ถึงเวลาวัยใส ใช้ “วิทยาศาสตร์ &เทคโนโลยี” รับใช้สังคม

ข่าวทั่วไป Tuesday February 12, 2013 10:04 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 ก.พ.--มูลนิธิสยามกัมมาจล ควันหลงงานแถลงข่าว Thailand ICT Contest Festival ครั้งที่ 12 จัดโดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ มี 3 ผลงานเด่นจากการประกวดครั้งก่อนมาเรียกน้ำย่อย กับผลงานเยาวชนไทยที่ใช้ ICT เชิงสร้างสรรค์ ที่นอกจากตอบโจทย์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ยังตอบโจทย์ “จิตอาสา” พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้คน เริ่มจาก โครงงานการศึกษาความสัมพันธ์การย่อยสลายอาหารของมดแดงกับคุณค่าทางโภชนาการในไข่มดแดง การศึกษาชนิดอาหารที่มดแดงโปรดปราน ส่งผลต่อปริมาณที่เพิ่มขึ้นของไข่มดแดง — ส่วนประกอบมากโปรตีนในอาหารจานเด็ดของคนไทยภาคอีสานหลากเมนู ผลงานของ “เกม” กิตติ์ธเนศ ธนะรุ่งโรจน์ทวี น้องใหม่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดยเจ้าตัวบอกว่าที่เลือกทำเรื่องนี้เพราะเป็นเรื่องใกล้ตัว เห็นมาแต่อ้อนแต่ออก จึงคิดหาวิธีการเพิ่มผลผลิตไข่มดแดง ควบคู่กับการอนุรักษ์ให้มีกินมีใช้ไปนานๆ เกมพบว่าในระยะเวลา 8 สัปดาห์ การเลี้ยงมดแดงด้วยสูตรอาหารผสมข้าว จิ้งหรีด และเนื้อปลา ทำให้ได้ไข่มดแดงเพิ่มขึ้นกว่าการปล่อยให้หาอาหารเองตามธรรมชาติถึง 50% โดยไม่มีผลกระทบทางด้านคุณค่าทางโภชนาการ วิธีนี้ยังสามารถปรับใช้กับเศษอาหารตามบ้านเพื่อลดความยุ่งยาก รวมถึงการจัดสภาพแวดล้อมดึงดูดมดแดงมาทำรังใกล้ๆ แหล่งอาหารที่จัดเตรียมไว้ “เมื่อชาวบ้านรู้วิธีเลี้ยงแล้วก็ไม่ต้องไปหารังไกลๆ ลดการทำลายรังตามธรรมชาติ แต่ช่วยกันดูแลต้นไม้ จัดสภาพแวดล้อมดึงดูดให้มดแดงออกไข่เพิ่มขึ้นในแต่ละครั้ง และออกไข่มากกว่าหนึ่งครั้งในแต่ละฤดู ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น เป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยในระบบนิเวศ มดแดงยังเป็นตัวควบคุมแมลง เหมาะกับชาวสวนที่ต้องการลดใช้และลดรายจ่ายสารเคมีการเกษตร” ส่วนเรื่องการขยายผล เกมเผยว่าไม่ได้คาดหวังผลตอบแทนส่วนตัว แต่ต้องการเผยแพร่ความรู้นี้สู่ชุมชน เพื่อชุมชน “เรื่องนี้ในความคิดของผม มันไม่ใช่เรื่องการค้า แต่ผมอยากทำเพื่อประโยชน์ของชุมชนมากกว่า” โดยผลการศึกษาดังกล่าวทำให้เกมได้รับรางวัลชนะเลิศสาขาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม การประกวดโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ ครั้งที่ 14 และมีโอกาสแสดงผลงาน ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา และคว้ารางวัล Grand Award อันดับที่ 2 ในงาน Intel ISEF 2012 มาครอง “ผมได้เรียนรู้อะไรเยอะมาก เพราะการทำโครงงานไม่ได้ใช้ความรู้เรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่เป็นกระบวนการพัฒนาตนเองอย่างสมบูรณ์แบบ เราเรียนด้วย ทำงานด้วย ก็ต้องแบ่งเวลาเรียน เวลากิจกรรม อีกเรื่องคือกระบวนการการจัดการ เราเติบโตเป็นผู้ใหญ่ขึ้นในหลายด้าน เช่น การติดต่อสื่อสาร การหาข้อมูล การแก้ปัญหา รวมถึงการนำเสนอความคิดรวบยอดเกี่ยวกับผลงานของเราให้คนอื่นเข้าใจได้ในระยะเวลาจำกัด” ถัดมาที่ โครงการบ้านอัจฉริยะ ผลงานของนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้แก่ น.ส.ศิคณา ธนุภาพรังสรรค์, นายกรัชกาย อารีกิจเสรี และนายธนานันท์ พัฒนางกูร อีกผลงานที่เรียบง่ายแต่ทรงคุณประโยชน์ รวบรวมฟังก์ชั่นการทำงานของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่หาได้ตามท้องตลาด อาทิ จอทีวี เซ็นเซอร์ กล้องวงจรปิด ผนวกเข้ากับซอฟต์แวร์ที่พัฒนาขึ้นเป็นระบบติดตามดูแลผู้สูงอายุที่อยู่บ้านตามลำพัง ลูกหลานตลอดจนแพทย์ผู้รักษาสามารถพูดคุยกับผู้สูงอายุผ่านระบบ Video Conference และระบบยังแจ้งเตือนให้บุคคลที่เกี่ยวข้องทราบทันทีหากเกิดเหตุการณ์ผิดปกติขึ้นกับผู้สูงอายุเพื่อการช่วยเหลืออย่างทันการณ์ “เราอยากเห็นสังคมที่มันปลอดภัยขึ้น เริ่มแรกที่พัฒนาขึ้นมาก็ไม่ได้มุ่งเน้นเรื่องการค้าอะไร เพราะไม่ใช่ระบบที่จะสร้างกำไรได้มากนัก แต่มีแรงบันดาลใจเพื่อใช้ในบ้านของพวกเราเองมากกว่า เชื่อว่าถ้าเราสามารถขยายผลให้เกิดการใช้งานจริง สุดท้ายสิ่งดีๆ ที่เราให้ไปมันก็จะย้อนกลับมาหาพวกเราเอง” โดยหลังจากที่โครงงานบ้านอัจฉริยะได้รับรางวัลชนะเลิศประเภท Inclusive Design การประกวด Student Design Challenge ในเวที iCREATe 2012 ณ ประเทศสิงคโปร์ ทางทีมโครงการยังมีแผนระดมทุนผลักดันผลงานชิ้นนี้สู่ธุรกิจใหม่ด้วย ปิดท้ายที่เกมเพื่อการเรียนรู้วิธีการปฐมพยาบาลอย่างถูกวิธีใน โครงการบุญช่วยกู้ชีพ จากน้องๆ โรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์ คอนแวนต์ ผลงานเกมน่ารักๆ ที่ให้ทั้งความรู้ความเข้าใจและความสนุกสนาน โดยแบ่งออกเป็นส่วนของห้องฝึกหัดการปฐมพยาบาลในสถานการณ์ต่างๆ โดยมีตัวช่วยคอยแนะนำวิธีการปฐมพยาบาลอย่างเป็นขั้นตอน และส่วนของเกมที่ผู้เล่นต้องนำความรู้ความเข้าใจจากห้องฝึกหัดมาปฐมพยาบาลผู้ป่วยเหมือนเกิดเหตุจริงโดยไม่มีตัวช่วย “เกมนี้สามารถเล่นได้ทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะเด็กเล็กที่มักไม่ค่อยศึกษาวิธีการปฐมพยาบาลจากหนังสือ เพราะมีเนื้อหามาก เมื่อพัฒนาเป็นเกมแล้วเอาไปให้ลองเล่นก็พบว่าได้ผลดี น้องๆ ชอบ บอกว่าเข้าใจง่ายและสนุก ที่สำคัญคือเราต้องการให้เขาได้ฝึกทักษะปฐมพยาบาล เผื่อวันหนึ่งเขาต้องใช้ทักษะและความรู้นี้ในชีวิตจริง” น้องเกน โศจิรัตน์ ธัญประทีป ชั้น ม.3 และน้องฟ้า ธัญสินีย์ เหล่าวีรธรรม ชั้น ม. 5 สองนักพัฒนาเกมรุ่นเยาว์กล่าวถึงผลงานที่คว้ามาสองรางวัลคือ อันดับที่ 3 ประเภทโปรแกรมเพื่อความบันเทิงระดับนักเรียนการแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทยครั้งที่ 14 และรางวัล Merit ในงาน APICTA 2012 ณ ประเทศบรูไน โดยล่าสุดทั้งคู่ยังพัฒนาโครงการบุญช่วยกู้ชีพให้เป็นแอพลิเคชันที่ดาวน์โหลดไปเล่นได้ฟรีบนสมาร์ทโฟนอีกด้วย สำหรับผู้สนใจผลงานเยาวชนชิ้นอื่นๆ สามารถร่วมลุ้นและเป็นกำลังใจให้แก่พวกเขาได้ในงาน Thailand ICT Contest Festival ครั้งที่ 12 จัดโดยสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) บริษัทอินเทลไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัทไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด ระหว่างวันที่ 12 - 14 กุมภาพันธ์ 2556 ณ หอประชุมมหิศร ธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ กรุงเทพฯ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ