สกว.ขอเชิญสื่อมวลชนร่วมประชุม"เวทีสาธารณะ":การค้างาช้างกับผลกระทบต่อการจัดการช้างในประเทศไทย

ข่าวทั่วไป Tuesday August 17, 2004 16:17 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 ส.ค.--สกว.
“ช้าง” เป็นสัตว์ใหญ่ที่มีความสำคัญในทางประวัติศาสตร์และธรรมชาติวิทยาของเมืองไทยเป็นอย่างยิ่ง แม้ว่าอนุสัญญา CITES จะมีข้อกำหนดในการห้ามค้างาช้างโดยไม่ได้รับการอนุญาตอย่างเคร่งครัดแล้วก็ตาม แต่ดูเหมือนจำนวนช้างในพื้นที่ที่เป็นที่อยู่อาศัยเดิมของช้างทั่วโลกนั้น มีจำนวนลดลงไปเรื่อยๆ ทั้งนี้เนื่องจากการลักลอบล่าช้างเพื่อนำงาไปขายยังคงมีอยู่ ทั้งนี้ การลดลงของจำนวนช้างนั้นเกิดขึ้นน้อยมากในประเทศไทย แต่ว่าการปฏิบัติตามอนุสัญญาอย่างเคร่งครัด ก็ยังไม่แน่ว่าจะป้องกันเมืองไทยจากการเป็นทางผ่านของงาช้างผิดกฎหมาย ที่ส่งเข้ามาเพื่อให้ช่างฝีมือเยี่ยมแกะสลักและการเป็นสินค้ามีค่าน่าสะสมไปได้ และทั้งนี้ ปัญหาเรื่องช้างและงาช้าง ยังเชื่อมโยงไปได้ถึงการเมืองในระดับโลก
ซึ่งในระหว่าง วันที่ 2-14 ตุลมคม นี้ ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพการจัดประชุม ภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ ครั้งที่ 13 (CITES COP13) ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเสริมสร้างความเข้าใจและเรียนรู้ ตลอดจนเสริมสร้างมุมมอง และความเข้าใจ เกี่ยวข้องกับ “การเมืองเรื่องงาช้าง” สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้สนับสนุน สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ให้ดำเนินการประชุม “เวทีสาธารณะ: การค้างาช้างกับผลกระทบต่อการจัดการช้างในประเทศไทย” โดย รศ.ดร.สมโภชน์ ศรีโกสามาตร โครงการพัฒนาองค์ความรู้และศึกษานโยบายความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศไทย ในวันพฤหัสบดีที่ 19 สิงหาคม 2547 เวลา 13.30 — 16.30 น. ณ ห้องประชุม 1 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ชั้น 14 อาคาร เอส เอ็ม ทาวเวอร์ (ตรงข้ามสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5) ซึ่งจะเปิดให้เป็นเวทีสาธารณะสำหรับการแลกเปลี่ยนข้อมูล ข่าวสารความรู้ และประเด็นใหม่ๆที่ควรได้รับความสนใจ จากผู้ปฏิบัติงานด้านการจัดการช้าง นักวิชาการ และสื่อมวลชน อีกด้วย
ในฐานะที่ท่าน เป็นส่วนหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่ข่าวสารต่างๆ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จึงขอเรียนเชิญท่านร่วมงานตามวันและเวลาดังกล่าว
การประชุม
“เวทีสาธารณะ: วิเคราะห์ความเคลื่อนไหวการจัดการสัตว์ป่าและพืชป่าในกระแสการค้าโลก”
การสร้างฐานความรู้ และการสื่อความรู้เกี่ยวกับการค้าสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์ให้กับสังคม เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ และเสริมสร้างการแลกเปลี่ยนความคิดและมุมมองซึ่งกันและกันระหว่างผู้ที่มีบทบาทแตกต่างกันในสังคม เป็นปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการจัดการทรัพยากรสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์ของประเทศ กอปรกับในปีนี้ ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุมสมัยสามัญ ประเทศภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ ครั้งที่ 13 (CITES COP 13) ในระหว่างวันที่ 2 — 14 ตุลาคม 2547 จึงนับเป็นโอกาสที่ดีในการสร้างกระแสการรับรู้ ความตื่นตัว และการมีส่วนร่วมของสาธารณชนในเรื่องการค้าสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ ตลอดจนการวิเคราะห์ถึงผลกระทบต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทย
สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (สสท.) โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้จัดให้มีการประชุม “เวทีสาธารณะ : วิเคราะห์ความเคลื่อนไหวการจัดการสัตว์ป่าและพืชป่าในกระแสการค้าโลก” โดยมีรูปแบบของการจัดประชุมเวทีสาธารณะในหัวข้อดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง มีการศึกษาวิเคราะห์ และนำเสนอรายงาน/บทความที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองและการควบคุมการค้าสัตว์ป่าและพืชป่าจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 4 ครั้ง ตามหัวข้อเรื่องดังต่อไปนี้
ครั้งที่ 1 : การค้าสัตว์ป่าและพืชป่า : รายได้หรือสูญพันธุ์
ผู้นำเสนอ : ดร. สุรพล ดวงแข เลขาธิการมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพันธุ์พืชแห่งประเทศไทย
วัน เวลา : วันพฤหัสบดีที่ 5 สิงหาคม 2547 เวลา 13.30-16.30 น.
สถานที่ : ห้องประชุม 1 ชั้น 14 อาคาร เอส เอ็ม ทาวเวอร์
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
ครั้งที่ 2 : การค้างาช้างกับผลกระทบต่อการจัดการช้างในประเทศไทย
ผู้นำเสนอ : รศ.ดร. สมโภชน์ ศรีโกสามาตร โครงการพัฒนาองค์ความรู้และศึกษานโยบาย
ความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศไทย
วัน เวลา : วันพฤหัสบดีที่ 19 สิงหาคม 2547 เวลา 13.30-16.30 น.
สถานที่ : ห้องประชุม 1 ชั้น 14 อาคาร เอส เอ็ม ทาวเวอร์
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
ครั้งที่ 3 : การค้าและจัดการกล้วยไม้ไทย
ผู้นำเสนอ : ศ.ดร. ระพี สาคริก ราษฎรอาวุโส
วัน เวลา : วันศุกร์ที่ 3 กันยายน 2547 เวลา 13.30-16.30 น.
สถานที่ : ห้องประชุม 1 ชั้น 14 อาคาร เอส เอ็ม ทาวเวอร์
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
ครั้งที่ 4 : เวทีเสวนากับสื่อมวลชน
วัน เวลา : วันศุกร์ที่ 24 กันยายน 2547 เวลา 9.00-12.00 น.
สถานที่ : ห้องประชุม 1 ชั้น 14 อาคาร เอส เอ็ม ทาวเวอร์ สกว.--จบ--
--อินโฟเควสท์ (พห)--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ