“อบต.เมืองช้าง” วางกลยุทธ์ดึง 25 ตำบล สร้างสุขภาพเข้มแข็ง ชูเมืองแกต้นแบบ ความสำเร็จที่เกิดจากการเข้าถึง

ข่าวทั่วไป Tuesday October 2, 2012 14:55 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 ต.ค.--โอเพ่นอัพ คอมมิวนิเคชั่น “สุรินทร์ถิ่นช้างใหญ่ ผ้าไหมงาม ประคำสวย ร่ำรวยปราสาท ผักกาดหวาน ข้าวสารหอม งามพร้อมวัฒนธรรม” คำขวัญประจำจังหวัดสุรินทร์ ซึ่งบอกให้เห็นถึงความเป็นเมืองแห่งเกษตรกรรมและวัฒนธรรมอย่างชัดเจน และถือเป็นจังหวัดที่มีประชากรหนาแน่นเป็นลำดับ 10 ของประเทศ อาชีพของประชาชนส่วนใหญ่ ยังคงประกอบอาชีพทางด้านการเกษตรกรรม มีการทำนาข้าวเจ้า ทำสวน และเพาะปลูกพืชไร่ชนิดต่างๆ จากกรุงเทพมหานคร มุ่งหน้าเดินทางสู่เมืองช้าง จ.สุรินทร์ พร้อมสายฝนหนักบ้างเบาบ้างตลอดเส้นทาง ลุ้นเล็กน้อยว่าจะเจอน้ำท่วมหรือเปล่า ในใจภาวนาว่าปีนี้ พระพิรุณโปรดเมตตาตกพอให้ชุ่มช้ำ ชาวไร่ ชาวนา เกษตรกรทำนาได้ตามฤดูกาล แต่อย่าเกิดเหตุการณ์เหมือนปีที่ผ่านๆ มาเลย สาธุ เมื่อถึงเป้าหมายปลายทาง ต.เมืองแก จ.สุรินทร์ วันนี้ทีมงานมีนัดกันมาเที่ยว เอ้ย...ขออภัยมาทำงาน เพื่อมาพิสูจน์ว่าจริงหรือไม่ที่ ต.เมืองแก แห่งนี้ เขาเล่าลือกันหนักว่า ชาวบ้านที่นี่รวมตัวกันเหนียวแน่นถึง 25 ตำบล ทำเกษตรแบบยั่งยืน ไร้สารพิษ ยังไม่พอ ชาวบ้านที่นี่ทั้งหมดมีสุขภาพแข็งแรงกันทุกตำบล อย่างนี้ต้องพิสูจน์ จากเจ้าบ้านนายศุภชัย เศรษฐศักดิ์อำพล นายกเทศมนตรีตำบลเมืองแก จ.สุรินทร์ นายศุภชัย เล่าว่า การจัดงานตลาดนัดสุขภาพ “จับมือ สานฝัน สร้างเสริมสุขภาพที่เข้มแข็งในระดับตำบล” เป็นบทพิสูจน์ที่ชัดเจนถึงความร่วมมือตั้งแต่ระดับบนไร่ลงมาจนถึงทุกครัวเรือนก็ว่าได้ เพราะเราทำงานภายใต้โครงการพัฒนาทักษะด้านการบริหารงานสร้างเสริมสุขภาพ โดยความร่วมมือของสาธารณสุขจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 5 จากการสนับสนุนของสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สสส. ซึ่งโครงการดังกล่าวเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2551 โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาบุคลากรของ อบต.ให้มีทักษะด้านการบริหารงานสร้างเสริมสุขภาพในรูปของทีมสุขภาพตำบล เน้นให้เกิดความเป็นเจ้าของและความยั่งยืน เพื่อการบริหารจัดการตนเองได้ในอนาคต จากการดำเนินงานมีองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) จ.สุรินทร์ เข้าร่วมโครงการถึง 25 อบต. นายศุภชัย กล่าวอีกว่า เรื่องแผนพัฒนาสุขภาพปัจจุบันหลายท้องถิ่นยังเดินหน้าและขับเคลื่อนงานสุขภาพไม่ได้ เพราะเกี่ยงกันทำงานในพื้นที่ แต่จากการที่ตำบลเมืองแกขับเคลื่อนงานได้ เพราะทำงานแบบมีส่วนร่วม เริ่มตั้งแต่ผู้บริหารที่ต้องทำงานแบบลงพื้นที่จริง มองการทำงานในทุกมิติ เพื่อสอบถามปัญหาของชุมชน การทำงานอย่าเริ่มต้นจากคำว่าใครทำ แต่จงมองไปที่ประชาชนทั้งหมด เพราะเราอยู่กับท้องถิ่น จึงต้องเข้าใจคำว่าข้าราชารส่วนท้องถิ่น ตำบลเมืองแกเดินหน้าและขับเคลื่อนได้เพราะให้ความสำคัญกับพี่น้องประชาชนทุกคน ให้ทุกคนเป็นเจ้าของโครงการ ที่เกิดจากความต้องการของเขาเอง โดยให้ชุมชนเสนอแผนกันขึ้นมา เราเพียงให้การชี้แนะ แต่ไม่ชี้นำ ขอให้มองประชาชนเป็นนายเป็นศูนย์กลางพัฒนาสุขภาพไปในทางที่ดี นายแพทย์พีระศักดิ์ ผลพฤกษา รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสุรินทร์ กล่าวว่า ประเทศของเราการทำงานในระบบราชการยังมีปัญหาอยู่มาก เรามีโครงสร้าง มีกลไกลของระบบการสร้างเสริมสุขภาพ มีกลุ่มงานยุทธศาสตร์ กลุ่มงานควบคุมโรค งานเคลื่อนที่เร็ว ทั้งระดับตำบล อำเภอ และระดับจังหวัด แต่จะชี้ให้เห็นว่าเรื่องของการสร้างสุขภาพก็ยังมีปัญหาประชาชนยังเจ็บป่วย เพราะทุกคนพูดที่กันแต่ที่จังหวัด เสียงลงไปไม่ถึง ตำบล ชุมชน หมู่บ้าน เรามีโครงสร้างที่ดีแต่ยังเข้าไม่ถึง เพราะทำงานกันแต่ในห้องแอร์ ติดคอมพิวเตอร์ เล่นface book หน้างานดูดี แต่ฉากหลังไม่ใช่ เรามีโอกาสทำงานเยอะ นโยบายก็ออกมามาก แต่เรามีปัญหาที่ยังเจาะไม่ได้ คือ พฤติกรรม วัฒนธรรมสุขภาพที่ดี หลายเรื่องที่เป็นเรื่องที่ดีเราไม่เคยนำออกมาโชว์ คนในพื้นที่รู้ แต่คนในจังหวัดไม่รู้ ดังนั้น เราจะต้องเจาะลึกในเรื่องของวัฒนธรรมคุณภาพให้เกิดขึ้นให้ได้ จังหวัดจะต้องนิสัยชอบสั่ง และต้องไม่เป็นภาระให้คนในพื้นที่ แต่จังหวัดจะต้องเป็นผู้ให้การสนับสนุนพื้นที่ทำงานให้คล่องตัว สนับสนุนข้อมูล ลงพื้นที่เยี่ยมจริง ทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย โดยเป้าหมายระยะยาวจะไปที่เด็กและเยาวชนที่รวมตัวกันพัฒนา พื้นที่ ชุมชนของตนเอง และอยากฝากประเด็นสำคัญในเรื่องการทำงานแบบบูรณาการให้ชัดเจนโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ต้องชัดและเข้าใจคำว่าบูรณาการที่ลึกและถูกต้อง ประเด็นที่สองกลยุทธ์ หลายๆ พื้นที่เมื่อจัดทำแผนแล้ว ต้องดูด้วยว่าเอื้อให้ประชาชนมีทักษะในการจัดการตนเองหรือเปล่า เนื่องจากบริบทแต่ละพื้นที่แตกต่างกัน การทำงานที่จะสำเร็จได้ทุกฝ่ายต้องหันมามองร่วมกัน สอดคล้องกับ รศ.นพ.อำนาจ ศรีรัตนบัลล์ กรรมการบริหารแผน คณะที่ 6 สสส. กล่าวว่า เรื่องสุขภาพทุกคนบอกสำคัญ แต่ในชีวิตประจำวันนั้น ยังมีเรื่องสำคัญอื่นๆ อีกมากมาย ดังนั้น ในการชวนชาวบ้านทำเรื่องสุขภาพ ต้องไม่ลืมว่าเขาก็มีเรื่องสำคัญของเขาด้วย เช่น กรณีชาวบ้านในตำบลหนึ่งซึ่งมีอาชีพทำปลาเค็มขาย เอาปลาเค็มมาตากบนกระเบื้องสกปรก ไม่สะอาด หากเราไปชวนชาวบ้านทำปลาเค็ม ปลอดภัย ไร้สารพิษ ชาวบ้านก็ไม่ยอมทำ ดังนั้น จึงมีเภสัชกรชวนทำปลาเค็มมาตรฐานส่งออกขายได้ราคาดี ก็เกิดการสนใจทำปลาเค็มมาตรฐานส่งออก จะเห็นได้ว่า อาหารปลอดภัยเกิดจากประเด็นเศรษฐกิจ และบรรลุวัตถุประสงค์ร่วมกัน ได้ประโยชน์ร่วมกัน “ทุกองค์กรที่อยู่ในพื้นที่มีระบบ กลไกการทำงาน แต่ขาดกลยุทธ์ที่จะทำให้กลไกเคลื่อนได้ง่าย การแก้ที่ชาวบ้านอาจจะลำบาก แต่ถ้าแก้ที่บริบท สิ่งแวดล้อมอาจจะง่ายกว่า ดังนั้น เราต้องหากลยุทธ์ เพื่อให้งานสำเร็จได้ง่ายขึ้น และต้องทำให้เกิดความรู้สึกว่าเป็นหน้าที่ของทุกฝ่าย โดยย้อนไปที่นิยามของคำว่าสุขภาพ ซึ่งมีความหมาย 2 ด้าน คือ ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี จะทำอย่างไรให้ชาวบ้านมีชีวิตที่ดี ปลอดภัย อาหารพอเพียง ครอบครัวอบอุ่น ชุมชนอบอุ่น สร้างคุณธรรม ดังนั้น องค์กรในพื้นที่ทั้ง อบต.,รพ.สต. สามารถทำเรื่องเดียวกันแต่คนละด้าน งานทั้งสองอย่างก็จะไปด้วยกัน จนเป็นงานปกติ ทำได้พร้อมกัน ชาวบ้านก็ไม่ต้องเหนื่อยหลายรอบ” รศ.นพ.อำนาจ กล่าว ด้าน นางเพ็ญพรรณ จิตตะเสนีย์ ผู้อำนวยการสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สสส. กล่าวว่า การทำงานด้านสุขภาพด้วยบทบาทภารกิจของ สสส.เรามองที่ประชาชนเป็นเป้าหมายในการสร้างเสริมสุขภาพของคน 1 คน ตั้งแต่ในท้องจนเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ ซึ่งในการทำงานนั้น มีทั้งประเด็นเรื่องเหล้า บุหรี่ การออกกำลังกาย อาหาร โดย สสส.ต้องทำงานผ่านองค์กร พื้นที่ และชุมชน ในการกระตุ้นและจุดประกายการสร้างเสริมสุขภาพ แต่ในระยะ 10 ปีนี้ การทำงานร่วมกับชุมชนท้องถิ่นถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่สุด ในระยะหลังจึงลงไปทำงานกับชุมชนมากขึ้น ซึ่งถือเป็นบทบาทเชิงรุก ในการพัฒนาสุขภาพ ส่วนการสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรมเรายังมีเป้าหมายในการกระจายโอกาสการทำงานสร้างเสริมสุขภาพไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ จึงอยากเปิดโอกาสให้ทุกคนในท้องถิ่นทำโครงการเสนอขึ้นมายัง สสส. เพื่อร่วมกันทำงานด้านสร้างเสริมสุขภาพให้ประสบผลสำเร็จต่อไป และจากบรรยากาศภายในงานนัดสุขภาพ “จับมือ สานฝัน สร้างเสริมสุขภาพที่เข้มแข็งในระดับตำบล” มีชาวบ้าน เกษตรกร นำพืชผัก ผลไม้ สดและแปลรูปมาวางขายจำนวนมาก ซึ่งเห็นความสด สะอาด ผลใหญ่ น่ารับประทาน นอกจากนี้ยังมีนวัตกรรมที่เป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านในการปลูกข้าวหนีน้ำ (ท่วม) ด้วยการสร้างบ่อน้ำแล้วนำข้าวมาปลูกในบ่อที่ลอยน้ำได้เป็นเหมือนทุ่นลอย ไม่ว่าน้ำจะท่วมแค่ไหนก็ไม่สามารถทำให้ข้าวตายได้ ความหวังของการพัฒนาท้องถิ่นแบบยั่งยืน ส่วนสำคัญที่จะเป็นตัวแบบ และทำให้ท้องถิ่นอื่นนำไปปฏิบัติและปรับใช้กับบริบทของตนเองได้ อย่างความสำเร็จของเมืองแกก็เป็นตัวแบบหนึ่ง ดังนั้น ท้องถิ่นต้องพัฒนาด้วยกันเอง หมายถึง ท้องถิ่นไปพัฒนาท้องถิ่นใกล้ จาก อบต.หนึ่งไปพัฒนาอีก อบต.หนึ่งต่อ เป็นการกระเพื่อมขยายไปในวงกว้าง สู่เป้าหมายสุดท้าย คือ การมีวัฒนธรรมสุขภาพที่ยั่งยืนตลอดไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ