60 ปีแห่งดีไซน์ สมรรถนะ และเทคโนโลยี

ข่าวยานยนต์ Tuesday January 15, 2013 10:18 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 ม.ค.--เวเบอร์ แชนวิค เชฟโรเลต เตรียมจัดจำหน่ายคอร์เวทท์ 2014 รุ่นใหม่ล่าสุดในช่วงปลายปีนี้ มาพร้อมกับพัฒนาการที่ถ่ายทอดมานานกว่าหกศตวรรษทั้งด้านดีไซน์ สมรรถนะ และเทคโนโลยี นับเป็นรถสปอร์ตที่มีอายุยาวนานที่สุดในโลกและมียอดจำหน่ายสูงที่สุดในสหรัฐอเมริกา ครองส่วนแบ่งตลาดรถสปอร์ตถึง 33 เปอร์เซ็นต์ หน้าประวัติศาสตร์ของคอร์เวทท์เริ่มต้นในเดือนนี้เมื่อ 60 ปีที่แล้ว หลังการเปิดตัวครั้งแรกที่งานเจนเนอรัล มอเตอร์ส โมโตรามา โชว์ในนิวยอร์ก ซึ่งคอร์เวทท์ ไม่ได้รับการยกย่องตั้งแต่แรกเริ่ม แต่สั่งสมชื่อเสียงในฐานะสปอร์ตอเมริกันมาอย่างต่อเนื่องหลายทศวรรษ ด้วยการพัฒนาทางเทคโนโลยีและคุณภาพอันยอดเยี่ยมมาอย่างต่อเนื่อง ก่อนมาถึงคอร์เวทท์ รุ่นปี 2014 ซึ่งนับเป็นเจนเนอเรชั่นที่เจ็ด คอร์เวทท์ ในอดีตแต่ละรุ่นได้รับการยกระดับเรื่อยมา มีการปรับดีไซน์ โครงสร้างและเทคโนโลยีครั้งใหญ่ รวมถึงขุมพลังขับเคลื่อน ช่วงล่างและแชสซีส์เช่นกัน ทำให้คอร์เวทท์ ยังคงยึดตำแหน่งรถสปอร์ตที่ดีขายดีที่สุดในอเมริกาไว้ได้ อย่างไรก็ตาม คอร์เวทท์ที่ผ่านมาทุกรุ่นยังคงใช้แนวคิดร่วมกัน ดังนี้ คอร์เวทท์ ทุกรุ่นเป็นรถสปอร์ตสองที่นั่ง เครื่องวางด้านหน้า ขับเคลื่อนล้อหลัง ฝากระโปรงหน้าที่ค่อนข้างยาวเสริมภาพลักษณ์ความทรงพลังได้เป็นอย่างดี คอร์เวทท์มาพร้อมกับตัวถังที่ใช้วัสดุผสมคอมโพสิต ตั้งแต่เส้นใยแก้วหรือไฟเบอร์กลาสในรุ่นแรกปี 1953 มาจนถึงวัสดุที่มีน้ำหนักเบากว่าและมีเทคโนโลยีก้าวหน้ามากขึ้นอย่างคาร์บอนไฟเบอร์ในปัจจุบัน เครื่องยนต์บล็อกเล็ก V8 เป็นขุมพลังมาตรฐานของคอร์เวทท์มาตลอดเกือบ 60 ปี คอร์เวทท์เป็นรถที่ใช้เทคโนโลยีอันก้าวล้ำอยู่เสมอซึ่งถูกถ่ายทอดไปถึงรถรุ่นอื่นของจีเอ็ม เช่นกัน ในหน้าประวัติศาสตร์เกือบ 60 ปีแห่งดีไซน์ สมรรถนะและเทคโนโลยีของคอร์เวทท์ ได้แรงบันดาลใจมาจากการพัฒนารถแข่ง เป็นรากฐานสำคัญที่เริ่มต้นโดยมร. โซร่า อาร์คุส-ดันทอฟ หัวหน้าทีมวิศวกรคนแรกของคอร์เวทท์ ที่ริเริ่มใช้เทคโนโลยีรถแข่งทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังมาสู่รถถนน ในปัจจุบันรถแข่งในโครงการคอร์เวทท์ เรซซิ่งก็ยังคงร่วมแข่งขันรายการ 2012 อเมริกัน เลอมังส์ ซีรีส์ในคลาส GT ซึ่งใช้รถแข่งจากพื้นฐานรถโปรดักชั่น ความโดดเด่นของคอร์เวทท์ ยังเฉิดฉายนอกเหนือสนามแข่งและบนท้องถนน โดยยังมีบทบาทการแสดงในภาพยนตร์หลายเรื่อง ตั้งแต่ซีรีส์โทรทัศน์ Route 66 (ระหว่างปี 1960-64) ไปจนถึงภาพยนตร์จอยักษ์ Corvette Summer (ออกฉายปี 1978) รวมถึงบทบาทสมทบในภาพยนตร์อีกหลายเรื่อง คอร์เวทท์ยังมอบแรงบันดาลใจในเนื้อเพลง งานศิลปะและวีดีโอเกม โดยเฉพาะภาคล่าสุดของซีรีส์แกรน ทัวริสโม ซึ่งคอร์เวทท์ เจนเนอเรชั่นที่เจ็ด ในโฉมพรางตัวรอบคันไปปรากฏโฉมให้คอเกมได้ทดลองขับกัน นอกจากนี้ยังมีเตียงสำหรับเด็กรูปทรงรถคอร์เวทท์ ผลิตโดยบริษัทสเตป 2 (Step2) พร้อมฟังก์ชั่นไฟหน้าออกจำหน่ายอีกด้วย เจนเนอเรชั่น 1 (ซี1) ปี 1953-62 คอร์เวทท์ สร้างชื่อเสียงด้วยการเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี การออกแบบและสมรรถนะตั้งแต่เปิดตัวรุ่นต้นแบบแรกที่มาพร้อมกับตัวถังไฟเบอร์กลาสที่งานเจนเนอรัล มอเตอร์ส โมโตรามาในโรงแรมวอลดอฟ แอสโตเรียใจกลางมหานครนิวยอร์กเมื่อวันที่ 17 มกราคม 1953 ก่อนที่สายการผลิตจะเริ่มต้นขึ้นในอีกหกเดือนถัดมา นับเป็นครั้งแรกในโลกที่มีการผลิตรถตัวถังไฟเบอร์กลาสออกจำหน่ายเป็นจำนวนมาก โดยนอกจากจะมีน้ำหนักเบากว่าโลหะทั่วไปแล้ว ยังช่วยยกระดับอัตราส่วนแรงม้าต่อน้ำหนักอีกด้วย ไฟเบอร์กลาสยังให้ความยืดหยุ่นมากกว่าในการออกแบบความโค้งมนของตัวถังรถ เหนือกว่าการปั๊มขึ้นรูปโลหะแบบดั้งเดิม คอร์เวทท์ เจนเนอเรชั่นแรกมีการปรับโฉมหลายครั้งและมีพัฒนาการที่ชัดเจน แต่ดีไซน์ที่เป็นเอกลักษณ์นั้นเริ่มโดดเด่นขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกรอบไฟท้ายทรงกลมคู่ ฝากระโปรงหน้าขนาดยาวและห้องโดยสายแบบดูอัลค็อกพิท ทั้งนี้ คอร์เวทท์ เจนเนอเรชั่นแรกทุกคันเป็นรถเปิดประทุน แฟนพันธุ์แท้คอร์เวทท์ มักเรียกชื่อเล่นรถสปอร์ตรุ่นแรกนี้ว่า “รุ่นคานแข็ง” เพราะได้รับการพัฒนาจากโครงสร้างรถยนต์นั่งที่ใช้ช่วงล่างหลังแบบคานแข็ง ขุมพลังขับเคลื่อนในช่วงสองปีแรกใช้บล็อก 6 สูบแถวเรียงที่เรียกว่า “บลูเฟรม” (Blue Flame) ส่วนเครื่องยนต์บล็อก V8 ถูกนำมาใช้งานตั้งแต่สายการผลิตในปีที่สามเป็นต้นไป เจนเนอเรชั่น 2 (ซี2) ปี 1963-67 คอร์เวทท์ เจนเนอเรชั่นที่สอง มีชื่อว่า “สติงเรย์” ตามชื่อเรียกขานของรถแข่งต้นแบบซึ่งส่งอิทธิพลถึงดีไซน์ภายนอกด้วย คอร์เวทท์ ซี2 ได้รับการปฏิวัติพลิกโฉมทั้งด้านการออกแบบ ระบบวิศวกรรม เทคโนโลยีและสมรรถนะการขับขี่ ในขณะที่คอร์เวทท์ รุ่นแรกพัฒนาบนพื้นฐานของรถยนต์นั่งซีดาน แต่คอร์เวทท์ เจนเนอเรชั่นที่สองนั้นออกแบบบนพื้นฐานของโครงสร้างแบบใหม่ทั้งหมด มีศูนย์ถ่วงต่ำกว่า มีตำแหน่งเบาะที่นั่งที่เตี้ยกว่าสไตล์สปอร์ต ช่วงล่างด้านหลังเป็นแบบอิสระซึ่งยกระดับประสิทธิภาพการขับขี่ได้อย่างแท้จริง เอกลักษณ์ใหม่ของคอร์เวทท์ เจนเนอเรชั่นที่สองคือกระจกหลังแบบแยกส่วนในรูปโฉมตัวถังแบบคูเป้ คอร์เวทท์ ปี 1963 มักได้รับการยกย่องว่าเป็นยนตรกรรมที่สวยงามสมบูรณ์แบบที่สุดในประวัติศาสตร์ยานยนต์ โดดเด่นด้วยเส้นสายที่พาดผ่านจากตรงกลางรถไปถึงกระจกหลังที่ถูกแบ่งแยกออกจากกัน นอกจากนี้ คอร์เวทท์ ซี2 ยังมาพร้อมกับกรอบไฟหน้าแบบพับเก็บได้อันเป็น “ลายเซ็น” ของคอร์เวทท์ ต่อเนื่องมาอีก 41 ปี การเพิ่มรูปแบบตัวถังสไตล์คูเป้ ทำให้คอร์เวทท์ สามารถเพิ่มยอดขายเป็นเท่าตัว เพราะสามารถตอบสนองการใช้งานของลูกค้าที่อาศัยทางตอนเหนือที่มีอากาศหนาวเย็น ขณะที่โครงสร้างแบบใหม่และระบบช่วงล่างด้านหลังแบบอิสระทำให้คอร์เวทท์กลายเป็นรถสปอร์ตระดับโลกขนานแท้ เจนเนอเรชั่น 3 (ซี3) ปี 1968-82 คอร์เวทท์ เจนเนอเรชั่นที่สามโลดแล่นอยู่ในตลาดยาวนานที่สุดและมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากท่ามกลางความผันผวนของอุตสาหกรรมยานยนต์ เปิดตัวครั้งแรกในปี 1968 ในชื่อสติงเรย์ (คอร์เวทท์ ซี2 ใช้ชื่อ Sting Ray ขณะที่ซี3 ใช้ชื่อ Stingray) แฟนที่ติดตามคอร์เวทท์ตั้งชื่อให้รถรุ่นนี้ว่า “ฉลาม” เนื่องจากมีรูปลักษณ์ที่ดุดัน สะดุดตาตั้งแต่แรกเห็นด้วยซุ้มล้อขนาดใหญ่และสัดส่วนฝากระโปรงหน้าที่ยาว ทำให้ซี2 ดูเหมือนจะใหญ่โตกว่าความเป็นจริง กรอบไฟหน้าแบบพับเก็บได้และไฟท้ายดวงคู่ยังคงเป็นเอกลักษณ์สำคัญของเจนเนอเรชั่นนี้ ในส่วนของสมรรถนะการขับขี่ ซี3 มีการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน ใช้เครื่องยนต์บล็อกโตให้พละกำลัง 435 แรงม้าในช่วงเริ่มต้นการผลิต แต่อุตสาหกรรมยานยนต์ในภาพรวมมีการเปลี่ยนแปลงไปสู่เชื้อเพลิงไร้สารตะกั่ว มาตรฐานไอเสียที่เข้มงวดและทัศนคติของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไปส่งผลกระทบต่อการพัฒนาเครื่องยนต์ในอีกหลายปีถัดมา คอร์เวทท์ ซี 3 รุ่นปี 1975 จึงใช้เครื่องยนต์สแตนดาร์ดบล็อกเล็กรหัส 350 ผลิตพละกำลัง 165 แรงม้า ถือว่าน้อยกว่ารุ่นแรกเริ่มปี 1955 ราว 20 เปอร์เซ็นต์ ถึงแม้ตัวเลขแรงม้าของคอร์เวทท์ จะลดน้อยลงไป แต่ทีมวิศวกรก็ยังเดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีของตัวรถและเพิ่มวัสดุที่มีคุณภาพสูงเข้าไปแทน โดยเฉพาะการใช้วัสดุผสมแบบคอมโพสิตในการประกอบตัวถัง เป็นการพัฒนาจากไฟเบอร์กลาสมาเป็นการขึ้นรูปแบบแผ่น (SMC) ซึ่งทำให้พื้นผิวตัวถังมีความนุ่มนวลไหลลื่นเมื่อออกจากแม่พิมพ์ ลดกระบวนการผลิตลงก่อนที่จะเข้าสู่การพ่นสี คอร์เวทท์ ทุกรุ่นที่ผลิตตั้งแต่ปี 1973 เป็นต้นมานั้นใช้ตัวถัง SMC ก่อนที่การใช้วัสดุต่างๆจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วอีกครั้ง มีการใช้ไฟเบอร์กลาสน้อยลงและเน้นพลาสติกน้ำหนักเบามากขึ้น เพิ่มความยืดหยุ่นและป้องกันการแตกหักได้ดีกว่าเดิม ถึงแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงด้านสมรรถนะในเจนเนอเรชั่นที่สาม แต่คอร์เวทท์รุ่นนี้กลับได้รับความนิยมมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ ในปี 1979 มียอดขายสูงถึง 58,307 คัน ซึ่งยังคงเป็นสถิติยอดขายสูงสุดในหนึ่งปีของคอร์เวทท์มาจนถึงปัจจุบัน เจนเนอเรชั่น 4 (ซี4) ปี 1983-96 เจนเนอเรชั่นที่สี่ของคอร์เวทท์ สะท้อนเทคโนโลยีอันก้าวล้ำหน้าในยุค 1980 มีพัฒนาการอย่างมากทั้งในด้านดีไซน์ เทคนิคการผลิต ระบบอิเลกทรอนิกและความปลอดภัย มีการออกแบบที่ล้ำสมัยอย่างแผงควบคุมเรืองแสงพร้อมการแสดงผลแบบดิจิตอลที่สะท้อนยุคอันรุ่งเรืองของแผงวงจรอิเลกทรอนิก ขณะเดียวกัน รูปลักษณ์ภายนอกยังคงเอกลักษณ์ดั้งเดิมอย่างไฟท้ายคู่ กรอบไฟหน้าพับได้ พร้อมกับเพิ่มประตูกระจกท้ายแบบแฮทช์แบ็กเพื่อการเข้าถึงเนื้อที่เก็บสัมภาระได้สะดวกง่ายดายยิ่งขึ้น เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าของซี4 เริ่มตั้งแต่พื้นฐานตัวรถ ด้วยการใช้โครงสร้างแบบมีกระดูกสันหลังหรือ “backbone” ตัวถังภายนอกมีความปราดเปรียวยิ่งขึ้น ด้วยตัวเลขแรงเสียดทานอากาศเพียง 0.34 ซึ่งน้อยกว่าซี3 ถึง 25 เปอร์เซ็นต์ ใต้ฝากระโปรงบรรจุเครื่องยนต์หัวฉีด Tuned Port Injection ที่เปิดตัวครั้งแรกในปี 1985 ถือเป็นยุค โมเดิร์นของการใช้พอร์ทหัวฉีดเชื้อเพลิงและสร้างชื่อเสียงให้คอร์เวทท์ เป็นรถสปอร์ตสมรรถนะสูงที่มาพร้อมความประหยัดน้ำมัน ในปี 1983 ไม่มีคอร์เวทท์ ออกจำหน่าย แต่มีการผลิตรุ่นต้นแบบเพียง 44 คันเท่านั้น ปัจจุบันคอร์เวทท์รุ่นต้นแบบดังกล่าวมีเหลือเพียงคันเดียวซึ่งจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์คอร์เวทท์แห่งชาติ (National Corvette Museum) ในเมืองโบว์ลิ่งกรีน รัฐเคนตักกี้ เจนเนอเรชั่น 5 (ซี5) ปี 1997-2004 การเปิดตัวคอร์เวทท์ เจนเนอเรชั่นที่ห้า แสดงให้เห็นถึงการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดที่หาได้ยากในโลกอุตสาหกรรมยานยนต์ เมื่อรถรุ่นใหม่มีน้ำหนักน้อยกว่ารถรุ่นเดิม คอร์เวทท์ ซี5 รุ่นปี 1997 ซึ่งมีขนาดตัวถังใหญ่กว่ารุ่นซี4 กลับมีน้ำหนักน้อยกว่าเกือบ 45 กก. มีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้น้ำหนักมวลรวมของซี5 ลดลง ไม่ว่าจะเป็นการใช้ตัวถัง SMC ที่มีส่วนผสมของพลาสติกมากกว่าที่เคยเป็นมา ไม่เพียงตัวถังของซี5 ที่ทำให้น้ำหนักรถเบาลงเท่านั้น แต่แชสซีส์รุ่นใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีขึ้นรูปด้วยของเหลวยังเพิ่มความแข็งแกร่งแต่ลดความซับซ้อนและน้ำหนักเช่นกัน ขณะที่พื้นตัวรถใช้วัสดุหลายประเภทประกอบกัน รวมถึงไม้บัลซ่าช่วยลดขนาดและน้ำหนักลงด้วย เครื่องยนต์บล็อกเล็กรุ่นที่ 3 (Gen3) ยังมีส่วนสำคัญที่ทำให้ซี5 มีน้ำหนักน้อยลงและเพิ่มความสมดุลให้ดียิ่งขึ้น เสื้อสูบและฝาสูบทำจากอลูมิเนียม ขณะที่ท่อร่วมไอดีเป็นส่วนผสมคอมโพสิตที่มีน้ำหนักไม่ถึง 5 กก. สำหรับกระบวนการผลิต คอร์เวทท์ เป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงสายการผลิตเพื่อสิ่งแวดล้อมด้วยการใช้สีสูตรผสมน้ำช่วยลดสารตัวทำละลายลงได้จาก 60 เปอร์เซ็นต์เหลือเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ ปัจจุบันระบบสีสูตรผสมน้ำเป็นมาตรฐานของบริษัทผู้ผลิตรถเกือบทุกยี่ห้อ เจนเนอเรชั่น 6 (ซี6) ปี 2005-2013 เชฟโรเลต คอร์เวทท์ เจนเนอเรชั่นที่หกสร้างความประหลาดใจด้วยการไม่ใช้กรอบไฟหน้าแบบพับเก็บได้เหมือนกับที่ใช้มาตั้งแต่ปี 1962 แต่มาพร้อมกับกรอบไฟธรรมดาที่ช่วยลดน้ำหนักตัวรถ ขจัดความซับซ้อนและเพิ่มความลู่ลมตามหลักอากาศพลศาสตร์ ขณะที่กรอบไฟท้ายแบบดวงคู่และห้องโดยสารดูอัลค็อกพิทยังคงมีอยู่เช่นเดิม คอร์เวทท์ ซี6 ใช้โครงสร้างแชสซีส์และสถาปัตยกรรมร่วมกับซี5 ถึงแม้จะใส่อุปกรณ์ความปลอดภัยเพิ่มเติมแต่ด้วยการเน้นลดน้ำหนักตัวรถทำให้ซี6 มีน้ำหนักน้อยกว่าซี5 รุ่นปี 1997 อยู่ราว 9 กก. ในปี 2006 เชฟโรเลต เปิดตัวคอร์เวทท์รุ่นสมรรถนะสูง Z06 ตอกย้ำความมุ่งมั่นในการสร้างสรรค์สมรรถนะของคอร์เวทท์ด้วยเทคโนโลยีอันล้ำสมัยและวัสดุน้ำหนักเบา โดยมาพร้อมกับโครงสร้างอลูมิเนียมแทนที่วัสดุโลหะที่ใช้ในรุ่นสแตนดาร์ด ตัวถังทำจากคาร์บอนไฟเบอร์ทำให้น้ำหนักตัวรถโดยรวมน้อยกว่า 1,450 กก. ยกระดับอัตราส่วนแรงม้าต่อน้ำหนักที่ดีเยี่ยมอย่างที่รถสปอร์ตที่มีราคาแพงกว่ามากไม่สามารถทำได้ แม้แชสซีส์ของรุ่น Z06 จะมีดีไซน์เหมือนกับแชสซีส์โลหะของรุ่นสแตนดาร์ด แต่ด้วยการใช้อลูมิเนียมจึงมีน้ำหนักเบากว่าถึงหนึ่งในสาม นอกจากการใช้วัสดุหลักที่แตกต่างออกไปแล้ว โครงสร้างอลูมิเนียมยังมีกระบวนการผลิตที่ต่างกันด้วยการเชื่อมมิก (metal inert gas)และเชื่อมด้วยเลเซอร์ รวมถึงการเชื่อมรอยต่อแบบรีเว็ต ขณะที่แท่นเครื่องและจุดเชื่อมต่อช่วงล่างบางแห่งใช้วัสดุแม็กนีเซียมเพื่อลดขนาดลง ตัวถังภายนอกบางส่วนของ Z06 ใช้วัสดุต่างจากคอร์เวทท์รุ่นสแตนดาร์ดเช่นกันโดยทำจากคาร์บอนไฟเบอร์บริเวณซุ้มล้อหน้าและหลัง สำหรับคอร์เวทท์ ZR1 ปี 2009 ใช้แชสซีส์อลูมิเนียมเช่นเดียวกับ Z06 รวมถึงบอดี้และแผงหลังคาคาร์บอนไฟเบอร์ วัสดุน้ำหนักเบาและเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำหน้าที่พัฒนาสมรรถนะของคอร์เวทท์ Z06 และ ZR1 ถือเป็นพื้นฐานสำคัญของคอร์เวทท์ เจนเนอเรชั่นที่เจ็ดรุ่นล่าสุดซึ่งจะใช้โครงสร้างอลูมิเนียมในรุ่นสแตนดาร์ดที่มีความเหนียวแน่นแข็งแกร่งกว่า Z06/ZR1 ถึง 60 เปอร์เซ็นต์ คอร์เวทท์ ซี7 ยังมาพร้อมขุมพลังอันล้ำสมัยที่ต่อยอดมาจากคอร์เวทท์ รุ่นก่อนหน้า ทำให้ซี7 รุ่นใหม่ล่าสุดกลายเป็นคอร์เวทท์ ที่ทรงพลังที่สุดและประหยัดน้ำมันมากที่สุดในประวัติศาสตร์ สำหรับข้อมูลหรือรูปภาพเพิ่มเติม www.media.gm.com หรือ www.chevrolet.co.th วีโจ้ วาร์จีส ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายประชาสัมพันธ์ สื่อสารผลิตภัณฑ์ บริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท เชฟโรเลต เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด โทร. (สายตรง): +66 2791 4885 อีเมล์: vijo.varghese@gm.com กมลพัชร ยะรังษี เวเบอร์ แชนวิค แมคแคน เวิลด์กรุ๊ป โทร. +662 343 6179 อีเมล์: kamolpatch@webershandwick.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ