วันนั้น....ความจริงที่ขาดหาย

ข่าวทั่วไป Thursday March 7, 2013 15:32 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--7 มี.ค.--เอแบคโพลล์ โดย ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ วันที่ 3 มีนาคม พ.ศ.2556 วันเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนที่ 16 ขณะผมพักผ่อนอยู่กับลูกชายวัยแปดขวบที่บ้านพักเพราะไม่ต้องเหนื่อยเหมือนทุกครั้งที่ต้องทำเอ็กซิทโพลล์ แต่ก็ได้มีโทรศัพท์จากสำนักข่าวต่างๆ ดังขึ้นตลอดเวลาตั้งแต่ช่วงเวลาบ่ายสองโมงเพื่อสอบถามข้อมูลผลโพลล์สำรวจคะแนนนิยมในช่วงสัปดาห์สุดท้ายก่อนวันเลือกตั้งที่ไม่สามารถเปิดเผยต่อสาธารณชนได้จนกว่าจะถึงบ่ายสามโมงเพราะกฎหมายห้ามไว้ ผมบอกนักข่าวไปว่าผมไม่ได้ทำเอ็กซิทโพลล์ (No Exit Poll) และไม่ได้ทำเอ็นทรีโพลล์ (No Entry Poll) ผมทำโพลล์ก่อนวันเลือกตั้งในสัปดาห์สุดท้าย ที่เรียกว่า โพลล์ก่อนวันเลือกตั้ง (Yes to Pre-Election Poll) ซึ่งผมได้ส่งผลโพลล์ก่อนวันเลือกตั้งไปให้ทุกสำนักข่าว ผมหมายความว่า เอแบคโพลล์ทำโพลล์ก่อนวันเลือกตั้งและได้นำเสนอข้อมูลความจริงที่ค้นพบไปครบถ้วนว่า เก็บตัวอย่างมา 5,713 ตัวอย่างหรือคิดเป็นร้อยละ 0.0011 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด โดยมีช่วงความคลาดเคลื่อนบวกลบร้อยละ 5 ซึ่งตลอดเวลาเอแบคโพลล์บอกมาตลอดว่ามีค่าความคลาดเคลื่อนบวกลบร้อยละ 7 เพราะเราสุ่มตัวอย่างหลายชั้น (Multi-Stage Sampling) และได้รายงานข้อมูลที่ค้นพบในผลโพลล์สามลักษณะคือ ข้อมูลเป็นจุด (Estimated Points) ข้อมูลเป็นช่วงความ คลาดเคลื่อน และข้อมูลเป็นค่าคะแนนประมาณการ เป็นการรายงานผลทันทีหลังปิดหีบเลือกตั้ง ข้อมูลความจริงที่ขาดหายจากการรับรู้ประชาชนคือ เอแบคโพลล์ทำโพลล์ก่อนวันเลือกตั้ง ไม่ใช่เอ็นทรีโพลล์ และไม่ใช่เอ็กซิทโพลล์ นอกจากนี้ เอแบคโพลล์ได้บอกทันทีที่ปิดหีบเลือกตั้งเวลา 15.00 น.ว่า จะมีประชาชนมาใช้สิทธิเลือกตั้งร้อยละ 66.4 และประชาชนออกมาใช้สิทธิจริงร้อยละ 63.9 ข้อมูลที่นำเสนอบวกลบความคลาดเคลื่อนร้อยละ 5 และร้อยละ 7 ไม่ถูกนำเสนอที่อาจทำให้เกิดการพลิกผันในผลการเลือกตั้งจริงเพราะขอบบนของช่วงคะแนนกับขอบล่างไปเกี่ยวกัน และที่สำคัญที่สุดคือเอแบคโพลล์ระบุในผลสำรวจว่าผู้สมัครทั้งคู่มีโอกาสได้ล้านคะแนน บางกระแสข่าวบอกว่า ประชาชนหลอกโพลล์ ผมคิดว่า คงมีบ้างแต่ไม่ใช่ส่วนใหญ่เพราะถ้าบอกว่าประชาชนคนกรุงเทพฯ หลอกก็ดูเหมือนว่าจะเป็นการกล่าวหาว่าร้ายคนไทยด้วยกันเองเนื่องจากพนักงานเก็บข้อมูลเป็นนักศึกษาจากหลากหลายมหาวิทยาลัยที่ถูกส่งออกไปหารายได้ค่าหน่วยกิตของพวกเขาโดย มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมดเพื่อบริการสังคม ซึ่งผมเชื่อว่า คนกรุงเทพมหานครคงไม่ใจร้ายสร้างผลกรรมกับนักศึกษาเหล่านั้นอย่างแน่นอน และถ้าประชาชนคนกรุงฯ หลอกโพลล์จริง เอแบคโพลล์คงบอกไม่ได้หลังปิดหีบเลือกตั้งทันทีว่า คนจะไปใช้สิทธิเลือกตั้งร้อยละ 66.4 และคนมาใช้สิทธิร้อยละ 63.9 และคงประมาณการค่าคะแนนไม่ได้ว่า ผู้สมัครทั้งสองมีโอกาสได้หนึ่งล้านคะแนนด้วยกันทั้งคู่ ถ้าหากประชาชนได้รับทราบความจริงส่วนที่ขาดหายในวันนั้น ปัญหาความไม่เข้าใจกันเกี่ยวกับผลโพลล์ในหมู่ประชาชนน่าจะลดน้อยลงไปได้บ้าง และถ้าสังคมได้ความจริงครบถ้วนเหมือนกับผลโพลล์ที่นำเสนอไปครบถ้วนก็ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วงในการทำโพลล์ในสังคมไทย เพราะนักทำโพลล์ทำไปตามระเบียบวิธีวิจัยและไม่ไปรับอามิจสินจ้างใดๆ จากฝ่ายการเมือง ไม่อิงแอบผลประโยชน์ของนักการเมือง แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ ปฏิกริยาทางการเมืองต่อผลโพลล์ที่กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองจำนวนหนึ่งอาจส่งสัญญาณว่าให้เลิกทำโพลล์ไปเลยหรือไม่ คำตอบส่วนตัวของผมคือ เราทำโพลล์เพื่อทำให้เสียงของคนทุกชนชั้นสำคัญในระบอบประชาธิปไตย ถ้าไม่มีโพลล์ก็จะทำให้ความจริงของคนทุกชนชั้นขาดหายไป บางคนบอกว่าสื่อก็สามารถไปสัมภาษณ์ชาวบ้านและคนทุกชนชั้นมาได้ แต่การไปเลือกตัวอย่างชาวบ้านของสื่อ กับการเลือกตัวอย่างชาวบ้านของสำนักโพลล์แตกต่างกันเพราะสื่อเลือกชาวบ้านแบบเฉพาะเจาะจง แต่สำนักโพลล์เลือกชาวบ้านอาศัยหลักสถิติให้โอกาสความเป็นตัวแทนของกลุ่มผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด ยิ่งไปกว่านั้นคำตอบหรือความคิดเห็นของชาวบ้านที่บอกสื่อมาก็มาถูกตัดต่อในกองบรรณาธิการข่าวและผู้มีอำนาจในกองบรรณาธิการก็ตัดสินใจดึงบางประเด็นตัดบางประเด็นของคำสัมภาษณ์ให้มาสนับสนุน “ธีมของข่าว” ที่ตนเองต้องการจะสื่อสารไป แต่สำนักโพลล์ทุกอย่างต้องตัดสินด้วยหลักสถิติและความเป็นวิทยาศาสตร์มากกว่า อย่างไรก็ตามข้อมูลทั้งสองส่วนสำคัญด้วยกันทั้งคู่ต่อสังคมประชาธิปไตย ที่น่าเป็นห่วงอีกประการหนึ่งคือ ปรากฏการณ์ทางการเมืองในสังคมกรุงเทพมหานครที่ฝ่ายการเมืองทั้งพรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทยน่าจะนำผลการตัดสินใจด้วยล้านคะแนนทั้งสองฝ่ายไปหาทางสร้างความปรองดอง ความรักความสามัคคี ช่วยเหลือเกื้อกูลให้เกิดขึ้นแทนการสร้างกระแสของสังคมแห่งการชนะคะคานกันเพราะถ้าทั้งสองฝ่ายถูกปั่นอารมณ์รุนแรงสุดท้ายบ้านเมืองจะไปไม่รอด สุดท้ายผมยังเชื่อมั่นในดุลพินิจของประชาชนคนไทยด้วยกันว่า ถ้าสาธารณชนได้รับความจริงที่ขาดหายกลับคืนมาครบถ้วน ผลที่คาดว่าจะได้รับคือ “อคติแห่งนคราของกรุงเทพมหานคร” ที่มีต่อกันในหมู่ประชาชนน่าจะลดน้อยลงไปได้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ