จิตแพทย์ชี้ “วัตถุนิยม” เหตุคนไทย “จมทุกข์” แนะใช้ชีวิต “พอเพียง” เพื่อค้นพบ “ความสุข” ที่ง่ายขึ้น

ข่าวทั่วไป Friday March 15, 2013 15:27 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 มี.ค.--ไอแอมพีอาร์ ปัจจุบันคนไทยส่วนใหญ่ดำเนินชีวิตอยู่ท่ามกลางบรรยากาศที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน ทั้งการชี้นำของระบบเศรษฐกิจเสรีทุนนิยม การเมืองที่มุ่งเน้นการเอาชนะ และสังคมที่ให้ความสำคัญกับวัตถุ จนเกิดความเชื่อผิดเพี้ยนว่า ความสุข คือการได้ครอบครองเป็นเจ้าของในสิ่งต่างๆ หลายคนจึงใช้เวลาไปทำงานหาเงินเพื่อใช้ซื้อสิ่งที่คิดกันว่าเป็นความสุข เมื่อจิตใจไม่สามารถต้านทานความรุนแรงแห่งการแข่งขันได้ ก็เกิดความเครียด วิตกกังวล และอาจรุนแรงถึงขั้นป่วยเป็นโรคซึมเศร้า โดยล่าสุดกระทรวงสาธารณสุขได้เผยว่า โรคซึมเศร้าเป็นปัญหาสาธารณสุขสำคัญที่กำลังทวีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งคาดว่ามีประชาชนชาวไทยอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าสูงถึง 1.5 ล้านคน โดยพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชายถึง 2 เท่า และเพียงไม่กี่ชั่วโมงภายหลังการเปิดเผยข้อมูล ได้เกิดเหตุสลดใจขึ้น เมื่อมีผู้พิพากษารายหนึ่งป่วยเป็นโรคซึมเศร้ารุนแรงถึงขั้นฆ่าตัวตาย โดยผู้ที่อยู่รอบข้างไม่รู้ ถึงอาการป่วย ตามที่ตกเป็นข่าวในสื่อต่างๆ นับเป็นการตอกย้ำว่าผู้คนจำนวนไม่น้อยในสังคมไทยกำลังประสบภาวะสุขภาพจิตอ่อนแอ ขาดความสามารถในการรับมือกับปัญหาและแรงกดดัน นายแพทย์ไกรสิทธิ์ นฤขัตพิชัย กรรมการผู้จัดการ โรงพยาบาลมนารมย์ โรงพยาบาลเอกชนเฉพาะทางด้านสุขภาพจิต เปิดเผยว่า คนไทยกำลังประสบกับภาวะความเครียดรุนแรงขึ้น อันมีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงในหลายๆ ด้าน แต่เดิมประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม สังคมมีลักษณะเป็นครอบครัวขยายและมีชีวิตชุมชนใกล้ชิดกัน สมาชิกในครอบครัวและเพื่อนบ้านในชุมชนต่างพึ่งพาอาศัยดูแลกันทั้งทางกายและทางใจ โดยมีความพอเพียงเป็นที่ตั้ง แต่เมื่อเมืองไทยเปลี่ยนรูปโฉมตนเองเป็นประเทศอุตสาหกรรม จึงเกิดการเปลี่ยนแปลงต่อโครงสร้างครอบครัวไปเป็นลักษณะครอบครัวเดี่ยวและครอบครัวหย่าร้างมากขึ้น ทั้งนี้ครอบครัวเป็นหน่วยพื้นฐานของสังคม และเป็นจุดเริ่มต้นของสุขภาพจิตที่แข็งแรงหรืออ่อนแอ “ปัจจุบันคนส่วนใหญ่กำลังหลงไปกับกระแสวัตถุนิยม เข้าใจผิดว่า การมีข้าวของเงินทองเทียบเท่าหรือมากกว่าคนอื่นคือความสุข จึงใช้ชีวิตอยู่ในวังวนของการแข่งขันตั้งแต่วัยเรียนจนถึงวัยทำงาน เกิดความเครียด ความกดดัน และความวิตกกังวลสะสม พ่อแม่คร่ำเคร่งทำงานหาเงินจนเหนื่อยล้า ไม่มีเวลาเหลือสำหรับการพูดคุยทำความเข้าใจและทำกิจกรรมสร้างสรรค์ร่วมกับลูก ทำให้ความสัมพันธ์อ่อนแอ ประกอบกับการเป็นครอบครัวเดี่ยวในยุคปัจจุบันที่ต่างคนต่างอยู่อาศัย เมื่อประสบปัญหาจึงขาดที่พึ่งทั้งทางกายและทางใจ พื้นฐานความแข็งแรงทางสุขภาพจิตที่ลดลง ส่งผลให้ความสามารถในการรับมือกับความกดดันในชีวิตลดลงเช่นกัน จากความเครียดและวิตกกังวล จึงพัฒนาสู่การเป็นโรคซึมเศร้าซึ่งก่อให้เกิดความเจ็บป่วยทั้งทางกายและทางจิตใจ” นพ.ไกรสิทธิ์ กล่าว ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าสามารถมีอาการแสดงทางกายได้ทุกระบบ อาทิ ปวดหัว นอนไม่หลับ หายใจติดขัด เบื่ออาหาร ความดันโลหิตสูง ท้องผูก ท้องเสีย ฯลฯ ในขณะที่อาการทางจิตใจ ประกอบด้วย การขาดสมาธิ กระวนกระวาย หลงลืม ซึ่งทั้งหมดนี้ทำให้ประสิทธิภาพในการเรียนและการทำงานลดลง หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ทำการรักษาอย่างทันท่วงที อาการป่วยทางด้านจิตใจจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนถึงขั้นไม่สามารถรับผิดชอบต่อภาระหน้าที่ได้ ขาดกำลังใจ รู้สึกท้อแท้ รู้สึกว่าตนเองเป็นคนไร้ค่าและเป็นภาระของผู้อื่น ซึ่งภาวะแทรกซ้อนรุนแรงที่สามารถเกิดขึ้นได้หลังจากอาการซึมเศร้าที่เกิดขึ้นก็ คือ การมีความคิดฆ่าตัวตายและในหลายๆ รายรุนแรงถึงขั้นลงมือกระทำการฆ่าตัวตายในที่สุด นายแพทย์ไกรสิทธิ์ อธิบายเพิ่มเติมว่า เมื่อมีการฆ่าตัวตายเกิดขึ้น จะส่งผลกระทบอีก 2 ด้าน คือผลกระทบต่อครอบครัวและสังคม ในแง่ครอบครัวอาจหมายถึง การเสียเสาหลักของครอบครัวไป ในแง่สังคมหมายถึง การสูญเสียทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่า อย่างเช่นกรณีผู้พิพากษาที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้ารุนแรงถึงขั้นปลิดชีวิตตัวเอง นอกจากนี้ในบางรายยังอาจมีผลที่ติดตามมา คือ ผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ไม่สามารถปรับตัวได้โดยต้องแบกรับภาระครอบครัวแทนผู้ที่เสียชีวิต คนที่ยังอยู่บางครั้งยังทำใจไม่ได้ ทำให้เกิดภาวะซึมเศร้า และอาจฆ่าตัวตายตามไปก็เป็นได้ “ทุกคนในครอบครัวควรใส่ใจดูแลซึ่งกันและกัน หากพบเห็นความผิดปกติทั้งของตนเองและ สมาชิกในครอบครัว เช่น พฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปจากอุปนิสัยเดิม ก็ควรมีการพูดคุยกันเพื่อสอบถามถึงปัญหา ความไม่สบายใจที่เกิดขึ้น เพื่อที่จะแบ่งเบาภาระทางจิตใจและสร้างกำลังใจให้กับผู้ที่กำลังประสบปัญหา แต่หากมีอาการรุนแรงขึ้นเช่น แสดงความรู้สึกว่าโลกไม่น่าอยู่ อนาคตมืดมน รู้สึกท้อแท้ พูดถึงความคิดอยากตาย ควรพาเข้ารับการรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพราะการพูดคุยกันอาจไม่เพียงพอ และการปล่อยให้ อยู่ในบ้านก็อาจไม่ปลอดภัย ดังนั้นเพื่อลดความเสี่ยง ควรให้อยู่ในความดูแลของแพทย์ซึ่งมีสภาพแวดล้อมปลอดภัยกว่า และบุคลากรที่มีความพร้อมในการดูแลมากกว่า” นพ.ไกรสิทธิ์ สรุป เป้าหมายสูงสุดในชีวิตที่แท้จริงของมนุษย์ทุกคนคือ “ความสุข” แต่ปัจจุบันคนส่วนใหญ่หลงเข้าใจ ว่าความสุขคือการได้มี หรือได้มาซึ่งสิ่งนั้นสิ่งนี้ ซึ่งเป็นความสุขที่ไม่ยั่งยืน นอกจากนี้การดิ้นรนขวนขวายแก่งแย่งให้ได้มาครอบครองบ่อยครั้งที่กลับกลายเป็นการสร้างความทุกข์ให้แก่ตนเองและคนรอบข้างอย่างแสนสาหัส ดังนั้นวิธีการแก้ไขที่ดีที่สุดคือ การเริ่มต้นสร้างความสุขจากในครอบครัวด้วยการให้เวลากัน ให้ความสนใจ เอาใจใส่กัน มีกิจกรรมร่วมกัน ให้เกียรติซึ่งกันและกัน ซึ่งความสุขทั้งหมดนี้ไม่ต้องใช้เงินซื้อ จึงไม่ต้องขวนขวายหาเงินจนเกินกำลัง เมื่อนั้นความกดดันย่อมไม่เกิดขึ้น ซึ่งการดำเนินชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เป็นแนวทางที่นำมาซึ่งความสุขที่แท้จริงของชีวิต โดยมีครอบครัวเป็นจุดเริ่มต้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ