เผยบริการแพทย์ใกล้บ้านในเมืองเหลว จับตานโยบายผู้ว่า กทม. คนใหม่สังคายนาใหม่

ข่าวทั่วไป Monday December 24, 2012 15:25 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 ธ.ค.--สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เวทีเสวนาเครือข่าย “บริการปฐมภูมิ ใกล้บ้าน ใกล้ใจ” เสนอคน กทม.เลือกตั้งผู้ว่าราชการกทม.คนใหม่ เน้นดูนโยบายแก้ไขปัญหาสุขภาพคนเมือง เร่งปรับปรุงคลินิกบริการสาธารณสุขระดับปฐมภูมิ ลดค่าใช้จ่ายและความแออัดในโรงพยาบาลใหญ่ หลังพบคนรากหญ้าไม่ได้ใช้บริการเท่าที่ควร เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2555 ที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 5 พ.ศ. 2555 จัดเวทีเสวนา “บริการปฐมภูมิ ใกล้บ้านใกล้ใจ เมืองใหญ่และ กทม. จะเดินหน้าอย่างไร” เพื่อร่วมกันหาแนวทางแก้ไขการเข้าถึงระบบบริการปฐมภูมิของคนเมือง เพื่อให้คนในเขตเมืองได้รับการดูแลที่ดี น.ส.บุญยืน ศิริธรรม กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สัดส่วนตัวแทนภาคประชาชน กล่าวว่า การให้บริการสาธารณสุขแบบปฐมภูมิในเมืองวันนี้มีหลักการเพื่อลดความแออัดของผู้ป่วยในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ แต่ในข้อเท็จจริงต้องเรียกว่ายังเป็นแบบ “ใกล้บ้าน ใกล้ตาย” มากกว่า “ใกล้บ้าน ใกล้ใจ” และที่ตายแน่ๆ คือกรณีมีคลินิกอยู่ใกล้ๆ บ้านแต่กลับเข้ารักษาไม่ได้เพราะติดโควต้าหรือมีผู้ขึ้นทะเบียนใช้สิทธิ์เต็ม ทำให้ต้องใช้บริการยังคลินิกที่อยู่ห่างไกลออกไป กลายเป็นอุปสรรต่อการเข้าถึงบริการ สร้างความอึดอัดให้กับผู้ป่วยจากระเบียบหลักเกณฑ์ที่ถูกกำหนดขึ้นจนกลายเป็นจุดบอด จึงต้องบอกว่าคนเมืองใหญ่โชคไม่ดี แม้ว่าจะโรงพยาบาลขนาดใหญ่อยู่มากแต่กลับเข้าไม่ถึง ต่างกับคนในต่างจังหวัดที่ระบบปฐมภูมิถูกจัดระบบไว้ดี มีหมอ หน่วยพยาบาลมาเยี่ยมถึงบ้าน ซ้ำยังมีกองทุนสุขภาพพตำบลที่ไว้ดูแลกันเอง ขณะที่คนในเมืองกลับไม่มีสิ่งเหล่านี้ “เรื่องสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญ คลินิกก็เป็นหน่วยจุดเริ่มต้นของบริการรักษาพยาบาล แต่เป็นอุปสรรค การเข้าถึงบริการระดับสูงก็จะยิ่งเป็นปัญหา ดังนั้นในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งนี้ ไม่ใช่ดูเพียงแต่นโยบายแก้ไขปัญหาน้ำท่วม แต่ต้องดูในเรื่องการแก้ไขปัญหาระบบสุขภาพคนเมือง ซึ่งเรื่องสุขภาพถือเป็นเรื่องสำคัญยิ่งว่าเรื่องใด” กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกล่าว และว่าปัญหาเข้าถึงการรักษาไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะผู้ป่วยในระบบบัตรทองเท่านั้น แต่รวมถึงผู้ป่วยในระบบประกันสังคมและระบบสวัสดิการข้าราชการด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ การมุ่งเน้นรักษาพยาบาลระดับปฐมภูมิ ถือเป็นทิศทางที่สอดคล้องกับธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2552 หมวด 6 เรื่องบริการสาธารณสุขและการควบคุมคุณภาพ ระบุให้รัฐส่งเสริมการให้บริการสาธารณสุขปฐมภูมิ ที่จัดโดยแพทย์หรือบุคลากรด้านสาธารณสุขประจำครอบครัว เพื่อให้บริการครอบคลุมอย่างทั่วถึงทั้งเขตเมืองและชนบท โดยต้องทำงานในเชิงรุกเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาสุขภาพของประชาชนร่วมกับท้องถิ่น ชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเชื่อต่อกับระบบบริการสาธารณสุขอื่นๆ โดยมีระบบส่งต่อที่มีประสิทธิภาพ น.ส.กรนุช แสงแถลง ผู้ประสานงานสนับสนุนเครือข่ายผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า การที่ผู้ป่วยไม่สามารถใช้บริการรักษาพยาบาลคลินิกใกล้บ้านถือเป็นเรื่องใหญ่ ทั้งที่ปฐมภูมิถือเป็นด่านแรกของการเข้ารับการรักษา ส่งผลให้ผู้ป่วยต้องรับไปใช้บริการในคลินิกที่ไกลออกไป ซ้ำยังทำให้ขาดการบริการเชิงรุก การคัดกรองปัญหาสุขภาพ ส่งผลให้สุขภาพคนเมืองไม่ได้รับการดูแล แย่กว่าคนที่อยู่ในชนบท ทั้งนี้ยอมรับว่าคลินิกชุมชนอบอุ่นใกล้บ้านใกล้ใจหลักการดี แต่ยังไม่เป็นไปตามหลักการที่วางไว้ ซึ่งทาง สปสช.พยายามแก้ไขปัญหาอยู่ นพ.พูลชัย จิตอนันตวิทยา ประธานฝ่ายการแพทย์ บริษัท วิสาหกิจสุขภาพชุมชน จำกัด กล่าวว่า คลินิกชุมชนอบอุ่น ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เดิมมีเพียง 50 แห่ง ปัจจุบันขยายเป็น 160 แห่งแล้ว แต่ต้องตั้งคำถามว่าระบบที่มีวันนี้เหมาะกับคนเมืองหรือไม่ เพราะผู้เข้ารับบริการ ไม่ได้มีเพียงผู้มีสิทธิ์บัตรทอง ซึ่งมีสัดส่วนเพียงแค่ 30% เท่านั้น ที่เหลือเป็นผู้มีสิทธิ์ในระบบประกันสังคม (สปส.) ระบบสวัสดิการข้าราชการ ประกันเอกชนและจ่ายเงินเอง สะท้อนถึงการจัดบริการระดับปฐมภูมิที่ไม่เพียงพอ อีกทั้งการขยายหน่วยบริการก็มีปัญหาพื้นที่จำกัด ทำให้คนเมืองส่วนใหญ่ต้องดิ้นรนเข้าถึงการรักษากันเอง ซึ่งบ่อยครั้งต้องใช้บริการคลินิกนอกเวลาในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่ต้องจ่ายค่าบริการเพิ่ม 500 บาท ซ้ำพบแพทย์ไม่ถึง 2 นาทีเหมือนกับในเวลา และไม่มีการติดตามดูแลต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่านมาตนได้เปิดโครงการคลินิกทางด่วนเพื่อชุมชน โดยร่วมกับการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ในการใช้พื้นที่ว่างให้เกิดประโยชน์ “คนเมืองมีสิทธิ์การรักษาหลากหลาย แต่ระบบที่มีอยู่ก็ไม่เอื้อให้เข้าถึงบริการ ซึ่งการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานคร ต้องถามว่า จะบริหารเงิน 7,000 ล้านบาทที่เป็นงบสำนักการแพทย์ และบวกกับเงินเหมาจ่ายรายหัว สปสช.อย่างไร เพราะวันนี้ประชาชนที่เข้าถึงบริการถือว่าน้อยมาก เรียกว่าคนเมืองต้องเอาชีวิตรอดกันเอง” ประธานฝ่ายการแพทย์ บริษัท วิสาหกิจสุขภาพชุมชน จำกัดกล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ