สจล. โชว์ความพร้อมสู่ยุคดิจิทัลทีวี ผ่านงานเสวนา “ก้าวต่อไปของประเทศไทย ในยุคแห่งดิจิทัลทีวี”

ข่าวทั่วไป Monday August 27, 2012 16:57 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 ส.ค.--สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังจัดเสวนา “ก้าวต่อไปของประเทศไทย ในยุคแห่งดิจิทัลทีวี”เนื่องในวันสถาปนาสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง24 สิงหาคม 2503 ตลอดจนครบรอบการก่อตั้งสถาบันเป็นปีที่ 53 โดยในงานเสวนามีนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารและวงการโทรคมนาคมของไทยเข้าร่วมถกเถียง อาทิ ศาสตราจารย์ ดร. ถวิล พึ่งมา อธิการบดี สจล.และนักวิชาการชั้นนำวิศวกรรมโทรคมนาคมของประเทศไทย ผศ.ดร. พิสิฐ บุญศรีเมือง นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน ตัวแทนสื่อมวลชนแขนงโทรทัศน์ โดยเป้าหมายของการเสวนามุ่งวางกรอบและประโยชน์สูงสุดของการบริหารจัดการ การจัดสรรคลื่นความถี่ และการคัดสรรเนื้อหาในการออกอากาศอย่างมีคุณภาพให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง ตลอดจนกระตุ้นให้ภาคการศึกษามีบทบาทในการมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์เนื้อหาในการเผยแพร่ เพื่อให้อนาคตของประเทศไทยเป็น “ทีวีดิจิทัลเพื่อการศึกษาและประชาชน” อย่างแท้จริง โดยในงานนี้ สจล. ยังโชว์ศักภาพในการเป็นสถาบันชั้นนำด้านเทคโนโลยีของไทยด้วย เริ่มต้นด้วยการอวดความพร้อมก้าวสู่ยุคดิจิทัลทีวีด้วยผลงานวิจัยการพัฒนาเทคโนโลยีโทรทัศน์ในระบบดิจิทัลเป็นครั้งแรกของระบบส่งสัญญาณแบบดิจิทัลในประเทศไทยในรูปแบบ DVB-T2จำนวน 2 ช่อง ในชื่อ KMITL CHANNEL เพื่อรองรับการออกกอากาศทันทีที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ(กสทช.) ได้มีการอนุญาตและดำเนินการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลทีวีในอนาคตอันใกล้นี้ ศ.ดร. ถวิล พึ่งมา อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่าสถาบันเล็งเห็นถึงความสำคัญของสื่อโทรทัศน์ในยุคปัจจุบันว่ามีความสำคัญต่อการสร้างความเท่าเทียมในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของคนในประเทศซึ่งส่งผลต่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ดังนั้นทีมวิจัยผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมโทรคมนาคมของสถาบันจึงได้คิดค้นและสร้างสถานีส่งการแพร่สัญญาณโทรทัศน์ดิจิทัล ระบบ DVB-T2 เพื่อนำร่องใช้พัฒนาระบบการศึกษาของสถาบันโดยในขั้นเริ่มต้น สถาบัน จะมี 2 ช่องที่จะทำการออกอากาศ จากทั้งหมด 5 ช่อง ซึ่ง 2 ช่องนี้ จะแบ่งเป็นช่องที่มีเนื้อหารายการเกี่ยวกับการเรียนการสอนทั้งหมด โดยจะแบ่งเป็นรายการที่ให้สาระความรู้เกี่ยวกับการศึกษา เพื่อที่นักเรียน นักศึกษาที่สนใจ สามารถใช้ช่องทางนี้ ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมได้ โดยมีทั้งข้อมูล สูตร สมการ สื่อเสริมสร้างทักษะ สำหรับอีกช่องหนึ่งนั้น คือ KMITL Channel รูปแบบการนำเสนอเนื้อหาทั้งหมด จะเป็นรายละเอียดเกี่ยวกับข้อมูลของสถาบันทั้งหมด อาทิ กิจกรรมของนักศึกษา งานต่างๆของสถาบัน เป็นต้น อีกทั้งยังตั้งเป้าหมายในการเผยแพร่ ระบบดิจิทัลทีวีนี้เผยแพร่ให้แก่ประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่เขตแวดล้อมที่ตั้งของสถาบันอาทิ เขตลาดกระบัง หนองจอก ประเวศ บึงกุ่มฯลฯ เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และข้อมูลทางวิชาการอันเป็นประโยชน์แก่สาธารณชนต่อไป ผศ.ดร. พิสิฐ บุญศรีเมือง รองอธิการบดีด้านสารสนเทศ และ ประธานสาขาวิชาวิศวกรรมโทรคมนาคม คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. กล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับระบบเทคโนโลยีระบบส่งสัญญาณโทรทัศน์ในประเทศไทยนั้นว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีการถ่ายทอดสัญญาณ ในระบบแอนะล็อก ซึ่งทำให้ความคมชัด คุณภาพของภาพ ฯลฯ ยังไม่ดีเท่าที่ควร ตลอดจนแอนะล็อกนี้สามารถส่งช่องรายการได้เพียงช่องเดียว เมื่อเทียบกับการใช้เทคโนโลยีระบบดิจิทัลที่สามารถออกอากาศได้มากถึง 8-25 ช่องรายการ พร้อมคุณภาพที่ดีในการรับชมและความคมชัดมากขึ้น สามารถให้บริการมัลติมีเดียใหม่ๆ อีกทั้งยังช่วยลดการใช้พลังงานของประเทศ เพราะประหยัดการใช้พลังงานไฟฟ้าหลายเท่าตัว แต่ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การเปลี่ยนระบบไปสู่ดิจิทัล คือ การกำหนดมาตรฐานโทรทัศน์ระบบดิจิทัล เพื่อให้สถานีวิทยุโทรทัศน์ทุกแห่งใช้เป็นมาตรฐานในการส่งสัญญาณออกอากาศ และภาคอุตสาหกรรมนำไปผลิตอุปกรณ์เครื่องรับโทรทัศน์ได้ โดยมาตรฐานที่สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) ให้การรองรับมี 5 ระบบ คือ ATSC, DVB-T, ISDB-T, DTMB และ DVB-T2 ซึ่งในปัจจุบันมีประเทศที่ใช้ระบบ DVB-T2 ประมาณ 38 ประเทศทั่วโลก ซึ่งระบบการส่งสัญญาณ “โทรทัศน์ดิจิทัลเพื่อการศึกษาและชุมชน” ที่พระจอมเกล้าลาดกระบังได้คิดค้นขึ้นนี้ ถือเป็นสถานีส่งต้นแบบการแพร่สัญญาณสำหรับชุมชนเป็นแห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งสาเหตุที่ใช้มาตรฐานแบบ DVB-T2 นั้นมีระบบในการปรับโหมดการทำงานได้หลายแบบ มีความยืดหยุ่นอ่อนตัว อีกทั้งยังใช้เทคนิคระบบป้องกันแก้ไขความผิดพลาดของสัญญาณ เพื่อให้สัญญาณมีความคงทน สามารถเพิ่มประสิทธิภาพเป้าหมายในระบบส่งสัญญาณโทรทัศน์ในช่องคลื่นความถี่ที่กำหนดได้ ซึ่งระบบดังกล่าวใช้งบประมาณในการวิจัยและพัฒนารวมเพียง 1 ล้านบาทซึ่งถูกกว่าระบบที่ขายโดยบริษัทต่างชาติหลายสิบเท่าตัว พระจอมเกล้าลาดกระบัง มีการเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ เพื่อพัฒนาสถาบันให้เป็นสถาบัน 1 ใน 3 ของประเทศไทย และเป็น 1 ใน 10 ของสถาบันการศึกษาชั้นแนวหน้าแห่งประชาคมอาเซียนในปี 2563 โดยเริ่มต้นพัฒนาสถาบันด้วยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์มาใช้ แนวทางในการพัฒนาสถาบันในขั้นเริ่มต้นนั้น สิ่งที่สถาบันต้องการเน้นย้ำ คือการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเรียนการสอน ตลอดจนการนำเทคโนโลยีเหล่านั้นมาสร้างประโยชน์ให้กับสังคมซึ่งสถาบันตั้งเป้าหมายให้ “ทีวีดิจิทัลเพื่อการศึกษาและประชาชน” ของสถาบัน เป็นสื่อที่เผยแพร่ช่องรายการด้านการศึกษา ที่แบ่งเป็นการเรียนการสอนโดยตรง ผนวกกับการให้ข้อมูล สูตร สมการ สื่อเสริมสร้างทักษะต่างๆ ตลอดจนรายการหลายประเภททั้งบันเทิง ศาสนาวัฒนธรรม โดยไม่แสวงหากำไร และต้องการให้ผู้ชม เข้าใจเทคโนโลยีและการเรียนการสอนในแบบลึกซึ้ง สามารถนำความรู้ที่ได้ไปทำให้เกิดประโยชน์ อย่างไรก็ตามในปัจจุบันสถาบันมีความพร้อม 100% ทั้งด้านอุปกรณ์และเนื้อหาการเผยแพร่ แต่ยังไม่มีการเผยแพร่ในระบบดิจิทัลทีวี ซึ่งคาดว่าในอนาคตอันใกล้ถ้า กสทช. มีการเปิดการจัดสรรคลื่นความถี่ ชุมชนย่านลาดกระบังและประชาชนชาวไทยคงจะได้รับประโยชน์สูงสุดจากทรัพยากรในประเทศของตนเอง ศ.ดร. ถวิล พึ่งมา กล่าวสรุป ทั้งนี้จากผลของการเสวนา “ทีวีดิจิทัลเพื่อการศึกษาและประชาชน” เพื่อเตรียมความพร้อมสู่การให้ใบอนุญาตบริการโทรทัศน์ดิจิทัลที่จะเริ่มขึ้นในเดือนตุลาคมนี้ มีเนื้อหาโดยสรุป เกี่ยวกับสาเหตุที่ประเทศไทยเลือกใช้ระบบ DVB-T2 เนื่องจากเป็นระบบที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพในการใช้คลื่นความถี่ดีที่สุดทำให้มีช่องรายการเพียงพอสำหรับการจัดสรรให้หน่วยงานรัฐ และภาคประชาชนที่กฎหมายกำหนดให้ต้องมีสัดส่วนสำหรับชุมชน 20% และยังเป็นมาตรฐานที่กลุ่มประเทศอาเซียนรับรองให้เป็นมาตรฐานรวม ซึ่งในปัจจุบัน สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย พม่า และเวียดนาม ได้ประกาศจะใช้ระบบนี้ ทำให้อุปกรณ์เครื่องรับมีราคาไม่แพงและมีแนวโน้มที่จะถูกลงเรื่อยๆตลอดจนมุ่งหวังให้การออกใบอนุญาตประกอบกิจการโครงสร้างพื้นฐาน ใบอนุญาตการประกอบกิจการโครงข่าย และใบอนุญาตประกอบกิจการบริการสาธารณะเป็นไปด้วยความโปร่งใส และจัดสรรให้มีเนื้อหาสาระอันเป็นประโยชน์แก่ประชาชนอย่างแท้จริง โดยมีเป้าหมายสู่การพลิกสังคมไทยสู่ระบบดิจิทัลเต็มรูปแบบในปี 2558 อย่างไรก็ดี การบริหารคลื่นความถี่ระบบการสื่อสารโทรคมนาคม จะมีการเรียกคืน การสัมปทานของโอเปอเรเตอร์ทุกราย เพื่อจัดสรรกันใหม่ทันทีที่สัญญาสัมปทานหมดลงและนำคลื่นความถี่มาจัดสรรในรูปแบบใบอนุญาตใหม่ให้มีการแข่งขันกันอย่างเสรีโดยคำนึงถึผลประโยชน์ของผู้บริโภคมากที่สุดโดยจะออกกฎเกณฑ์หรือใบอนุญาตให้เอกชนทุกราย โดยเฉพาะผู้ที่ไม่มีโครงข่ายของตัวเองเข้ามาเช่าใช้เพื่อลดต้นทุนและเป็นการส่งเสริมผู้ประกอบการหน้าใหม่มากขึ้น ไม่เป็นธุรกิจผูกขาดอีกต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ