GR: การดาว์นโหลดริงโทนเสียงศิลปินผ่านทางโทรศัพท์มือถือ

ข่าวทั่วไป Thursday September 16, 2004 09:29 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 ก.ย.--กิลเบิร์ต รี้ด แอนด์ คอมปานี
โดย ไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ
บริษัท กิลเบิร์ต รี้ด แอนด์ คอมปานี จำกัด
paiboon@gilbertereed.com
ช่วงที่ผ่านมาคงต้องยอมรับว่า กิจการหรือธุรกิจดาว์นโหลดริงโทนผ่านทางมือถือนั้น เป็นธุรกิจที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เช่นเมื่อปีที่ผ่านมาเว็บไซท์ eotoday.com สามารถทำรายได้จากการดาว์นโหลดริงโทนได้มากถึง 400 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก จึงไม่แปลกที่ปัจจุบันภาคธุรกิจทั้งหลายต่างให้ความสนใจกับการให้บริการดาว์นโหลดริงโทน เอสเอ็มเอส (SMS) และเอ็มเอ็มเอส (MMS) เป็นอย่างมาก (อย่างกรณีรายการยอดฮิต Academy Fantasia รายได้จากการส่งเอสเอ็มเอสมากถึง 6 ล้านบาทต่อวัน) อย่างไรก็ตาม การทำธุรกิจประเภทดังกล่าวคงต้องมีข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งผู้ประกอบการควรจะทราบ ซึ่งวันนี้จะหยิบยกในส่วนของการให้บริการดาว์นโหลดริงโทนเสียงดาราหรือศิลปินซึ่งเป็นบริการใหม่ของภาคธุรกิจมาคุยกัน
แนวความคิดหรือที่มาของการให้ดาว์นโหลดริงโทนเสียงศิลปินนั้น ก็จะเริ่มมาจากเราๆ ท่านๆ ทั้งหลายมักจะมีศิลปิน ตลก หรือดาราในดวงใจ บางครั้งการนำเอาเสียงดาราหรือศิลปินมาใช้เป็นเสียงโทรศัพท์เรียกเข้า จึงอาจจะเป็นที่ได้รับความสนใจกับประชาชนโดยส่วนใหญ่ โดยเฉพาะเสียงของดาราตลกซึ่งอาจทำให้เจ้าของโทรศัพท์ผ่อนคลายความเครียดหรือสนุกสนานกับเสียงศิลปินตลกต่างๆ ปัญหาในทางกฎหมายที่เกิดขึ้นคือ เมื่อนำเสียงดาราหรือศิลปินมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของเสียงริงโทนหรือเสียงเรียกเข้าของโทรศัพท์มือถือ หรือแปลงเสียงศิลปินดาราและภาพของดาราผ่านระบบเอ็มเอ็มเอสส่งให้แก่เพื่อนฝูง หรือแฟน การให้บริการดังกล่าวเกี่ยวข้องกับกฎหมายประเภทใดบ้าง
กฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับให้บริการดาว์นโหลดริงโทนเสียงดาราหรือศิลปินคือ เรื่อง “สิทธินักแสดง (Performer’s Right)” ตาม พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ครับ เนื่องจากเสียงศิลปินดาราหรือเสียงพากย์ เสียงร้อง ถือเป็นสิทธินักแสดง ซึ่งดาราหรือศิลปินเป็นเจ้าของสิทธิ และมีสิทธิในทางกฎหมายที่จะห้ามมิให้บุคคลอื่นเผยแพร่สิ่งบันทึกเสียงการแสดงของตนโดยไม่ได้รับอนุญาต ดังนั้น การให้บริการดาว์นโหลดริงโทน ผู้ให้บริการจึงต้องขออนุญาตจากศิลปินดาราโดยตรง ซึ่งมีรายละเอียดข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องดังนี้
มาตรา 4 ในพระราชบัญญัตินี้
..................
“นักแสดง” หมายความว่า ผู้แสดง นักดนตรี นักร้อง นักเต้น นักรำ และผู้ซึ่งแสดงท่าทาง ร้อง กล่าว พากย์ แสดงตามบทหรือในลักษณะอื่นใด
มาตรา 44 นักแสดงย่อมมีสิทธิแต่ผู้เดียวในการกระทำอันเกี่ยวกับการแสดงของตน ดังต่อไปนี้
(1) แพร่เสียงแพร่ภาพ หรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งการแสดง เว้นแต่จะเป็นการแพร่เสียงแพร่ภาพหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนจากสิ่งบันทึกการแสดงที่มีการบันทึกไว้แล้ว
(2) บันทึกการแสดงที่ยังไม่มีการบันทึกไว้แล้ว
(3) ทำซ้ำซึ่งสิ่งบันทึกการแสดงที่มีผู้บันทึกไว้โดยไม่ได้รับอนุญาตจากนักแสดงหรือสิ่งบันทึกการแสดงที่ได้รับอนุญาตเพื่อวัตถุประสงค์อื่น หรือสิ่งบันทึกการแสดงที่เข้าข้อยกเว้นการละเมิดสิทธิของนักแสดงตามมาตรา 43
มาตรา 45 ผู้ใดนำสิ่งบันทึกการแสดงซึ่งได้นำออกเผยแพร่เพื่อวัตถุประสงค์ทางการค้าแล้ว หรือนำสำเนาของงานนั้นไปแพร่เสียงหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนโดยตรง ให้ผู้นั้นจ่ายค่าตอบแทนที่เป็นธรรมแก่นักแสดง ในกรณีที่ตกลงค่าตอบแทนไม่ได้ ให้อธิบดีเป็นผู้มีคำสั่งกำหนดค่าตอบแทน ทั้งนี้ โดยให้คำนึงถึงอัตราค่าตอบแทนปกติในธุรกิจประเภทนั้น
จากข้อกฎหมายดังกล่าว ผู้ประกอบการที่ให้บริการดาว์นโหลดริงโทนเสียงศิลปินดังกล่าว จึงต้องขออนุญาตใช้เสียงของศิลปินดารา โดยทำสัญญาขออนุญาตใช้สิทธินักแสดงจากศิลปินดาราแต่ละรายโดยตรง หรือโอนสิทธินักแสดงมาเป็นของบริษัทที่ให้บริการเพื่อนำเสียงของศิลปินดาราดังกล่าวมาแปลงผ่านระบบดิจิตอล หรือคอมพิวเตอร์ และให้บริการกับประชาชนทั่วไปเพื่อให้ดาว์นโหลดเป็นเสียงริงโทนผ่านทางมือถือที่ถูกต้องตามกฎหมาย
ในกรณีที่บริษัทที่ให้บริการดังกล่าวมิได้ขออนุญาตใช้สิทธินักแสดงจากศิลปินดาราโดยถูกต้องนั้นมีโทษอย่างไร คำตอบคือ ผู้นำเอาเสียงศิลปินดาราไปเผยแพร่โดยไม่ได้รับอนุญาตอาจถูกฟ้องร้องฐานละเมิดสิทธินักแสดงตาม พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ซึ่งมีโทษปรับตั้งแต่ 20,000 ถึง 200,000 บาท ดังนั้น ทางที่ดีผมจึงแนะนำให้ผู้ประกอบการทั้งหลายทำข้อตกลงกับศิลปินให้ถูกต้องตามกฎหมาย น่าจะเป็นแนวทางที่ดีที่สุดครับ--จบ--
--อินโฟเควสท์ (นห)--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ