“นิตย์” รับเอฟทีเอไทย-สหรัฐฯ สุดหิน มั่นใจศักยภาพทีมเจรจารัฐ-เอกชนไทยไม่เป็นรอง

ข่าวทั่วไป Friday October 28, 2005 14:05 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 ต.ค.--กระทรวงการต่างประเทศ
หัวหน้าคณะเจรจาเอฟทีเอไทย-สหรัฐฯ เผย เจรจาค้าเสรีกับมะกันซับซ้อน เพราะมีการเจรจาถึง 23 หัวข้อ และมีความเชื่อมโยงกันในหลายหัวข้อสำคัญ แต่มั่นใจศักยภาพทีมเจรจา ทั้งทีมเจรจาหลักของภาครัฐ และทีมสนับสนุนจากภาคเอกชน รวมทั้งได้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์จากภาควิชาการ ภาคประชาชน และรัฐสภาไทย
นายนิตย์ พิบูลสงคราม หัวหน้าคณะเจรจาจัดทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทย-สหรัฐฯ กล่าวในเวทีนโยบายสาธารณะมหาวิทยาลัยมหิดล ครั้งที่ 2 เรื่อง FTA: กับดักหรือโอกาสทางการค้าของไทย ว่า การเจรจาเอฟทีเอไทย-สหรัฐฯ ถือเป็นการเจรจาที่ต้องใช้ความละเอียดรอบคอบอย่างยิ่ง เนื่องจากมีการเจรจาถึง 23 หัวข้อ จึงทำให้มีประเด็นที่ต้องพิจารณาค่อนข้างมาก นอกจากนี้ หัวข้อสำคัญๆ หลายเรื่องมีความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกันหมด ทำให้เกิดความซับซ้อนหลายมิติในการเจรจา อย่างไรก็ตาม ทีมเจรจาฝ่ายไทยชุดที่เจรจากับสหรัฐฯ ถือเป็นทีมที่มีศักยภาพและความพร้อมมากที่สุดทีมหนึ่ง เพราะมีข้าราชการระดับสูงของ 30 หน่วยงานที่มาจากกระทรวงต่างๆ ถึง 13 กระทรวง รวมทั้งมีทีมสนับสนุนที่มาจากภาคเอกชน ทั้งสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าไทย สมาคมผู้ประกอบการ ตลอดจนภาคนักวิชาการและสถาบันวิชาการชั้นนำของประเทศ รวมทั้งภาคประชาชนและรัฐสภา ได้ช่วยให้คำแนะนำและข้อมูลที่เป็นประโยชน์สำหรับการกำหนดท่าทีในการเจรจากับสหรัฐ
“ แม้ว่าการเจรจากับสหรัฐฯ จะมีความซับซ้อนมาก แต่ผมมั่นใจศักยภาพของทีมเจรจา รวมทั้งข้อมูลและข้อเสนอแนะที่ได้จากทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ทำให้ไม่รู้สึกหนักใจกับการเจรจารอบต่อๆ ไป และทีมเจรจาของไทยก็พร้อมที่จะรับมือกับความซับซ้อนต่างๆ เพราะแต่ละทีมได้มีการหารือและร่วมกันพิจารณาสาระสำคัญที่มีความเกี่ยวโยงข้ามกลุ่ม เพื่อกำหนดท่าทีในการต่อรองและร่วมกันเจรจาต่อรองผลประโยชน์ข้ามกลุ่มให้ได้รับผลประโยชน์ในภาพรวม “ หัวหน้าคณะเจรจาเอฟทีเอไทย-สหรัฐฯ กล่าว
สำหรับหัวข้อการเจรจาที่มีความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกันนั้น อาทิ ปัญหามาตรฐานสินค้าเกษตร ซึ่งทีมเจรจาไทยได้ผลักดันให้มีการจัดตั้งกลไกถาวรขึ้นเพื่อแก้ปัญหานี้อย่างเป็นระบบ เรื่องกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า ซึ่งทีมเจรจาไทยได้พยายามผลักดันให้มีการยกเว้นข้อกำหนดที่เข้มงวด เพื่อให้สินค้าต่างๆ ของไทยสามารถเข้าสู่ตลาดสหรัฐฯ ได้ เรื่องการขจัดอุปสรรคเทคนิคทางการค้าต่อสินค้าอุตสาหกรรมไทย เพื่อให้สินค้าไทยสามารถเข้าตลาดสหรัฐฯ ได้อย่างราบรื่น เรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งทีมเจรจามีจุดยืนที่ชัดเจนในเรื่องการให้ความคุ้มครองและบังคับใช้กฎหมายของประเทศไทยเท่าที่มีอยู่ เราพยายามเจรจาเรื่องข้อกำหนดอุปสรรคเทคนิคทางการค้าให้สามารถนำสินค้าเข้าตลาดสหรัฐฯ ได้
นอกเหนือจากการทำงานอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานภาครัฐที่เป็นเจ้าของเรื่องแต่ละหัวข้อของการเจรจาแล้ว ทีมเจรจายังได้ดำเนินการอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ ด้วย เพื่อร่วมกันกำหนดท่าที่และให้ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะอย่างรอบด้าน เช่น เรื่องทรัพย์สินทางปัญญา มิได้มีเพียงกรมทรัพย์สินทางปัญญาเท่านั้น แต่ยังมีผู้แทนจากกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมศุลกากร ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ร่วมอยู่ในคณะเจรจาหรือ ให้ความเห็นด้วย
นอกจากนี้ ภาคเอกชนไทยยังเข้ามามีส่วนร่วมในการเจรจามาตั้งแต่ต้น โดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าไทย สมาคมผู้ประกอบการบริการต่างๆ และสมาคมผู้ประกอบการภาคการเงิน ได้เข้าร่วมประชุมกำหนดท่าทีการเจรจาโดยตลอด และยังมีตัวแทนภาคเอกชนร่วมเดินทางไปให้ข้อเสนอแนะในการเจรจาตั้งแต่รอบ 1-5 ที่ผ่านมาด้วย โดยในแต่ละวันที่มีการเจรจา ทีมเจรจากับภาคเอกชนได้ปรึกษาหารือกันอย่างใกล้ชิด
สำหรับภาควิชาการและสถาบันวิชาการ ทีมเจรจาไทยได้ปรึกษาหารือกับฝ่ายนักวิชาการด้วย เช่น ศูนย์ศึกษาเอเปคและศึกษาความร่วมมือในภูมิภาคแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ เพื่อให้ได้ข้อมูลการวิเคราะห์ ประเมินโอกาสและผลกระทบ จากมุมมองของผู้ที่ไม่มีส่วนได้เสีย
รัฐสภาได้มีส่วนร่วมอย่างสำคัญในกระบวนการเจรจา โดยคณะกรรมาธิการต่างๆ ของรัฐสภา ทั้งวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร เช่น คณะกรรมาธิการต่างประเทศ คณะกรรมาธิการสาธารณสุข คณะกรรมาธิการการคลัง การธนาคารและสถาบันการเงิน เป็นต้น โดยเชิญทีมเจรจาได้ไปให้ข้อมูลและตอบข้อซักถาม รวมทั้งรับฟังข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการดังกล่าว ของรัฐสภา เพื่อนำไปใช้ประกอบการพิจารณากำหนดท่าทีการเจรจาต่อไป--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ