โชว์ฝีมือคุณหมอไทย...รักษาหมอนรองกระดูกคอเคลื่อนทับเส้นประสาทด้วย “การผ่าตัดเปลี่ยนหมอนรองกระดูกคอเทียม”

ข่าวทั่วไป Monday November 5, 2012 21:37 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 พ.ย.--แมสคอท คอมมิวนิเคชั่น นายแพทย์ทายาท บูรณกาลผู้อำนวยการสถาบันโรคกระดูกสันหลังกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ อาการปวดคอร้าวไปที่สะบัก แขนหรือมืออ่อนแรง อันมีสาเหตุมาจากภาวะหมอนรองกระดูกสันหลังกดทับเส้นประสาท ซึ่งพบได้บ่อยในบริเวณกระดูกสันหลังช่วงคอเป็นอาการที่มักเกิดขึ้นได้กับนักกีฬา คนที่ชอบเล่นกีฬาเช่น กอล์ฟ ฟุตบอล รวมถึงคนทั่วไป แต่หลายคนอาจละเลยอาการไปเพราะคิดว่าเป็นอาการบาดเจ็บเล็กน้อยตามปกติปล่อยทิ้งไว้เดี๋ยวก็หายเอง และหนึ่งในนั้นก็คือยอดขุนพลนักฟุตซอลทีมชาติไทย เจ้าของฉายา “อองรีไทยแลนด์” ที่ไปค้าแข้งจนโด่งดังที่ประเทศญี่ปุ่นอย่าง เลิศชาย อิสราสุวิภากร จนเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญที่ทำให้เขาเกือบต้องจบชีวิตนักกีฬาและหวิดเป็นอัมพาต! เลิศชายได้ถ่ายทอดประสบการณ์ที่กลายเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในชีวิตนักกีฬาของเขาว่า ระหว่างที่ไปค้าแข้งกับทีมนาโกย่าโอเชี่ยนส์ ประเทศญี่ปุ่นนั้น เขาเกิดอาการปวดแขนด้านซ้ายตั้งแต่สะบักลงมาจนถึงต้นแขน แต่เขาคิดว่าเป็นเรื่องปกติของนักกีฬาเลยไม่ได้ใส่ใจมากนัก จนอาการปวดเริ่มทวีความรุนแรงขึ้น จากที่ปวดบริเวณคอ เริ่มร้าวลงมาที่สะบัก ลามมาถึงต้นแขน และดูเหมือนว่าจะค่อยๆ เพิ่มระดับขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนทำให้เขาตัดสินใจค้นหาสาเหตุของความผิดปกติที่เกิดขึ้นในทันที “ผลจากการตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า MRI กับแพทย์ที่ประเทศญี่ปุ่นพบว่า มีอาการหมอนรองกระดูกบริเวณต้นคอแตกและเคลื่อนไปกดทับเส้นประสาท ทำให้มีอาการปวดลามลงมาถึงมือซ้าย อาจต้องใช้เวลารักษารวมพักฟื้นนาน 6 เดือนถึง 1 ปี นั่นย่อมส่งผลกระทบใหญ่ต่ออาชีพนักฟุตซอล ทำให้ต้องร้างลาจากสนามไปนาน จนอาจต้องแขวนสตั๊ดไปเลยก็ได้ และเหตุผลสำคัญที่ทำให้เขาตัดสินใจบินกลับมารักษาอาการบาดเจ็บที่เมืองไทย แม้ว่าทางญี่ปุ่นได้เสนอว่าจะทำการดูแลเรื่องรักษาผ่าตัดทุกอย่างก็ตาม เพราะเชื่อใจในฝีมือคุณหมอที่เมืองไทยมากกว่า” เขากล่าว นายแพทย์ทายาท บูรณกาล ผู้อำนวยการสถาบันโรคกระดูกสันหลังกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ อธิบายว่า ปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทอาจมาจากพันธุกรรม ซึ่งเป็นความเสี่ยงแฝงที่ติดมากับตัว แต่ปัจจุบันเรากลับพบว่า ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น อุบัติเหตุ หรือการออกกำลังกายผิดท่า ซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะนี้ได้เช่นกัน แต่ในกรณีของคุณเลิศชายนั้นคาดว่าสาเหตุของอาการหมอนรองกระดูกคอทับเส้นประสาทนั้นน่าจะเกิดจากการเล่นกีฬาหรือการฝึกซ้อม เช่น การหมุนคอ หรือใช้ศีรษะโหม่งลูกบอลซ้ำแล้วซ้ำอีก ซึ่งอาการแบบนี้ นักกีฬา หรือคนที่ชอบเล่นกอล์ฟก็มีโอกาสเป็นได้เช่นกัน หากบิดไหล่อย่างแรงขณะที่ศีรษะนิ่ง ทำให้หมอนรองกระดูกปลิ้น คนไข้จะมีอาการปวดแบบเฉียบพลันที่คอร้าวไปที่สะบัก แขน หรือมือในกรณีที่เส้นประสาทถูกกดทับ โดยปกติหมอนรองกระดูกที่แตกมีโอกาสฟื้นตัวและหายได้เองในช่วง 6 เดือน ถึง 1 ปี นั่นแปลว่าผู้ที่มีอาการบาดเจ็บจะต้องให้เวลามากพอในการพักฟื้น และรอจนกว่ากระดูกที่แตกจะประสานติดกันดังเดิม ซึ่งการรักษาภาวะหมอนรองกระดูกแตกสามารถทำได้ทั้งแบบผ่าตัดและไม่ผ่าตัด เช่น การรับประทานยา และทำกายภาพบำบัด แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้นการผ่าตัดเป็นสิ่งจำเป็น ในกรณีของคุณเลิศชายจำเป็นต้องผ่าตัดเพื่อเปลี่ยนหมอนรองกระดูกเทียมส่วนคอ Cervical Disc Arthroplasty เพื่อให้กลับมาใช้งานได้ดังเดิมโดยเร็ว ซึ่งแพทย์ใช้เทคนิคการนำหมอนรองกระดูกที่แตกปลิ้นออกและใส่ข้อหมอนรองกระดูกเทียมเข้าไปแทนที่ ซึ่งเป็นเทคนิคใหม่ที่ช่วยคงสภาพการเคลื่อนไหวของกระดูกได้ใกล้เคียงของเดิมมากที่สุด โดยใช้เวลาพักฟื้นในช่วงสั้นๆ หรือ 3 เดือน หลังจากการผ่าตัด “เทคนิคดังล่าวให้ผลลัพธ์ดีกว่าการเชื่อมข้อ (Fusion) เนื่องจากช่วยให้หายจากอาการปวดร้าวตามแขนที่เกิดจากเส้นประสาทถูกกดทับได้อย่างมีประสิทธิภาพ” ผู้อำนวยการสถาบันโรคกระดูกสันหลังกรุงเทพ กล่าวและเสริมว่า การผ่าตัดเปลี่ยนหมอนรองกระดูกเทียม (Total Disc Arthroplasty) สามารถทำได้ทั้งที่กระดูกสันหลังส่วนคอ และส่วนเอว โดยข้อดีคือช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็ว ช่วยลดโอกาสที่ต้องผ่าตัดใหม่อีกครั้งเนื่องจากปัญหาเดิม อีกทั้งสามารถกลับไปมีกิจกรรมต่างๆ เช่น การเล่นกีฬาได้เต็มที่อย่างรวดเร็วกว่าการผ่าตัดแบบเดิม โดยปัจจุบันแพทย์วิวัฒนาการทางการแพทย์ยังช่วยในการตรวจติดตามการผ่าตัดด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย อาทิ เครื่องมือติดตามการทำงานของระบบประสาทขณะผ่าตัด (Intraoperative Monitoring : IOM) กล้องผ่าตัดที่มีกำลังขยายสูง (Microscope) ช่วยเพิ่มความแม่นยำในการรักษา นอกจากนี้แพทย์ยังได้พิจารณาแนวทางการรักษาแบบเฉพาะบุคคล หรือ Custom-Made เพื่อให้ประสิทธิภาพการรักษาเกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้ป่วยแต่ละราย ซึ่งมีรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป ทั้งการดำเนินโรค อายุ และรูปแบบการใช้ชีวิต เพราะการผ่าตัดอาจไม่ใช่คำตอบสำหรับผู้ป่วยทุกรายเสมอไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ