สกว. ร่วมกับพันธมิตรด้านการศึกษาจัดประชุมเผยแพร่งานวิจัยเพื่อพัฒนาการศึกษาชายแดนใต้

ข่าวทั่วไป Monday March 25, 2013 16:06 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 มี.ค.--สกว. โครงการความร่วมมือทางวิชาการเพื่อการพัฒนาการศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยความร่วมมือระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพเยาวชน (สสค.) จัดประชุมวิชาการ “การใช้ประโยชน์การวิจัยเพื่อพัฒนาการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้” เพื่อเผยแพร่และขยายผลงานวิจัยในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา ไปสู่การใช้ประโยชน์เพื่อพัฒนาเชิงพื้นที่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีนายประมุข ลมุล ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีเป็นประธานเปิดงาน มีผู้บริหารจากองค์กรปกครองท้องถิ่นอาทิ รองเลขาธิการ ศอบต. ผู้นำท้องถิ่น หัวหน้าโครงการวิจัย นักวิจัย ตลอดจนครู และผู้นำเยาวชนกว่า 150 คนเข้าร่วมงาน ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ที่ปรึกษาสถาบันรามจิตติ และหัวหน้าทีมประสานโครงการความร่วมมือทางวิชาการเพื่อการพัฒนาการศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (โครงการความร่วมมือฯ) กล่าวว่า “การประชุมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ที่จะนำงานวิจัยปฏิบัติการที่มีผลกระทบสูงมานำเสนอสู่สาธารณะ เพื่อร่วมกันสร้างความเข้าใจและตระหนักต่อทิศทาง รูปแบบการจัดการศึกษา และการพัฒนาเยาวชนในพื้นที่ พร้อมร่วมกันมองอนาคตของการขยายผลสู่การจัดการศึกษา ทั้งด้านศาสนา การศึกษาในสายสามัย และสายอาชีพ เพื่อการมีงานทำให้สามารถกระจายตัวก่อประโยชน์ต่อพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้มากยิ่งขึ้นไป” “โครงการความร่วมมือฯ ดังกล่าวเริ่มขึ้นในปี 2550 ซึ่งเป็นการต่อยอดโครงการวิจัยและพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ท้องถิ่นที่สอดคล้องกับบริบทวัฒนธรรมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของ สกว. ที่เสร็จในปี 2549 ซึ่งได้ทั้งตัวแบบการเรียนรู้ที่บูรณาการทั้งการเรียนสายศาสนา สายสามัญและสายอาชีพ รวมทั้งเครือข่ายโรงเรียนที่ร่วมโครงการอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งได้กลายเป็นกรอบคิดในการพัฒนาโครงการความร่วมมือฯ ระหว่าง ศธ. และ สกว. ที่มีการลงนามในช่วงปลายปี 2550 ผลการดำเนินงานในช่วงเวลาที่ผ่านมา (2550 - 2554) ได้เกิดโครงการวิจัยปฏิบัติการในพื้นที่ 23 โครงการ เป็นโครงการที่มีผลกระทบสูงหลายโครงการ อาทิ โครงการพัฒนาเครือข่ายจัดการความรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา โครงการยุววิจัยประวัติศาสตร์ท้องถิ่น โครงการพัฒนาสื่อคุณธรรมตามหลักศาสนาอิสลาม โครงการพัฒนาระบบประกันคุณภาพภายในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม โครงการพัฒนาเครือข่ายครอบครัวเพื่อดูแลเด็กเล็ก เป็นต้น” “เรายังคงมีโจทย์ที่ท้าทายที่สุดจากการเปิดเสรีการค้ากับประชาคมอาเซียนในปี พ.ศ. 2558 ที่ไม่ได้ท้าทายเฉพาะพื้นที่ชายแดนใต้ในเชิงเศรษฐกิจและความมั่นคงเท่านั้น แต่ยังท้าทายระบบการศึกษาที่จะเตรียมคนให้พร้อมทั้งในมิติแรงงานและในมิติของความเข้าใจซึ่งกันและกันทางสังคมวัฒนธรรมที่จะทำให้เราเป็นสังคมที่อยู่อย่างสันติสุขในความหลากหลายแตกต่างทางวัฒนธรรมได้อย่างแท้จริง” ดร.อมรวิชช์ กล่าวเสริม ด้าน ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย รองผู้อำนวยการ สกว. และรองประธานคณะกรรมการโครงการความร่วมมือฯ กล่าวว่า “งานวิจัยที่มีผลกระทบต่อการพัฒนาการศึกษาในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ควรเป็นงานวิจัยที่มีองค์ประกอบสำคัญ 3 ส่วน ได้แก่ ข้อมูลความรู้ กลไก และการดำเนินงาน โดยข้อมูลความรู้ที่เป็นเรื่องๆ หรือผลผลิตเป็นชิ้นๆ ยังไม่สามารถตอบโจทย์การพัฒนาการศึกษาในพื้นที่ดังกล่าวได้ ขณะที่การศึกษาวิจัยที่ใช้กลไกการทำงานแบบเครือข่าย เช่น เครือข่ายครู เด็กและเยาวชน จะสร้างให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันจากประสบการณ์ในพื้นที่ได้มากกว่า นอกจากนี้ ในส่วนของการดำเนินงาน เป็นการนำกระบวนการวิจัยซึ่งเป็นรูปแบบการเรียนรู้ที่มีความสามารถในการสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ค่อนข้างสูง ไม่ใช่เพียงนำผลวิจัยไปใช้ลำพัง แต่เป็นการนำขั้นตอนหรือกระบวนการทำให้ได้มาซึ่งความรู้เพื่อนำไปใช้กับทุกๆ พื้นที่ โดยองค์ประกอบทั้ง 3 ส่วนถือว่าสำคัญมากสำหรับการพัฒนาเขตพื้นที่การศึกษาในชายแดนภาคใต้อย่างยั่งยืน” ด้านเครือข่ายโรงเรียน นายนาสีรุดดิน เล๊ะนุ รองประธานสมาพันธ์โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามฯ กล่าวว่า “ประชาชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้กว่าร้อยละ 80 เป็นคนมุสลิม รูปแบบการศึกษาจึงมีความแตกต่างกับภูมิภาคอื่นๆ โดยสิ้นเชิง การที่ สกว. ให้การสนับสนุนการทำวิจัยในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง และการที่ภาครัฐเปิดโอกาสให้สอนหลักสูตรอิสลามศึกษา ถือเป็นเรื่องที่ดีและตอบโจทย์ความต้องการของคนในพื้นที่ สะท้อนให้เห็นว่าภาครัฐเริ่มเข้าใจอัตลักษณ์ของคนที่นี่ อย่างไรก็ตาม ประเด็นเรื่องจัดการศึกษา หลักสูตรอิสลามศึกษาและหลักสูตรสามัญยังต้องมีการขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการบูรณาการต่อเชื่อมกันให้มากยิ่งขึ้น กล่าวคือ การพัฒนาการศึกษาควรสอดคล้องกับวัฒนธรรมและความต้องการของคนที่นี่ โดยทางออกในเรื่องนี้เห็นว่า โรงเรียนสอนศาสนาอิสลามและโรงเรียนเอกชนควรเปิดสอนหลักสูตรอาชีวะเอง มากกว่าจะให้เข้าระบบสถาบันอาชีวศึกษา เพื่อให้เกิดการขยายตัวด้านการศึกษาและเพิ่มสัดส่วนผู้จบสายอาชีวะด้วย” สำหรับตัวอย่างโครงการใหม่ที่น่าสนใจภายใต้ความร่วมมือระยะที่ 2 อาทิ ชุดโครงการวิจัยและพัฒนาทักษะชีวิตเด็กและเยาวชนในยุคประชาคมอาเซียน โดย ดร.นินาวาลย์ ปานากาเซ็ง โรงเรียนพัฒนาวิทยาลัย จังหวัดยะลา และคณะ “โครงการวิจัยนี้มุ่งศึกษาและพัฒนาทักษะชีวิตที่จำเป็นของเด็กและเยาวชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่ทักษะการใช้ชีวิต การทำงาน เป็นผู้ประกอบการ ไปจนถึงทักษะการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรมภายใต้กระแสการเปิดเสรีการค้าอาเซียนในปี 2558 โดยใช้พลังการต่อยอดเครือข่ายเด็กและเยาวชนจากโครงการวิจัยและส่งเสริมเครือข่ายการรวมพลังแม่วัยเรียน และโครงการวิจัยและส่งเสริมเครือข่ายการเรียนรู้เพื่อสร้างเด็กดี มีคุณภาพในครอบครัวคุณภาพ (Happy Family in Happy Home for Happy News Generation) ซึ่งเครือข่ายเยาวชนเหล่านี้จะเป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมทักษะชีวิตที่ดีให้แก่เพื่อนเยาวชน ด้วยกระบวนการ “เพื่อนช่วยเพื่อน” ให้รอดพ้นจากอบายมุขหรือเส้นทางชีวิตเสี่ยง และมุ่งสร้างแกนนำเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่รวมพลังทั้งเยาวชนไทยพุทธและไทยมุสลิมที่จะร่วมกันเป็นผู้ดูแลสันติสุขในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ในอนาคต”

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ