นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ร่วมให้ความเห็น มาตรการประหยัดพลังงาน

ข่าวทั่วไป Friday September 3, 2004 10:34 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 ก.ย.--ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
จากภาวะราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกรวมทั้งไทยด้วย นักวิเคราะห์ฯ ได้นำเสนอความเห็นผ่านแบบสำรวจความคิดเห็น (Analyst Survey) ของสมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ ซึ่งแบ่งเป็นสองประเด็นใหญ่ โดยประเด็นแรกเป็นการสอบถามความเห็นต่อมาตรการในการประหยัดพลังงานของรัฐบาล 5 มาตรการ คือ การตรึงราคาน้ำมันดีเซลไปถึงต้นปี 2548 การปิดสถานีบริการน้ำมันเวลา 24.00 น., การปิดป้ายโฆษณาเวลา 22.00 น., การปิดห้างสรรพสินค้าเวลา 20.00 น. และการอนุญาตให้เปิดร้านสะดวกซื้อ 24 ชั่วโมง ประเด็นที่สองเกี่ยวกับข้อแนะนำอื่น ๆ ในการประหยัดพลังงาน
นักวิเคราะห์ตอบแบบสอบถามจำนวน 25 รายจากจำนวนที่ส่งออกไปทั้งหมด 35 ราย คิดเป็นร้อยละ 71 ของจำนวนที่ส่งออก โดยหนึ่งรายตอบได้เพียง 1 ชุดเท่านั้น
ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ที่ตอบแบบสอบถามเกือบทั้งหมดหรือร้อยละ 96 เห็นด้วยกับมาตรการในการปิดป้ายโฆษณาเวลา 22.00 น. รองลงมาคือ การปิดสถานีบริการน้ำมันเวลา 24.00 น. และการอนุญาตให้เปิดร้านสะดวกซื้อ 24 ชั่วโมง ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 76 และ 60 ตามลำดับ สำหรับมาตรการที่นักวิเคราะห์ไม่เห็นด้วย คือ การปิดห้างสรรพสินค้าเวลา 20.00 น. และการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไปถึงต้นปี 2548 โดยมีผู้ไม่เห็นด้วยคิดเป็นร้อยละ 84 และ 72 ตามลำดับ
เหตุผลหลักของการไม่เห็นด้วยในมาตรการปิดห้างสรรพสินค้าเวลา 20.00 น. คือเร็วเกินไปซึ่งอาจกระทบให้การบริโภคของประชาชนลดลง และควรเลื่อนเวลาปิดออกไปเป็น 21.00 หรือ 22.00 น. แต่เลื่อนเวลาเปิดให้ช้าออกไป นักวิเคราะห์บางรายแนะนำว่า ควรให้ห้างสรรพสินค้าพิจารณาปรับเวลาเปิดปิดตามความเหมาะสมของแต่ละแห่ง
สำหรับมาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไปถึงต้นปี 2548 นั้น เหตุผลหลักที่ไม่เห็นด้วยคือ ทำให้ราคาสินค้าไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง และเป็นการแทรกแซงกลไกตลาดฯ รวมทั้งเสนอแนะให้รัฐบาลทยอยปรับขึ้นราคาน้ำมันสำเร็จรูป เพื่อให้ผู้บริโภคตระหนักถึงปัญหาและมีความกระตือรือร้นที่จะประหยัดพลังงาน
นักวิเคราะห์แนะนำมาตรการอื่น ๆ ในการประหยัดพลังงาน โดยแต่ละรายสามารถเสนอได้มากกว่า 1 มาตรการ ตามรายละเอียดดังนี้
1. การแก้ไขปัญหาจราจร - นักวิเคราะห์จำนวนมากกว่าครึ่งหนึ่งของที่ตอบแบบสอบถาม หรือร้อยละ 52 เห็นว่าควรแก้ไขปัญหาจราจร ซึ่งจะช่วยให้ประหยัดพลังงานได้ โดยเสนอแนะแนวทางต่าง ๆ เรียงตามลำดับจากที่มีผู้เสนอมากที่สุด ดังนี้ พัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพของระบบขนส่งมวลชน ทั้งรถตู้ รถเมล์ รถไฟฟ้า รถไฟใต้ดิน เช่น จัดที่จอดรถให้เพียงพอในบริเวณจุดเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชน จัดบัสเลนให้มีประสิทธิภาพ ขยายเส้นทางรถไฟฟ้าและรถไฟใต้ดิน ลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าและรถไฟใต้ดินในวันหยุด เป็นต้น, กำหนดเขตเมืองชั้นใน (CBD) เก็บค่าธรรมเนียมเข้าเขต และเพิ่มค่าจอดรถในเขตเมืองชั้นใน เป็นต้น, เพิ่มต้นทุนในการครอบครองรถ เช่น เพิ่มภาษีป้ายทะเบียน เก็บภาษีเพิ่มสำหรับผู้ที่รถยนต์หลายคัน เป็นต้น, จัดระเบียบรถสาธารณะและรถแท็กซี่, เหลื่อมเวลาทำงาน, จัดให้มีทางสำหรับรถจักรยาน และวางระบบขนส่งมวลชนในระยะยาว
2. การใช้ราคาน้ำมันลอยตัว และปิดสถานีโทรทัศน์และวิทยุในช่วงหลังเที่ยงคืน - สองแนวทางนี้ได้รับการเสนอแนะมากเป็นอันดับถัดมา โดยมีจำนวนผู้เสนอคิดเป็นร้อยละ 16 เท่ากัน
3. การลดระยะเวลาเปิดให้บริการของสถานบันเทิงต่าง ๆ เช่น โรงภาพยนตร์ โบว์ลิ่ง เป็นต้น - มีจำนวนผู้เสนอคิดเป็นร้อยละ 12
4. การส่งเสริมให้มีการวิจัยพัฒนา เพื่อการประหยัดพลังงานอย่างจริงจังและต่อเนื่อง การส่งเสริมให้มีการคิดค้นและหาแหล่งพลังงานทดแทนน้ำมัน และการส่งเสริมให้มีการผลิตและการใช้รถยนต์ไฟฟ้า หรือรถประเภทไฮบริด โดยใช้มาตรการภาษี - ได้รับการเสนอจากนักวิเคราะห์ คิดเป็นร้อยละ 8 เท่ากันทั้งสามมาตรการ
โทร. 02-712-2585 โทรสาร 02-712-2586
อีเมล์ info@saa-thai.org
www.saa-thai.org--จบ--
--อินโฟเควสท์ (นท)--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ