เปิดสมุดปกขาว “สัมมนาหอการค้าไทย ครั้งที่ 30” แนะรัฐบริหารประเทศโดยยึด “เศรษฐกิจพอเพียง-ลดเหลื่อมล้ำ-ต้านทุจริต”

ข่าวทั่วไป Monday November 19, 2012 14:48 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 พ.ย.--นิโอ ทาร์เก็ต หลังการระดมความคิดเห็นครั้งใหญ่ระหว่างภาคเอกชนและภาครัฐ คือ หอการค้าจังหวัดจากทั่วประเทศ ที่เข้าร่วมประชุม 1,000 คน และผู้ว่าราชการจังหวัด หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องมาร่วมในการสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศ ครั้งที่ 30 วันที่ 17-18 พฤศจิกายน 2555 ทั้งนี้เพื่อกำหนดทิศทางในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยร่วมกัน โดยจะมุ่งเน้นนำแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการทำธุรกิจ ภายใต้ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงในภาคธุรกิจ ของ 3 กลุ่มหลัก คือ “การเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนและสมดุล- สร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในการรองรับการเปลี่ยนแปลง- การส่งเสริมองค์ความรู้และคุณธรรม” ล่าสุดนายฉัตรชัย บุญรัตน์ รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้มีการสรุปผลการสัมมนาจัดทำเป็นสมุดปกขาว มอบให้กับ นายจารุพงษ์ เรืองสุวรรณรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะตัวแทนรัฐบาล เพื่อเป็นแนวทางกำหนดทิศทางในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยร่วมกันกับภาคเอกชนให้การบริหารประเทศ ประสบความสำเร็จยิ่งขึ้น ข้อสรุปเพื่อกำหนดทิศทางในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยร่วมกัน ภายใต้ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงในภาคธุรกิจ ที่ได้จากการการสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศครั้งนี้ กลุ่มแรก : การเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนและสมดุล มี 5 ข้อดังนี้ คือ1.หอการค้าไทยน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาดำเนินการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยอย่างต่อเนื่อง2.หอการค้าไทยควรผลักดันให้เกิดการทำงานและใช้งบประมาณแบบบูรณาการ ยกตัวอย่างง่าย เช่นการขุดถนน ร้อยสายโทรศัพท์ วางท่อประปา และสายไฟฟ้า เป็นต้น 3.การลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมและการต่อต้านทุจริตคอรัปชั่นเป็นกลไกที่สำคัญยิ่งในการสร้างการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนและสมดุล 4.การใช้งบประมาณเพื่อกระตุ้นกำลังซื้อ ( demand side) หรือนโยบายประชานิยม เป็นนโยบายที่ส่งเสริมการเพิ่มอำนาจซื้อภายในประเทศเพียงชั่วคราว จึงควรดำเนินการในระยะสั้นเมื่อมีความจำเป็นเท่านั้น เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อฐานะการเงินของของประเทศ 5.หอการค้าชื่นชมรัฐบาลที่แสดงความตั้งใจผลักดันให้มีการขนส่งคนและสินค้าโดยระบบราง และได้วางแผนจัดสรงบประมาณหลายแสนล้านบาทในการดำเนินการ ดังนั้นที่ประชุมสนับสนุน การใช้งบประมาณลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (Supply side) สำหรับสรุปผลการประชุมในกลุ่มที่ 2 เพื่อชี้นำเศรษฐกิจในยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงในภาคธุรกิจ ในเรื่อง :สร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในการรองรับการเปลี่ยนแปลงมี 4 ข้อดังนี้ 1.พัฒนาคนให้มีคุณภาพ ผ่านการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษ และเรียนภาษาที่ 3 เพิ่มเติม 2.สร้างความสามัคคีของคนในชาติ 3.พึ่งพาตนเองให้มากขึ้น 4.สร้างสมดุลของการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ตามแนวคิดเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ปิดท้ายด้วยสรุปผลการประชุมกลุ่มที่ 3 เพื่อชี้นำเศรษฐกิจในยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงในภาคธุรกิจ ในเรื่อง : การส่งเสริมองค์ความรู้และคุณธรรมมี 4 ข้อดังนี้ 1.ควรปฏิรูประบบการศึกษาไทยที่ให้คุณค่ากับการเรียนรู้ในทุกรูปแบบไม่ได้มุ่งเน้นเฉพาะปริญญา 2.ภาคการศึกษาควรผลิตบุคลากรให้ตรงความต้องการของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะช่างฝีมือ 3.ให้ความสำคัญกับการเพิ่มคุณภาพครู 4.ที่ประชุมให้ความสำคัญเกี่ยวกับการเพิ่มผลิตคุณภาพและทักษะของแรงงานเพื่อที่รองรับค่าแรงที่สูงขึ้นต่อเนื่องตามมาตรฐานการครองชีพ ขณะที่การส่งเสริมคุณธรรม ควรดำเนินการใน 2 หัวข้อดังนี้ 1.ช่วยกันปลูกจิตสำนึกให้คนไทยมีคุณธรรมและจริยธรรม 2.ภาคเอกชนจะต้องเข้าร่วมปฏิญาณการต่อต้านทุจริตคอรัปชั่นทุกรูปแบบ นายฉัตรชัย กล่าวอีกว่า ในปีนี้ถือเป็นปีที่มีความพิเศษอย่างมาก คือ เป็นปีที่มีการเฉลิมฉลองการดำเนินงานของหอการค้าครบรอบ 80 ปี ซึ่งยุทธศาสตร์เศรษฐกิจของหอการค้าได้เริ่มมาตั้งแต่ปี 2552 ได้แก่โครงการยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ โครงการลดความเหลื่อมล้ำผ่านโครงการ 1 ไร่ 1 แสน 1 บริษัท 1 ชุมชน และโครงการการต่อต้านทุจริตคอรัปชั่นซึ่งปัจจุบันมีผู้เข้าร่วมแล้วประมาณ 42 เครือข่าย ทั้งนี้ 3 โครงการถือเป็นความภาคภูมิใจของสมาชิกหอการค้าทั่วประเทศ ที่ได้มีการผลักดันให้เกิดเป็นรูปธรรม โดยเริ่มจากการจัดทำยุทธศาสตร์เศรษฐกิจของหอการค้าไทย ซึ่งในปีนี้ยังได้ดำเนินการโครงการทั้ง 3 อย่างต่อเนื่อง เราได้ตระหนักถึงความผันผวน และการเปลี่ยนแปลงของโลกท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่จบสิ้น ดังนั้นหอการค้าไทย จึงเห็นว่า การน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจจะเป็นทางออกของวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่เราเผชิญอยู่ในปัจจุบัน และเป็นภูมิคุ้มกันตลอดไป และเป็นที่มาของการสัมมนาปีนี้ในหัวข้อ “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนและสมดุล : ทางออกของสังคมโลก”

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ