สพร.จัดเสวนา “ปากคลองตลาดพิพิธภัณฑ์มีชีวิต” พลิกชุมชนคนขายดอกไม้ สู่ตลาดใหญ่แห่งเอเชีย

ข่าวทั่วไป Wednesday September 5, 2012 17:35 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 ก.ย.--ไอแอมพีอาร์ มิวเซียมสยาม จัดเสวนา Living Museum : พิพิธภัณฑ์มีชีวิต ชุมชนปากคลองตลาด ครั้งที่ 1 เวทีเพื่อการเรียนรู้อดีต ทำความเข้าใจปัจจุบัน และเตรียมการรับมือกับอนาคต ในการพลิกโฉมสู่ตลาดดอกไม้ใหญ่ที่สุดในเอเชียและแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ โดยได้รับเกียรติจากนักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ ร่วมเปิดภูมิทัศน์ชุมชน พร้อมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ นายราเมศ พรหมเย็น ผู้อำนวยการสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ หรือ สพร. กล่าวว่า งานเสวนา Living Museum : พิพิธภัณฑ์มีชีวิต ชุมชนปากคลองตลาด จัดขึ้นเพื่อสะสมฐานความรู้และสรรค์สร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ เพื่อเผยแพร่สู่สาธารณชนต่อไป โดยต่อยอดจาก “โครงการวิจัยชุมชนโดยรอบพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ แห่งที่ 1 (ชุมชนท่าเตียน-ปากคลองตลาด) ที่จัดทำขึ้นเมื่อปี 2549 เพื่อสร้างความเข้าใจและเรียนรู้ชุมชนโดยรอบ เกี่ยวกับประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐาน บทบาท และความสำคัญของชุมชน โดยศึกษาตามลำดับเวลาและเหตุการณ์สำคัญ ซึ่งการพลิกโฉมปากคลองตลาดสู่การเป็นตลาดดอกไม้ที่ใหญ่ที่สุดแห่งเอเชียและเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญที่อาจส่งผลกระทบครั้งใหญ่ต่อวิถีชีวิตและสภาพแวดล้อมของชุมชนอย่างแน่นอน “ชุมชนท่าเตียนและปากคลองตลาดเป็น ชุมชนพาณิชยกรรมเก่าแก่ ที่ก่อตั้งขึ้นในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น โดยสามารถปรับตัวและดำรงอยู่ได้ภายใต้กระแสแห่งความเปลี่ยนแปลง จนกลายเป็นย่านการค้าที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นในการเป็นตลาดดอกไม้แห่งใหญ่ระดับประเทศที่เลื่องชื่อ เมื่อโครงการรถไฟฟ้าใต้ดินกำหนดให้มีสถานีขึ้นลงหน้ามิวเซียมสยามซึ่งอยู่ใกล้ปากคลองตลาด บริษัทเอกชนผู้ถือครองกรรมสิทธิ์ในพื้นที่จึงทุ่มงบประมาณนับร้อยล้านบาทเพื่อปรับโฉมปากคลองตลาดในส่วนตลาดเก่าแก่ 2 แห่งเข้าด้วยกัน คือตลาดยอดพิมาน และตลาดปากคลองตลาดขององค์การตลาด กระทรวงมหาดไทย ให้เป็นอาณาจักรดอกไม้ กล้วยไม้นานาชาติและจำหน่ายพืชผักผลไม้ครบวงจร แวดล้อมด้วยภูมิทัศน์ที่สวยงาม พร้อมสร้าง walk way แบบ 2 ชั้น อีกทั้งวางแผนสร้างท่าเทียบเรืออำนวยความสะดวกแก่ผู้ค้าและนักท่องเที่ยวด้วย การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวย่อมส่งผลกระทบต่อผู้คนในปากคลองตลาดอย่างแน่นอน การเสวนาฯ จึงเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และเผยแพร่เรื่องราวเกี่ยวกับชุมชนปากคลองตลาด ตลอดจนแบ่งปันประสบการณ์ แลกเปลี่ยนทัศนคติและความคิดเห็นต่อการเปลี่ยนแปลง โดยสะท้อนภาพปัจจุบันสู่การเปลี่ยนแปลงในอนาคต ผ่านเรื่องราวประวัติศาสตร์ชุมชน” นายราเมศ อธิบาย โครงการเสวนา Living Museum : พิพิธภัณฑ์มีชีวิต ชุมชนปากคลองตลาด เป็นเวทีที่จะสร้างกระบวนการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ชุมชน พร้อมทำความเข้าใจปัจจุบัน และเตรียมการรับมือกับอนาคตเมื่อการเปลี่ยนแปลงมาถึง เพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญกำลังจะเกิดขึ้นกับปากคลองตลาดอีกครั้งในไม่ช้า โดยการระดมความคิดเห็นเรื่องการพัฒนาพื้นที่ปากคลองตลาดอย่างมีส่วนร่วม โดยได้รับเกียรติจาก คุณสุดารา สุจฉายา นักประวัติศาสตร์มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์, คุณวันชัย อินทคุณ ที่ปรึกษาตลาดเก่าปากคลอง มาร่วมให้ความคิดเห็นในหัวข้อ “ปรับโฉมปากคลองตลาด ความเปลี่ยนแปลงปัจจุบัน-อนาคต” และ อาจารย์ชาตรี ประกิตนนทการ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร ร่วมเสวนาในหัวข้อ “เปิดภูมิทัศน์ปากคลองตลาด อดีตสู่อนาคต” เพื่อวิเคราะห์ถึง แผนที่จะกำลังจะเกิดขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชุมชนปากคลองตลาด และการนำไปสู่การเป็นตลาดดอกไม้แห่งอาเซียน โดยมี ผศ.ดำรงพล อินทร์จันทร์ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นผู้ดำเนินรายการ ด้าน ผศ.ดำรงพล อินทร์จันทร์ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร หัวหน้าโครงการวิจัยชุมชนโดยรอบพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ แห่งที่ 1 (ชุมชนท่าเตียน-ปากคลองตลาด) ที่จัดทำขึ้นเมื่อปี 2549 ภายใต้การสนับสนุนจาก สพร. เล่าถึงประวัติศาสตร์ของปากคลองตลาดว่า จากลักษณะทางกายภาพของพื้นที่ซึ่งตั้งอยู่บริเวณ “ปากคลอง” คูเมืองเดิมทางตอนใต้ของโรงเรียนราชินีล่าง และเคยเป็น “ตลาดปลา” ที่ใหญ่ที่สุด มีเรือบรรทุกมาจากท่าจีนแล้วมาขึ้นฟากที่นี่ คนจึงนิยมเรียกว่า “ปากคลองตลาด” ต่อมากระทรวงพระคลังมหาสมบัติประกาศว่า ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม รัตนโกสินทร์ศก 111 ให้เรือปลาไปขึ้นที่ท่าตะพานปลาตำบลวัวลำพอง (หัวลำโพง) ปากคลองตลาดจึงกลายเป็นที่ขายพืชผัก ผลไม้ และดอกไม้เท่านั้น “ในอดีตผลผลิตจากทั่วประเทศถูกส่งมาปากคลองตลาด สินค้าร้อยละ 70 จำหน่ายในกรุงเทพฯ ร้อยละ 28 จำหน่ายไปยังต่างจังหวัด ที่เหลือร้อยละ 2 ส่งออกต่างประเทศ แต่หลังจากที่มีตลาดค้าส่งสินค้าเกษตรเกิดขึ้นในพื้นที่ต่างๆ อาทิ ตลาดไท ตลาดสี่มุมเมือง ตลาดปฐมมงคล จ.นครปฐม ตลาดศรีเมือง จ.ราชบุรี ฯลฯ สินค้าจึงเข้าสู่ปากคลองตลาดลดลง สมาชิกผู้ประกอบการตลาดจึงมีความเห็นตรงกันว่า ปากคลองตลาดยังดำรงอยู่ได้เพราะมีตลาดดอกไม้เข้ามาช่วยเสริมและได้กลายเป็นเอกลักษณ์ในที่สุด” ผศ.ดำรงพล อินทร์จันทร์ อธิบาย ปัจจุบันปากคลองตลาดประกอบด้วยตลาดหลัก 3 แห่ง ได้แก่ ตลาดองค์การตลาด ตลาดยอดพิมาน และตลาดส่งเสริมเกษตรไทย โดย ตลาดองค์การตลาด นิยมเรียกว่าตลาดเก่า ก่อตั้งปีพ.ศ.2496 ถือเป็นตลาดแห่งแรกในปากคลองตลาด จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นตลาดกลางผักและผลไม้ของกรุงเทพฯ ปัจจุบันบริษัท ปากคลองตลาด (2552) จำกัด ซึ่งจัดตั้งขึ้นเมื่อ 29 ตุลาคม 2552 ได้รับสัมปทานในการพัฒนาพื้นที่ตลาดขององค์การตลาด กระทรวงมหาดไทย บริเวณใกล้กับตลาดยอดพิมาน ระยะเวลาเช่า 30 ปี เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2553 เป็นต้นไป ส่วนตลาดยอดพิมาน ก่อตั้งในปีพ.ศ.2504 จำหน่ายผลไม้ ผักสด ดอกไม้ และวัตถุดิบสำหรับร้อยมาลัย โดยบริษัท ตลาดยอดพิมาน จำกัด ซึ่งจัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2553 ได้ซื้อตลาดยอดพิมาน จากบริษัท สุดาศิริ จำกัด ของ หม่อมราชวงศ์สุนิดา กิติยากร เพื่อนำมาปรับปรุงโดยมีแนวทางดำเนินการปรับเปลี่ยนและจัดระเบียบแผงค้าที่มีอยู่ สำหรับ ตลาดส่งเสริมเกษตรไทย ก่อตั้งในปีพ.ศ.2516 มีนายวิวัฒน์ สุวรรณนภาศรีเป็นเจ้าของ และมีผู้ถือกรรมสิทธิ์รายย่อยรอบตลาดอีกจำนวนมาก จำหน่ายผักสด และดอกไม้จัดแต่งสำหรับประกอบงานพิธี “เส้นทางรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค นับเป็นปัจจัยที่สร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญต่อปากคลองตลาด ทุกคนในสังคมไทยจึงต้องร่วมระดมความคิดเห็นและสร้างองค์ความรู้ร่วมกัน เพื่อช่วยกันดำรงรักษาชุมชนพาณิชยกรรมอันเก่าแก่ พร้อมพัฒนาไปสู่ตลาดเชิงอนุรักษ์รูปแบบใหม่ที่สามารถปรับตัวได้สอดคล้องและเท่าทันการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบเศรษฐกิจที่ไม่เคยหยุดนิ่ง” ผอ.สพร.สรุป สำหรับโครงการเสวนา Living Museum : พิพิธภัณฑ์มีชีวิต ชุมชนปากคลองตลาด ครั้งที่ 2 ในหัวข้อ “วิถีใหม่ปากคลองตลาด@สถานีสนามไชย” จะจัดขึ้นในวันที่ 23 กันยายน 2555 โดยในงานเสวนาจะกล่าวถึงกรณีศึกษาเทียบเคียงปากคลองตลาดกับตลาดสามย่าน และตลาดนางเลิ้ง ในบริบทของการพัฒนาตลาดเก่าและวิถีชุมชนเมืองกับการพัฒนาตลาดเก่าในกรุงเทพฯ ผู้สนใจเข้าร่วมเสวนาสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 02-2252777 ต่อ 404 หรือ www.facebook.com/museumsiamfan และ www.museumsiam.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ