ม.อ.สร้างตู้หุงข้าวไอน้ำ เน้นหุงปริมาณมากใช้เวลาน้อย หวังลดความเสี่ยงขาดแคลนอาหาร รองรับวิกฤติภัยพิบัติ

ข่าวทั่วไป Wednesday November 28, 2012 12:42 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 พ.ย.--มาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ ม.อ. สร้างตู้หุงข้าวด้วยไอน้ำกำลังผลิตสูง ชูจุดเด่นหุงข้าวได้ครั้งละ 25 กก. ภายในเวลา 55 นาที และสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงน้อย หวังลดปัญหาการขาดแคลนอาหารของชุมชนในช่วงเกิดภัยพิบัติใหญ่ นายสุทธิรักษ์ เพชรรัตน์ นักวิทยาศาสตร์ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ในฐานะหัวหน้าโครงการผลิตตู้หุงข้าวด้วยไอน้ำกำลังการผลิตสูง เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีความเสี่ยงด้านภัยพิบัติสูงขึ้น อย่างกรณีการเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ในช่วงที่ผ่านมา และปัญหาที่มักจะพบในช่วงภัยพิบัติดังกล่าว คือ การที่ผู้ประสบภัยไม่สามารถหุงหาอาหารโดยการใช้กระแสไฟฟ้าได้ ทำให้เกิดภาวะขาดแคลนอาหาร จากปัญหาดังกล่าว ทำให้คณะอุตสาหกรรมเกษตร ม.อ. ได้คิดค้นประดิษฐ์ตู้หุงข้าวด้วยไอน้ำกำลังการผลิตสูง เพื่อใช้เป็นเครื่องมือหุงข้าวให้ได้ปริมาณมากในเวลาจำกัด โดยใช้แก๊สหุงต้มเป็นแหล่งให้ความร้อน ซึ่งได้รับการทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ หรือ สสส. ตามโครงการมหาวิทยาลัยช่วยเหลือสังคมที่ประสบอุทกภัย ทั้งนี้ ตู้หุงข้าวที่ประดิษฐ์ขึ้นนั้น ออกแบบให้ตู้มีขนาดที่เหมาะสม มีพื้นที่ใช้งานเพียง 1 ตารางเมตร สามารถบรรจุถาดหุงข้าวได้จำนวน 10 ถาด แต่ละถาดสามารถหุงข้าวได้ 2.5 กิโลกรัม หรือคิดเป็นครั้งละ 25 กิโลกรัม โดยใช้เวลาหุงข้าวให้สุกครั้งแรกภายใน 55 นาที และเมื่อหุงครั้งถัดไปในขณะที่ตู้ยังร้อนอยู่จะลดเวลาการหุงข้าวลงเหลือ 42 นาที โดยมีอัตราการสิ้นเปลืองแก๊สหุงต้มอยู่ที่ 1.1 กิโลกรัมต่อชั่วโมง และตู้ยังสามารถเก็บรักษาอุณหภูมิของข้าวหรือทำให้ข้าวอุ่นได้นานกว่า 12 ชั่วโมง นอกจากนี้ ระยะเวลาการสร้างตู้ข้าวด้วยไอน้ำกำลังการผลิตสูง ใช้เวลาเพียง 2 อาทิตย์ โดยใช้สแตนเลส ซึ่งมีคุณสมบัติทนความร้อน ไม่เกิดสนิมและมีความแข็งแรงคงทน โดยออกแบบให้ตู้มีประสิทธิภาพการใช้งานสูงด้วยการใส่แท่งโลหะร้อนไว้ภายในหม้อต้มน้ำ เพื่อเพิ่มพื้นที่ผิว ช่วยให้หม้อต้มน้ำได้รับความร้อนจากแก๊สและถ่ายเทความร้อนได้ดีขึ้น และยังช่วยชะลอความเร็วของเปลวไฟ ส่งผลให้น้ำเดือดเร็วกว่าการใช้หม้อต้มปกติถึง 20% “ด้วยจุดเด่นด้านการออกแบบที่คำนึงถึงความสะดวกในการเคลื่อนย้าย ปริมาณการหุงข้าวจำนวนมาก แต่สิ้นเปลืองพลังงานต่ำ ทำให้ตู้หุงข้าวกำลังการผลิตสูงเหมาะแก่การนำไปใช้ในพื้นที่ภัยพิบัติเพื่อช่วยเหลือประชาชนในชุมชนที่ประสบภัย ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการขาดแคลนอาหารในภาวะวิกฤติได้” นายสุทธิรักษ์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ