ผลจากการวิจัยพบว่า ไคติน —ไคโตซาน ช่วยทำให้เลือดในหลอดทดลองแข็งตัว สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการใช้เป็นวัสดุห้ามเลือด

ข่าวทั่วไป Thursday October 14, 2004 11:00 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 ต.ค.--สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย
จากการที่เปลือกกุ้ง กระดองปู และแกนปลาหมึก ราคากก.ละ 3 — 4 บาท เมื่อนำมาสกัดเป็นไคติน ขายได้ราคาจาก กก.ละ 200 บาท และเมื่อไคตินไปสกัดเป็นไคโตซาน จะมีราคาถึง กก.ละ 700 — 2,500 บาท
ปัจจุบันได้มีการนำไคติน - ไคโตซาน ไปวิจัยและพัฒนาในเครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว ด้านอุตสาหกรรมและสิ่งทอ
ในวงการแพทย์ นักวิจัยจากศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ โดยทีมวิจัย ประกอบด้วย คุณปวีณา อุปนันต์ และคณะในโครงการวิจัย เรื่อง การศึกษาผลของไคติน - ไคโตซาน และอนุพันธ์ต่อการแข็งตัวของเลือดในหลอดทดลอง
คุณปวีณา อุปนันต์ เปิดเผยว่า งานวิจัยดังกล่าว เกิดจากแนวความคิดที่ว่า เวลาคนเราได้รับบาดแผล หรือเกิดอุบัติเหตุทำให้เกิดเลือดออก จำเป็นต้องมีวัสดุห้ามเลือด เพื่อปิดปากแผล ไม่ให้เลือดไหล ในต่างประเทศมีการคิดค้นสารตัวอื่น ซึ่งมิใช่สิ่งที่มีชีวิต อาจมีผลข้างเคียงได้ จึงคิดว่าการใช้วัสดุจากธรรมชาติ คือ ไคติน — ไคโตซาน นำมาทดลอง น่าจะไม่มีผลเป็นพิษต่อคนรวมทั้งเป็นวัสดุที่เกิดขึ้นภายในประเทศ ถ้าทำได้อาจจะมีประโยชน์ต่อการรักษาในวงการแพทย์ต่อไป
จากผลการทดลอง พบว่าการใช้ไคโตซาน เป็นวัสดุห้ามเลือดในหลอดทดลองมีความเป็นไปได้ ต่อไปจะได้นำการวิจัยไปใช้กับสัตว์ทดลอง เช่น หนู เพื่อจะดูว่าการใช้กับสิ่งที่มีชีวิต
ผู้สนใจงานวิจัยดังกล่าว จะสามารถไปสอบถามได้ในการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วทท.) ครั้งที่ 30 ในวันที่ 20 ตุลาคม 2547 ซึ่งสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดขึ้น ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี กรุงเทพฯ
การวิจัยไคติน — ไคโตซาน นำมาใช้ประโยชน์ได้มาก
ในแต่ละปี ประเทศไทยมีการส่งออกอาหารทะเลแช่แข็งเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะกุ้ง ปู และปลาหมึก อัตราการส่งออกนี้เป็นดัชนีแสดงถึงกากของเสียที่เกิดขึ้นจากขบวนการผลิต อาทิ เปลือกหัวกุ้ง กระดองปู และแกนปลาหมึก ในปัจจุบันของเหลือเหล่านี้ถูกขายให้กับโรงงานผลิตอาหารสัตว์ในราคาที่ต่ำมาก ประมาณ กก.ละ 3-4 บาท เท่านั้น
รศ. สุวลี จันทร์กระจ่าง ที่ปรึกษาคณะวิจัยศูนย์วัสดุชีวภาพไคติน-ไคโตซาน สถาบันวิจัยและวัสดุ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่าการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่ม โดยการนำของเหลือจากทะเล เปลือกหัวกุ้ง กระดองปู และแกนปลาหมึกมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่เรียกว่า ไคติน และไคโตซาน จะทำให้มีราคาถึง กก.ละ 200 บาท และ 700 — 2,500 บาท ตามลำดับ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับคุณภาพของไคโตซานที่ได้
สำหรับไคตินเป็นวัสดุชีวภาพ มีความหลากหลายและสมบัติที่โดดเด่น อาทิ มีความเป็นประจุบวกสูง สามารถทำให้เป็นแผ่นฟิล์มที่มีความเข้ากันได้ทางชีวภาพ สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ ไม่มีพิษและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการผลิตภัณฑ์และอุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้ดังนี้
ด้านการแพทย์ — เภสัชกรรม อาทิเป็นวัสดุตกแต่งแผลและควบคุมการปลดปล่อยของยาด้านเกษตร ใช้เคลือบเมล็ดพันธุ์พืชและเป็นสารกระตุ้นการเจริญเติบโตของพืช ด้านเครื่องสำอางใช้เป็นสารเติมแต่งในแป้งทาหน้า แชมพู สบู่ และครีมทาผิว ด้านอุตสาหกรรมสิ่งทอและกระดาษ ใช้รักษาความสดใสของสีผ้า ระบายเหงื่อ ยังยั้งการเจริญเติบโตของพืช ด้านการแยกทางชีวภาพ อาทิ การทำเป็นแผ่นเมมเบรน เพื่อใช้ในการกรองแยกด้วยเทคนิคต่าง ๆ ส่วนประโยชน์อื่น อาทิ บรรจุภัณฑ์ สารเพิ่มความหนืด เป็นต้น
จากการศึกษาและวิเคราะห์สถานภาพของโรงงานผู้ผลิตและตลาดการใช้ไคติน-ไคโตซานในประเทศไทยพบว่า ประเทศไทยมีความพร้อมทางด้านวัตถุดิบสำหรับการผลิตไคติน-ไคโตซาน จะเห็นได้จากปริมาณการส่งออก นำเข้าและการบริโภคในประเทศ สำหรับกุ้ง ปูและปลาหมึก จากการเก็บรวบรวมข้อมูลในปี พ.ศ. 2536-2543 จากหน่วยงานราชการพบว่า ประเทศไทยมีปริมาณมวลรวมของการส่งออก นำเข้าและบริโภคในประเทศ สำหรับกุ้ง ปู และปลาหมึกประมาณ 390,000, 57,000 และ 190,000 ตัน/ปี ตามลำดับ โดยเฉพาะกุ้ง พบว่ากากของเหลือที่เกิดจากกุ้ง อาทิ เปลือกและหัวกุ้ง มีอยู่ประมาณ 30-40% ของน้ำหนักกุ้งทั้งหมด ซึ่งเมื่อนำมาคำนวณหาปริมาณกากจะพบว่า ประเทศไทยมีกากกุ้ง โดยเฉลี่ยประมาณ 117,000 — 156,000 ตัน/ปีเลยทีเดียว
การผลิตไคตินและไคโตซาน สามารถผลิตได้ด้วยวิธีทางชีวภาพและทางเคมี โดยวิธีทางชีวภาพนั้น จะเป็นการผลิตโดยใช้จุลชีพหรือเอ็นไซม์เข้ามาเกี่ยวข้อง และมักจะใช้วิธีนี้ร่วมกับวิธีทางเคมี อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยหลายอย่างที่มีผลต่อคุณภาพของไคโตซาน ได้แก่ อุณหภูมิ ระยะเวลาในการทำปฏิกิริยา ความเข้มข้นของด่าง สภาวะและขั้นตอนในการผลิตไคติน อัตราส่วนของไคตินต่อสารต่อสารละลายด่างเข้มข้น ซึ่งในแต่ละแห่งจะใช้สภาวะที่แตกต่างกัน ดังนั้น การศึกษาวิจัยเพื่อหาสภาวะที่เหมาะสมสำหรับไคโตซานที่มีคุณลักษณะจำเพาะ และสามารถควบคุมคุณภาพให้คงที่ในการผลิตแต่ละครั้ง จะสามารถสร้างความมั่นใจให้กับผู้ซื้อ และหากสามารถนำสารเคมีกลับมาใช้ใหม่จะสามารถช่วยลดต้นทุนในการผลิตลงได้
สำหรับประเทศไทยตลาดส่วนใหญ่ใช้ไคโตซานในด้านการเกษตร และมีส่วนน้อยที่ใช้ในด้านเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เมื่อเปรียบเทียบกันตลาดต่างประเทศพบว่าประเทศไทยยังขาดงานวิจัยที่สามารถนำมาใช้ได้จริงในเชิงอุตสาหกรรม และขาดการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตไคติน-ไคโตซานที่มีคุณภาพสูงและราคาถูกกว่าต่างประเทศด้วย
ผู้สนใจจะเข้าฟังรายละเอียด โครงการวิจัยไคติน-ไคโตซานได้ในการประชุมวิชาการวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วทท.) ครั้งที่ 30 ในวันที่ 19-21 ตุลาคม 2547 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี กรุงเทพฯ ซึ่งสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกันจัดเพื่อเฉลิมฉลองสมโภช 200 ปี แห่งการพระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย
วิจัยพบน้ำมันว่านสาวหลง สามารถนำไปผลิตเป็นน้ำหอม
สามารถนำว่านสาวหลงมาสกัดกลิ่นหอมในรูปน้ำมันหอมระเหย ในตำราใช้เป็นส่วนประกอบของยาบำรุงร่างกาย ใช้ปรุงเครื่องสำอางและเครื่องหอม เหมาะสมสำหรับธุรกิจสปา
ศิรินันท์ ทับทิมเทศ ฝ่ายเภสัชและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ว่านสาวหลง เป็นพืชสมุนไพรในตำรายาไทยโบราณ ใช้เป็นส่วนประกอบของยาบำรุงร่างกาย และใช้ในการปรุงเครื่องสำอางและเครื่องหอม ทุกส่วนของว่านสาวหลงมีกลิ่นหอม สามารถสกัดกลิ่นหอมระเหยได้โดยใช้วิธีการกลั่นด้วยไอน้ำเป็นเวลา 7 ชั่วโมง ได้น้ำมันสีเหลืองอ่อนมีกลิ่นหอมเฉพาะตัวในปริมาณร้อยละ 1.0
การศึกษาฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง โดยการสูดดมในหนูขาวของน้ำมันว่านสาวหลงด้วยวิธีทดสอบการเคลื่อนที่โดยใช้ activity cage ที่มีแสงอินฟาเรดเป็นตัวตรวจจับการเคลื่อนที่ของสัตว์ทดลอง โดยแบ่งหนูออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกให้ดมน้ำมันว่านสาวหลงที่ความเข้มข้นร้อยละ 5 กลุ่มที่สองให้ดมน้ำมันลาเวนเดอร์ที่ความเข้มข้นร้อยละ 5 เป็นกลุ่มควบคุมบวก เนื่องจากมีรายงานว่าน้ำมันลาเวนเดอร์มีฤทธิ์ทำให้สัตว์ทดลองผ่อนคลายหลังจากสูดดม และกลุ่มสุดท้ายดมน้ำกลั่น เป็นกลุ่มควบคุมจากการทดลองพบว่าน้ำมันว่านสาวหลงทำให้หนูมีการเคลื่อนที่ลดลงเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุมและมีฤทธิ์เทียบเท่ากับน้ำมันลาเวนเดอร์
ปัจจุบันมีชาวบ้านนำว่านสาวหลงมาสกัดเป็นน้ำหอมกันบ้างแล้ว แต่ยังมิได้ดำเนินกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์ เนื่องจากว่านสาวหลงเป็นพืชในตระกูลขิง ข่า มีขึ้นเป็นจำนวนมากในประเทศไทย ถ้าผลการวิจัยพบวิธีที่จะดำเนินการในรูปอุตสาหกรรมจะเป็นการช่วยสร้างรายได้ให้กับประเทศในรูปของธุรกิจสปา ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมอยู่ในขณะนี้
ผู้สนใจจะเข้าฟังรายละเอียดได้ในการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วทท.) ครั้งที่ 30 ซึ่งสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดขึ้นในวันที่ 19-21 ตุลาคม 2547 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี กรุงเทพฯ
วิจัยสังเคราะห์และพิสูจน์เอกลักษณ์ของสารเรืองแสงสีน้ำเงิน
เพื่อเอาไปทำจอทีวีและโทรศัพท์มือถือ
พัฒนาโมเลกุลเรืองแสงสีน้ำเงินกำลังได้รับความสนใจ เนื่องจากเป็นหนึ่งในแม่สีที่เป็นองค์ประกอบสำคัญในการประกอบเป็นหน้าจอแสดงภาพสี มีความเป็นไปได้ที่จะนำมาประยุกต์ผลิตใช้ในทางการค้าสำหรับหน้าจอโทรทัศน์ จอคอมพิวเตอร์และหน้าจอโทรศัพท์มือถือได้
ดร.วินิจ พรมอารักษ์ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เปิดเผยว่า ปัจจุบันนี้ไดโอดเรืองแสงที่มีสารเรืองแสงเป็นสารอินทรีย์ที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก ทั้งนี้เนื่องจากความเป็นไปได้สูงที่จะนำเทคโนโลยี OLED มาประยุกต์ผลิตใช้ในทางการค้า เช่น ใช้ในการผลิตหน้าจอแสดงภาพสี ที่มีลักษณะบาง มีขนาดใหญ่และน้ำหนักเบาสำหรับหน้าจอโทรทัศน์ หน้าจอคอมพิวเตอร์ และหน้าจอโทรศัพท์มือถือ
การพัฒนาโมเลกุลที่เรืองแสงสีน้ำเงินก็เป็นส่วนหนึ่งที่กำลังได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากว่าเป็นหนึ่งในแม่สีที่เป็นองค์ประกอบสำคัญในการที่จะประกอบเป็นหน้าจอแสดงภาพสีโมเลกุล โดยส่วนใหญ่ที่มีการศึกษาเพื่อใช้เป็นสารเรืองแสงสีน้ำเงินใน OLED แต่อย่างไรก็ตาม แสงที่ได้จากโมเลกุลเหล่านี้มักจะเป็นสีน้ำเงิน — เขียว นอกจากโมเลกุลเหล่านี้ยังมีคุณสมบัติเป็นสารส่งผ่านประจุลบได้อีกด้วย และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเรืองแสง เมื่อประกอบเป็นไดโอด มักจะต้องมีชั้นสารส่งผ่านประจุบวก เพื่อดุลอัตราการไหลของประจุลบและบวกจากอิเล็กโทรน ดังนั้น เป้าหมายในงานวิจัยนี้คือการพัฒนาสารอินทรีย์ที่มีคุณสมบัติที่เป็นทั้งสารเรืองแสงสีน้ำเงินที่บริสุทธิ์และสารที่ส่งผ่านประจุบวกที่ดีภายในโมเลกุลเดียวกัน สำหรับใช้เป็นสารเรืองแสงสีน้ำเงินในไดโอดเรืองที่มีสารเรืองแสงเป็นสารอินทรีย์ จากการศึกษาพบว่าสารเป้าหมายเหล่านี้สามารถเรืองแสงในช่วงสีน้ำเงินอย่างมีประสิทธิภาพดี ซึ่งน่าจะนำมาประยุกต์ใช้เป็นสารเรืองแสงสีน้ำเงินใน OLED ได้ดี
ผู้สนใจจะเข้าฟังรายละเอียดได้ในการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วทท.) ครั้งที่ 30 ซึ่งสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดขึ้นในวันที่ 19-21 ตุลาคม 2547 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี กรุงเทพฯ--จบ--
--อินโฟเควสท์ (นท)--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ