปันผลที่น่าสนใจในส่วนของทิศทางอัตราดอกเบี้ยในภูมิภาคเอเซียน ”ธนาคารกลางในภูมิภาคจะเน้นการควบคุมเงินเฟ้อพื้นฐานมากขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของราคาผลิตผลการเกษตรทั่วโลกในปัจจุบัน การปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่เห็นในช่วงครึ่งปีแรกน่าจะไม่ได้ทำต่อเนื่องมากในครึ่งปีหลัง อย่างไรก็ตามอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางในภูมิภาคน่าจะยังคงทรงตัว และไม่ได้เข้าสู่ภาวะขาขึ้นจากภาพรวมเศรษฐกิจโลกที่ยังเติบโตค่อนข้างช้า” คุณเจษฎากล่าวเสริม สำหรับการเตรียมความพร้อมของบลจ. ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล ในการเป็นประตูสู่การลงทุนในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน คุณเจษฎามองว่า เป้าหมายทางยุทธศาสตร์ของประเทศในการเข้าสู่ยุคประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนใน 3 ปีข้างหน้าจะมีหลาย ๆ พัฒนาการที่น่าสนใจ เช่น การอำนวยความสะดวกในการทำการค้ากันภายในภูมิภาค การปรับปรุงโครงสร้างภาษีให้เอื้อต่อการค้า รวมไปถึงการเชื่อมโยงตลาดทุนของไทยกับตลาดทุนในอาเซียน สำหรับสาขาหลักทรัพย์ซึ่งเป็นสาขาที่ไทยได้ระบุไว้ใน AEC Blueprint ว่าจะเปิดเสรีภายในปี 2558 โดยให้บริษัทต่างชาติในภูมิภาคอาเซียนเข้ามาถือหุ้นได้ถึงร้อยละ 100 ในบริษัทเดิมที่มีอยู่แล้ว จะทำให้การแข่งขันในตลาดสูงขึ้น และมีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ผู้เล่นหน้าใหม่ๆ เข้ามาในตลาดมากขึ้นซึ่งเป็นผลดีต่อนักลงทุน สำหรับบลจ.ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล จัดว่าเป็นหนึ่งในกองทุนที่มีความพร้อมที่สุดต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว จากการที่มีสาขาอยู่แล้วเกือบทุกประเทศในภูมิภาคอาเซียน และมีทีมผู้จัดการกองทุนดูแลการลงทุนอยู่ทั่วภูมิภาค “ที่ผ่านมาเรามีการจัดตั้งกองทุนเพื่อไปลงทุนในกองทุนที่บริหารโดยผู้จัดการกองทุนในกลุ่มซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล ในสิงค์โปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซียไปแล้วหลายกองทุน และปีหน้าก็กำลังศึกษาแผนกลยุทธ์ในการที่จะนำกองทุนที่เสนอขายในประเทศ ไปขายในภูมิภาคเช่นกัน” คุณเจษฎากล่าว *ข้อมูลจากสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) ณ วันที่ 29 มิถุนายน 2555 **กองทุนไม่ได้ป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนทั้งจำนวน ผู้ลงทุนอาจได้รับเงินคืนมากกว่า หรือต่ำกว่าเงินลงทุนเริ่มแรก ***การลงทุนมีความเสี่ยงผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน ข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล จำกัด บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล จำกัด ถือหุ้นร้อยละ 99.99 ของทุนจดทะเบียน โดย บริษัท ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล แอสเซท แมเนจเม้นท์ เบอร์หาด (CIMB-Principal Asset Management Berhad) สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ซึ่งมีขนาดกองทุนภายใต้การจัดการกว่า 7,500 ล้านเหรียญสหรัฐ มีเครือข่ายสาขากระจายอยู่ทั่วภูมิภาคเอเชีย โดย บริษัทฯ ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต. ให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภท การจัดการกองทุนรวม กองทุนส่วนบุคคล กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และที่ปรึกษาการลงทุน ข้อมูลเกี่ยวกับธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เป็นธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในประเทศไทย มี 159 สาขาทั่วประเทศ และให้บริการผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่หลากหลายแก่ทั้งลูกค้าบรรษัทและลูกค้ารายย่อย ธนาคารยังให้บริการค้าหลักทรัพย์ ที่ปรึกษาทางการเงินให้แก่บริษัท ให้บริการกองทุนรวม การจัดการสินทรัพย์ และผลิตภัณฑ์ประกันภัย และบริการต่างๆผ่านทางบริษัทในเครือและสาขา หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถเยี่ยมชมเว็บไซต์ www.cimbthai.com ข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มซีไอเอ็มบี CIMB Group Holdings Berhad มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ กัวลาลัมเปอร์ และเป็นบริษัทจดทะเบียนที่ให้บริการทางการเงินที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของมาเลเซีย เป็นผู้ให้บริการและนำเสนอผลิตภัณฑ์การเงินอย่างครบวงจร ที่ครอบคลุมถึง บริการการธนาคารเพื่อลูกค้ารายย่อย บริการด้านบรรษัทธุรกิจและด้านวาณิชธนกิจ ธนาคารอิสลาม การบริหารจัดการสินทรัพย์ การบริหารความมั่งคั่งส่วนบุคคล บริการประกันภัย มีเครือข่ายใน 8 จาก 10 ประเทศอาเซียน (มาเลเซีย อินโดนีเซีย ไทย สิงคโปร์ กัมพูชา บรูไน เวียดนาม และพม่า) นอกเหนือจากอาเซียน กลุ่มซีไอเอ็มบียังมีเครือขายตัวแทนในจีน ฮ่องกง บาห์เรน อินเดีย ศรีลังกา สหรัฐ และอังกฤษ ด้วยเครือข่ายสาขาที่มากที่สุดในอาเซียน คือ 1,117 สาขา ณ 31 ธันวาคม 2554 ซีไอเอ็มบี และเมื่อเร็วๆนี้ ธุรกิจวาณิชธนกิจของกลุ่มซีไอเอ็มบีได้ขยายการลงทุนโดยการซื้อธุรกิจวาณิชธนกิจและธุรกิจด้านตลาดทุนของ Royal Bank of Scotland ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กลุ่มซีไอเอ็มดำเนินธุรกิจผ่าน 3 แบรนด์หลักได้แก่ ธนาคาร ซีไอเอ็มบี, วาณิชธนกิจซีไอเอ็มบี และธนาคารอิสลามซีไอเอ็มบี นอกจากนี้ กลุ่มซีไอเอ็มบี เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 97.93% ในธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไนอากา อินโดนีเซีย และ 93.15% ในธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กลุ่มซีไอเอ็มบีจดทะเบียนในตลาดหุ้น Bursa Malaysia ในนาม ซีไอเอ็มบีกรุ๊ปโฮลดิ้งส์เบอร์ฮาด โดยมีมูลค่าตลาดรวม ณ 31 ธันวาคม 2554 ประมาณ 5.53 แสนล้านบาท และมีเครือข่ายสาขาใน 14 ประเทศ จำนวนพนักงานกว่า 4 หมื่นคน หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถเยี่ยมชมเว็บไซต์ www.cimb.com หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม โปรดติดต่อ จิตติมา ชวลิตนิมิตกุล (เต้ย) สำนักสื่อสารองค์กร ธนาคาร ซีไอเอ็มบีไทย จำกัด (มหาชน) โทรศัพท์: +66 2638 8249 โทรสาร: +66 2657 3084 อีเมล์: jittima.c@cimbthai.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ