GISTDA จัดเสวนา ถกประเด็นการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมโลก ผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ

ข่าวทั่วไป Thursday January 31, 2013 13:45 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--31 ม.ค.--มีเดีย พลัส คอนเนคชั่น GISTDA จัดเสวนา ถกประเด็นการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมโลก ผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ชี้การใช้ภาพถ่ายจากดาวเทียมและข้อมูลภูมิสารสนเทศจะเพิ่มการวิเคราะห์ข้อมูล ที่แม่นยำในการวางนโยบายเศรษฐกิจแบบยั่งยืน สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือ GITSDA จัดงานเสวนาสื่อมวลชน เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ต่อบทบาทของเทคโนโลยีอวกาศและข้อมูลภูมิสารสนเทศที่มีส่วนช่วยขับเคลื่อน การพัฒนาประเทศชาติ และสังคมอย่างยั่งยืนทั้งภาพจากดาวเทียมไทยโชต (ธีออส) ดาวเทียมดวงอื่นๆภาพจาก อากาศยานไร้นักบิน (UAV) ทั้งในระบบที่ตามองเห็นและเรดาร์ ด้วยคุณสมบัติภาพจากดาวเทียมที่พิเศษกว่าข้อมูลภาคพื้นดิน กล่าวคือ สามารถให้รายละเอียดในมุมมอง จากเบื้องบน เป็นมุมกว้าง ซึ่งสามารถใช้ประโยชน์ในการวางแผนยุทธศาสตร์ทั้งในระดับประเทศ ระดับจังหวัดและแม้แต่ในการวางแผนพัฒนาธุรกิจขององค์กรเอกชน ในการสำรวจและทำแผนที่ เพื่อการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น การวางผังการใช้ที่ดินและจำแนกประเภท การใช้ที่ดินของประเทศ การวางผังเมือง กำหนดโซนพื้นที่ เป็นเขตอุตสาหกรรม เขตเกษตรกรรม และเขตที่อยู่อาศัย การประเมินผลผลิตทางการเกษตร การสำรวจหาพื้นที่ป่าไม้ ที่ถูกบุกรุก พื้นที่ปลูกยาเสพติด พื้นที่นากุ้ง และประมงชายฝั่ง การสำรวจหามลพิษ จากคราบน้ำมันที่รั่วไหลในทะเล สำรวจหาแหล่งน้ำการสำรวจเพื่อการสร้างถนน การจราจร การสำรวจพื้นที่ เกิดภัยพิบัติต่างๆ ทั้งอุทกภัย แผ่นดินถล่ม และสึนามิ เป็นต้น ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและ ภูมิสารสนเทศ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือ GISTDA เปิดเผยว่า ปัจจุบันการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในทุกพื้นที่ของประเทศนั้นนับเป็นเรื่องที่สำคัญ อย่างยิ่ง GISTDA ในฐานะหน่วยงานซึ่งทำหน้าที่พัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและ ภูมิสารสนเทศให้เป็นความรู้เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ ในการพัฒนาประเทศ จึงได้จัดทำโครงการต่างๆเพื่อนำคุณค่าจากอวกาศมาพัฒนาประเทศชาติและสังคม "จากสถานการณ์สิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน ที่เกิดภาวะการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ การเพิ่มสูงขึ้นของ ระดับน้ำทะเล การขาดแคลนทรัพยากรน้ำ การสูญเสียทรัพยากรทางทะเล และป่าไม้หรือแม้การทรุดตัว ของแผ่นดิน โดยเฉพาะกรุงเทพมหานครและปริมณฑล สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเหล่านี้ทำให้เราควรตระหนักว่า "ประเทศชาติจะอยู่รอดได้อย่างไร" ถ้าไม่มีการวางแผนเพื่อขับเคลื่อนและพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ทั้งการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม และการพัฒนาภาคการเกษตรที่ชัดเจน ซึ่งจะมีผลกระทบโดยตรงต่อ การดำเนินชีวิตของประชาชน" ดร.อานนท์ กล่าว ดังนั้น เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ แม่นยำ และทันสมัย สามารถนำมาใช้จัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศที่ยั่งยืน สามารถหลีกเลี่ยงการสูญเสีย และไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ในอนาคต GISTDA จึงได้จัดทำโครงการต่างๆ ได้แก่ โครงการพัฒนาระบบเรดาร์ชายฝั่งเพื่อการเตือนภัย ทางบกและทางทะเล โครงการพัฒนาศูนย์ประมวลผลและบริการภาพถ่ายจากดาวเทียม และ ภูมิสารสนเทศเคลื่อนที่ โครงการจัดทำฐานข้อมูลเชิงพื้นที่แหล่งน้ำเพื่อการจัดการบริหารน้ำชุมชน โครงการใช้ข้อมูลดาวเทียม เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว โครงการใช้ภาพถ่ายดาวเทียมและข้อมูลภูมิสารสนเทศในการติดตามสถานการณ์ต่างๆทั้งภัยแล้ง พื้นที่เกิดไฟป่าประจำปี 2556 สถานการณ์แผ่นดินไหว สถานการณ์น้ำท่วม รวมไปถึงร่วมสนับสนุนข้อมูลในการทำวิจัยเรื่องผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม และสภาพแวดล้อมต่อสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงที่มีต่อเมืองชายฝั่ง เป็นต้น “การศึกษาผลกระทบเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางภูมิศาสตร์ และภาวะโลกร้อนอันส่งผลให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ที่เกิดขึ้นกับพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑลโดยตรง ทั้งการทรุดตัว และการกัดเซาะบริเวณชายฝั่งทะเล พบว่าการใช้ดาวเทียมตรวจวัด การทรุดของผิวดิน จะเกิดการทรุดตัวอยู่ทุกปี คิดเป็น อัตราเฉลี่ย 1.5-2.5 มิลลิเมตรต่อปี ขณะที่ ผลจากดาวเทียม ตรวจวัดระดับน้ำทะเลก็พบค่าระดับน้ำทะเล ที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 4-5 มิลลิเมตรทุกปี ตลอดช่วง 10 กว่าปี แนวโน้ม ในอนาคตพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีความเสี่ยง ที่จะอยู่ในแนวเดียว กับระดับน้ำทะเล หรืออาจต่ำกว่าแน่นอน ซึ่งจะมีปัญหาที่ตามมาอีกมากมาย อาทิ เรื่องการระบายน้ำได้ยาก เกิดเหตุน้ำท่วมบ่อยขึ้น ทั้งผลจากน้ำฝน ระบายลงท่อระบายน้ำไม่ได้ และน้ำท่วมจากน้ำทะเลหนุน ซึ่งความเสียหายเหล่านี้อาจประเมินเป็นมูลค่าการสูญเสียทางเศรษฐกิจที่มากถึง 3 ถึง 4 พันล้านบาทต่อปี” ดร.อานนท์ เสริม “ที่ผ่านมาเราร่วมสนับสนุนข้อมูลให้กับนักวิจัยหลาย ๆ โครงการ เช่น โครงการ Aloud Bangkok โดย ดร.วิจิตรบุษบา มารมย์ รองคณบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่ง ของงานวิจัย นานาชาติว่าด้วยเรื่องการปรับตัวให้เข้ากับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงของเมืองชายฝั่ง (Coastal Cities at Risk) โดยจำลองภาพสถานการณ์ในอนาคตอีก 30 ปีข้างหน้า (Visioning Bangkok) หากกรุงเทพฯเกิดความเสี่ยง และความไม่แน่นอนของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเน้นประเด็น สังคม เรื่องคนเป็นหลักโดยเป็นการแลกเปลี่ยนมุมมอง และชี้ให้เห็นว่าเราควรจะ "ปรับตัว" เพื่อ "รับมือ" กับ "ความเสี่ยง" ได้อย่างไร” “โครงการต่างๆ ที่ GISTDA ได้ดำเนินการนั้นมีมากมายหลายโครงการ ซึ่งทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นการนำ เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศมาพัฒนาให้เป็นความรู้ และนำมาใช้วิเคราะห์สถานการณ์ต่างๆ ของประเทศ ซึ่งข้อมูลจากการวิเคราะห์สถานการณ์เหล่านี้จะส่งต่อไปยังหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงประชาชน เพื่อนำไปใช้เป็นข้อมูลในการวางแผนรับมือกับปัญหาต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นได้อย่างรัดกุม และที่สำคัญยังสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศที่ยั่งยืน สามารถสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี ให้แก่ประชาชนในชาติได้" ดร.อานนท์ กล่าวสรุป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ