ผลสำรวจผลกระทบค่าแรง 300 ต่อผู้ประกอบการอีสาน

ข่าวทั่วไป Wednesday January 16, 2013 17:23 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 ม.ค.--อีสานโพล อีสานโพล (E-Saan Poll) ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน (ECBER) คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เผยผลสำรวจเรื่อง "ผลสำรวจผลกระทบค่าแรง 300 ต่อผู้ประกอบการอีสาน” โดยผลสำรวจพบว่า ผู้ประกอบการกว่าครึ่ง ยังไม่ได้ปรับค่าแรงขึ้น คาดกระทบต้นทุนแน่นอน โดยจะปรับราคาสินค้าขึ้นเพื่อลดผลกระทบ และเรียกร้องมาตรการช่วยเหลือที่เป็นตัวเงินชัดเจน ดร.สุทิน เวียนวิวัฒน์ หัวหน้าโครงการอีสานโพล เปิดเผยว่า การสำรวจนี้ ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เกี่ยวกับผลกระทบของนโยบายค่าแรง 300 บาทต่อวัน โดยทำการสำรวจระหว่างวันที่ 10-13 มกราคม 2556 จากกลุ่มตัวอย่าง 600 ราย ในเขตพื้นที่ภาคอีสาน 3 จังหวัดใหญ่ ได้แก่ นครราชสีมา (ค่าแรงขั้นต่ำเดิม 255 บาท) อุดรธานี (ค่าแรงขั้นต่ำเดิม 239บาท) และขอนแก่น (ค่าแรงขั้นต่ำเดิม 233 บาท) เมื่อสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการปรับตัวหลังขึ้นค่าแรงเป็น 300 บาท พบว่า ผู้ประกอบการเริ่มมีการปรับขึ้นค่าแรงเป็น 300 บาทให้แก่ลูกจ้างตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556 ที่ผ่านมาคิดเป็นร้อยละ 49.3 ส่วนกิจการที่คาดว่าจะไม่ปรับตามนโยบาย คิดเป็นร้อยละ 37.7 โดยมีกลุ่มกิจการที่ยังไม่ได้เริ่มปรับค่าแรงแต่กำลังจะปรับ ร้อยละ 9.8 โดยในจำนวนนี้ ส่วนใหญ่จะปรับขึ้นค่าแรงภายใน 1-3 เดือน และที่เหลือคือกลุ่มที่ไม่แน่ใจ หรือยังไม่มีกำหนด ร้อยละ 3.3 เมื่อถามต่อถึงผลกระทบที่คาดว่าจะได้รับ พบว่า ผลกระทบในด้านต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบมากที่สุดหรือคิดเป็นร้อยละ 46.6 (โดยในจำนวนนี้ ร้อยละ 54.7 คาดว่าต้นทุนจะสูงขึ้นไม่เกินร้อยละ 10 ส่วนที่เหลือคาดว่าจะเกิน) รองลงมาคือ ผลกระทบในด้านยอดจำหน่ายสินค้าลดลง คิดเป็นร้อยละ 13.9 (โดยร้อยละ 55.3 คาดว่ายอดจำหน่ายจะลดลงไม่เกินร้อยละ 10 ส่วนที่เหลือคาดว่าจะเกิน) และได้รับผลกระทบด้านความสามารถในการแข่งขันลดลง ร้อยละ 7.7 และขาดแคลนแรงงานรายวัน ร้อยละ 5.4 ผลกระทบด้านอื่นๆ เช่น คาดว่าจะปิดกิจการ คุณภาพแรงงานต่ำ หรือค่าครองชีพสูงขึ้น ร้อยละ 3.1 ทั้งนี้มีผู้ประกอบการคิดเป็นร้อยละ 26.2 ที่ไม่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ อีสานโพล ได้สอบถามผู้ประกอบการเกี่ยวกับแผนรองรับผลกระทบ พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 36.3 จะปรับราคาจำหน่ายสินค้าให้สูงขึ้น (โดยในจำนวนนี้ร้อยละ 69.2 จะเพิ่มราคาสินค้าอีกไม่เกินร้อยละ 10 ส่วนที่เหลือจะปรับราคาเพิ่มเกินร้อยละ 10) รองลงมาร้อยละ 17.7 จะลดสวัสดิการบางส่วน เช่น ค่าล่วงเวลา ค่าอาหาร เงินโบนัสประจำปีลง ตามมาด้วยร้อยละ 17.4 จะลดจำนวนแรงงานลง (โดยในจำนวนนี้ร้อยละ 52.5 จะลดจำนวนแรงงานไม่เกินร้อยละ 10) ร้อยละ 16.7 จะเพิ่มปริมาณงานต่อชั่วโมงให้มากขึ้น และร้อยละ 1.9 จะจ้างแรงงานนอกระบบเพิ่มขึ้น ส่วนอีกที่เหลือร้อยละ 10.0 จะรองรับผลกระทบโดยวิธีอื่นๆ เช่น ลดการซื้อวัตถุดิบกักตุน หรือทำการตลาดเพื่อเพิ่มยอดขายมาชดเชย ฯลฯ สำหรับมาตรการของหน่วยงานต่างๆ ที่ได้เสนอเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ พบว่าส่วนใหญ่เห็นว่ามาตรการลดภาระต้นทุนค่าใช้จ่ายที่เป็นตัวเงิน เช่น ลดเงินสมทบประกันสังคม คืนภาษีขาย ลดภาษีโรงเรือนและที่ดิน จะเป็นมาตรการที่เหมาะสม หรือช่วยเหลือกิจการได้มากที่สุด ร้อยละ 22.1 รองลงมา คือมาตรการจัดตั้งกองทุนการจ่ายชดเชยส่วนต่างค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นให้ผู้ประกอบการ ร้อยละ 21.3 มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการให้เหมาะสมเชิงพื้นที่ (Zoning) ตามจังหวัดที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ร้อยละ 13.1 มาตรการปรับเพิ่มฐานการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ร้อยละ 12.7 มาตรการลดอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่าย ร้อยละ 7.5 และมาตรการอื่นๆ อีกร้อยละ 23.3 "จากผลสำรวจจะเห็นว่า มีผู้ประกอบการได้ปรับเพิ่มค่าแรงตามนโยบายเพียงครึ่งเดียว โดยยังมีผู้ประกอบการอีกกว่าครึ่งที่ยังไม่สามารถปรับค่าแรงได้ตามนโยบาย สำหรับด้านผลกระทบ ส่วนใหญ่เห็นว่า ผลกระทบด้านต้นทุนส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการมากที่สุด รองลงมาคือผลกระทบด้านยอดขายสินค้าที่จะลดลง อย่างไรก็ตามมีผู้ประกอบการจำนวนน้อยที่คิดว่าอาจต้องปิดกิจการจากนโยบายดังกล่าว ในด้านการปรับตัว ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ปรับตัวโดยเพิ่มราคาสินค้า ซึ่งการปรับตัวดังกล่าว ย่อมส่งผลต่อค่าครองชีพของประชาชนที่เพิ่มสูงขึ้น และส่งผลย้อนกลับไปยังค่าครองชีพของแรงงาน ส่วนมาตรการช่วยเหลือที่ผู้ประกอบการเห็นว่าเหมาะสมและสามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการได้ พบว่า กองทุนชดเชยส่วนต่างค่าแรง การช่วยลดต้นทุนที่เป็นตัวเงิน เช่น ลดเงินสมทบกองทุนประกันสังคม รวมทั้งมาตรการการลดหรือยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งมาตรการข้างต้น ล้วนเป็นมาตรการที่ช่วยเหลือผู้ประกอบการเป็นตัวเงินชัดเจน โดยเฉพาะมาตรการจ่ายชดเชยส่วนต่างค่าแรงครึ่งหนึ่งเป็นระยะเวลา 2-3 ปี ซึ่งใช้เม็ดเงินมากแต่ก็จำเป็นมากสำหรับ SME ภาครัฐจึงควรพิจารณามาตรการเหล่านี้อย่างรัดกุมด้วยเพื่อให้ระบบเศรษฐกิจมีความสมดุลอย่างแท้จริง” ดร.สุทิน กล่าวตอนท้าย หมายเหตุ: นอกเหนือจากผลสำรวจ ซึ่งนำเสนอข้อมูลตามวิธีทางสถิติแล้ว ความคิดเห็นอื่นๆ ในบทความนี้ เป็นความเห็นของผู้รับผิดชอบโครงการ ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ข้อมูลทั่วไปของกลุ่มตัวอย่าง มีความเชื่อมั่นในการพยากรณ์ 95% และคลาดเคลื่อนได้บวกลบ 5% ประกอบด้วย ภาคการค้าและบริการ ร้อยละ 79.9 และภาคการผลิต ร้อยละ 20.1 จากจังหวัดขอนแก่นร้อยละ 40.7 นครราชสีมา ร้อยละ 34.6 และอุดรธานี ร้อยละ 24.7

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ