PwCเผยผลสำรวจThailand Economic Crime Surveyชี้ ‘ภัยทุจริตคอรัปชั่นและไซเบอร์คราม’ พุ่งส่งผลต่อความเสี่ยงเศรษฐกิจไทยแนะธุรกิจต้องปรับตัวรับมือ AEC

ข่าวเทคโนโลยี Tuesday November 20, 2012 14:20 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 พ.ย.--PwC ธุรกิจไทยต้องตื่นตัวและตระหนักถึงภัย ‘อาชญากรรมทางเศรษฐกิจ’ เพื่อขจัดปัญหาการทุจริตและป้องกันการสูญเสียของทรัพย์สินรวมทั้งเพื่อเป็นการเตรียมรับมือกับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่กำลังจะมาถึง คาดแนวโน้มภัยมืดทุจริตองค์กรทะยานต่อในอีก 3-5 ปีข้างหน้า ปัญหาอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (Economic Crime หรือ White Collar Crime) ของประเทศไทย มีแนวโน้มที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้า หลังผลสำรวจล่าสุดพบมีบริษัทไทยถึงร้อยละ 35 ที่ตกเป็นเหยื่อการทุจริตองค์กรในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมานำหน้าภูมิภาค ภาคธุรกิจและรัฐบาลต้องตื่นตัวในการแก้ปัญหาพร้อมมีมาตรการในการป้องกันอย่างจริงจัง และเป็นระบบ เพื่อสร้างศักยภาพในการแข่งขันและเตรียมความพร้อมก่อนการก้าวไปสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน PwC ประเทศไทย (ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส) เผยผลสำรวจ อาชญากรรมทางเศรษฐกิจ Thailand Economic Crime Survey ซึ่งถูกจัดทำขึ้นเป็นครั้งแรกสำหรับประเทศไทย พบว่า มีบริษัทไทยที่ทำการสำรวจถึงร้อยละ 35 ที่ตกเป็นเหยื่อการทุจริตองค์กรประเภทใดประเภทหนึ่ง หรือมากกว่าในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา โดยเปรียบเทียบกับผลสำรวจโดยเฉลี่ยในระดับโลกที่ร้อยละ 34 และผลสำรวจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่ร้อยละ 31 นาย ศิระ อินทรกำธรชัย ประธานกรรมการบริหาร PwC ประเทศไทย กล่าวว่า ธุรกิจไทยต้องหันมาให้ความสนใจในการแก้ปัญหาทุจริตองค์กรอย่างจริงจังและควรต้องมีมาตรการการป้องกันการทุจริตองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็น โปรแกรมการให้ข้อมูล (Whistleblower) เพื่อลดปัญหาการประพฤติมิชอบและการรับสินบน รวมทั้งกระบวนการตรวจสอบการประมูลและการจัดซื้อ (Bidding and procurement) ต่างๆอย่างเป็นธรรมและมีเอกภาพ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ถูกนักลงทุนต่างชาติมองว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความไม่แน่นอนสูงในการทำธุรกิจ “ผลการสำรวจพบว่า แนวโน้มของการฉ้อโกงที่ซับซ้อนมากขึ้น การทุจริตคอรัปชั่น รวมทั้งอาชญากรรมทางอินเตอร์เน็ตและเทคโนโลยีสารสนเทศของประเทศไทย จะยิ่งมีมากขึ้นในระยะ 3-5 ปีข้างหน้า เพราะฉะนั้นมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ธุรกิจไทยอย่างเราๆ และทุกภาคส่วน ต้องหันมาแก้ปัญหาอย่างตรงจุด” นายศิระ กล่าว “แน่นอนว่า ปัญหาอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ คงไม่สามารถขจัดให้หมดสิ้นไปอย่างเด็ดขาด หากปราศจากความร่วมมืออย่างจริงจังจากภาครัฐ และภาคเอกชน รวมทั้งความร่วมมือระหว่างประเทศในการแก้ปัญหา แต่สิ่งที่ภาคธุรกิจทำได้โดยไม่ต้องรอ คือการหามาตรการป้องกันที่เหมาะสม โดยไม่รอให้ปัญหาเกิดขึ้นมาก่อนแล้วค่อยมาแก้,” เขา กล่าว ทั้งนี้ ผลสำรวจ อาชญากรรมทางเศรษฐกิจ Thailand Economic Crime Survey เป็นส่วนหนึ่งของผลสำรวจประจำปี PwC’s Global Economic Crime Survey ครั้งที่ 6 ดำเนินการโดย PwC Forensic Services ผ่านการเก็บข้อมูลจากนักธุรกิจและผู้นำในอุตสาหกรรมต่างๆจำนวน 3,877 รายใน 72 ประเทศทั่วโลก รวมทั้งบริษัทชั้นนำจากประเทศไทยจำนวน 79 ราย ในเรื่องของรูปแบบอาชญากรรมทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ผลสำรวจพบว่า ร้อยละ 25 ของธุรกิจที่ทำการสำรวจประสบปัญหาพฤติกรรมกีดกันทางการค้า (Anti-competitive practices) ซึ่งหมายรวมถึง การตั้งราคาสินค้า การตกลงร่วมกันกำหนดราคาประมูล (การฮั้วประมูล) หรือการกำหนดส่วนแบ่งการตลาด โดยผลสำรวจของไทยสูงกว่าผลสำรวจโดยเฉลี่ยในระดับโลกถึงกว่าสามเท่า (ร้อยละ 7) และเปรียบเทียบกับผลสำรวจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่ร้อยละ 7 เช่นเดียวกัน นอกจากนี้ ผลสำรวจยังพบว่าธุรกิจไทยถึงร้อยละ 79 พบการทุจริตที่เกิดขึ้นมาจากคนภายในองค์กร (Internal) โดยมากกว่าระดับโกลบอลที่ร้อยละ 56 และในขณะเดียวกัน มีผู้ถูกสำรวจมากกว่าร้อยละ 80 ที่กล่าวว่าการทุจริตที่พบนั้นส่วนใหญ่เกิดจากผู้บริหารระดับกลางถึงอาวุโส มากกว่าที่จะเป็นพนักงานระดับจูเนียร์ ด้าน นาย วรพงษ์ สุธานนท์ หุ้นส่วนสายงาน Forensics Advisory และผู้จัดทำผลสำรวจนี้ กล่าวว่า เป็นที่น่ากังวลมากที่มีบริษัทไทยที่ถูกทำการสำรวจมากกว่าครึ่ง ที่ไม่เคยมีการประเมินความเสี่ยงทุจริตหรือไม่ทราบเลยว่าองค์กรของตนมีระบบการจัดการประเมินความเสี่ยงในเรื่องนี้หรือไม่ “ทุกท่านคงทราบดีว่า Fraud เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ย่อมจะส่งผลกระทบร้ายแรงต่อกำไรสุทธิของบริษัท และนำมาคิดเป็นต้นทุนค่าใช้จ่ายในการทำธุรกิจ เพราะฉะนั้นหากเรา (บริษัทไทย) ต้องการที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันรวมทั้งเตรียมความพร้อมก่อนการก้าวไปสู่ AEC อย่างจริงจัง ผมมองว่า ความเสี่ยงในประเด็นนี้เป็นเรื่องที่เราเพิกเฉยไม่ได้,” นาย วรพงษ์ กล่าว กฏหมายป้องกันการให้สินบนแก่ข้าราชการต่างประเทศ หรือ US Foreign Corrupt Practices Act (FCPA) ของสหรัฐอเมริกา และ UK Anti-Bribery Act ของสหราชอาณาจักร ที่มีการบังคับใช้อย่างเคร่งครัด ยิ่งทำให้บริษัทไทยต้องมีมาตรการในการต่อต้านและปราบปรามคอรัปชั่นอย่างเป็นเข้มแข็ง ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันตนเองจากการถูกฟ้องร้อง ดำเนินคดี (Prosecution) จากการกระทำใดๆที่อาจขัดต่อกฏหมายต่อต้านการกระทำทุจริต รวมทั้งยังเป็นการป้องกันการเสื่อมเสียชื่อเสียงที่อาจเกิดขึ้น นาย วรพงษ์ กล่าว “บริษัทไม่สามารถโยนความผิด หรือผลักภาระความรับผิดชอบไปที่พนักงาน ซัพพลายเออร์ หรือคู่ค้าท้องถิ่นใดๆ แต่ต้องมีระบบการจัดการในเรื่องนี้อย่างมีประสิทธิภาพและครอบคลุมทั่วทั้งองค์กร,” เขากล่าว นอกจากนี้ อาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ หรือที่รู้จักดีในชื่อ ‘ไซเบอร์คราม’ ยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้า โดยร้อยละ 27ของผู้ที่ตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมทางเศรษฐกิจในระยะ 12 เดือนที่ผ่าน คาดว่าความเสี่ยงจากไซเบอร์ครามต่อธุรกิจจะยิ่งมีเพิ่มมากขึ้นในขณะที่ร้อยละ 67 มองว่าจะอยู่ในระดับเดิม และมีเพียงร้อยละ 6 ที่เชื่อว่าความเสี่ยงจะลดลง ในท้ายที่สุด ผลสำรวจยังพบว่า การยักยอกสินทรัพย์ (Asset misappropriation) การรับสินบนและคอรัปชั่น (Bribery and corruption) และพฤติกรรมกีดกันทางการค้า (Anti-competitive practices) เป็นรูปแบบการทุจริตสามอันดับแรกที่พบมากที่สุดสำหรับประเทศไทย “เป็นที่ยอมรับว่า อาชญากรรมทางเศรษฐกิจได้มีการขยายตัว สร้างเครือข่ายอย่างเป็นระบบ ครอบคลุมไปทั่วทั้งโลกอันเป็นผลจากกระแสโลกาภิวัฒน์ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนสะท้อนให้เห็นว่า อาชญากรรมทางเศรษฐกิจ คือ อาชญากรรมที่ก่อให้เกิดผลเสียหายแก่เศรษฐกิจของปัจเจกชนและประเทศชาติส่วนรวม ทำลายความน่าเชื่อถือและความมั่นคงทางธุรกิจ จึงไม่ใช่ปัญหาของประเทศหนึ่งประเทศใดอีกต่อไป,” นายวรพงษ์ กล่าว
แท็ก thailand   อาเซียน  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ