การปรับเพิ่มอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย โดยบริษัท Japan Credit Rating Agency, Ltd. (JCR)

ข่าวทั่วไป Wednesday April 3, 2013 15:02 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 เม.ย.--สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ นางสาวจุฬารัตน์ สุธีธร ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ได้แถลงข่าวเกี่ยวกับผลการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยโดยบริษัท Japan Credit Rating Agency, Ltd. (JCR) เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2556 ว่า JCR ได้ยืนยันอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้ระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศ (Foreign Currency Long-Term Senior Debts) ที่ระดับ A- และอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้ระยะยาวสกุลเงินบาท (Local Currency Long-Term Senior Debts) ที่ระดับ A โดยมีแนวโน้มความน่าเชื่อถือที่มีเสถียรภาพ (Stable Outlook) โดยอันดับความน่าเชื่อถือดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงการพัฒนาเศรษฐกิจที่มีปัจจัยสนับสนุนจากการเติบโตของอุตสาหกรรมการส่งออกของประเทศ ความมีเสถียรภาพของระบบการเงินการธนาคาร ฐานะทางการคลังที่ได้รับการรักษาให้อยู่ในระดับดีโดยเปรียบเทียบ และดุลการต่างประเทศที่แข็งแกร่ง แนวโน้มความน่าเชื่อถืออยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีอัตราการเติบโตสูงถึงร้อยละ 6.4 ในปี 2555 ที่ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากเศรษฐกิจในปีฐานที่มีการชะลอตัวอย่างมากจากอุทกภัยครั้งใหญ่ในปี 2554 JCR คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจน่าจะกลับมาเติบโตประมาณร้อยละ 5 ในปี 2556 จากภาคการส่งออกที่จะดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก รวมทั้งฐานะทางการคลังและระดับหนี้สาธารณะของประเทศที่ได้รับการรักษาให้อยู่ในระดับดีโดยเปรียบเทียบมาเป็นเวลานาน อย่างไรก็ดี JCR จะจับตามองแนวโน้มในอนาคตเนื่องจากในระยะกลางจะมีการใช้จ่ายทางการคลังครั้งใหญ่ในการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งรวมถึงมาตรการป้องกันอุทกภัย ในขณะเดียวกันความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออกของประเทศและสถานะด้านการต่างประเทศที่แข็งแกร่งจากการลงทุนโดยตรงสะสมของนักลงทุนต่างชาติยังมีขนาดใหญ่ และถึงแม้ว่าสถานการณ์ความไม่สงบทางสังคมและการเมืองที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกจนถึงปี 2553 ได้สงบลงตั้งแต่ปี 2554 อย่างไรก็ดี ยังคงมีบางปัจจัยที่อาจจะก่อให้เกิดความวุ่นวาย อาทิ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่ง JCR จะติดตามพัฒนาการในด้านต่างๆ และผลกระทบทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นจากปัญหาทางการเมืองต่อไป 1. เศรษฐกิจไทยมีอัตราการเติบโตสูงในปี 2555 ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากฐานที่ต่ำ การเติบโตของเศรษฐกิจไทยหดตัวลงมาอยู่ที่ร้อยละ 0.1 ในปี 2554 จากการประสบอุทกภัยอย่างรุนแรง แต่ในปี 2555 กลับมามีอัตราการเติบโตที่ร้อยละ 6.4 ซึ่งสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ อันเป็นผลมาจากฐานที่ต่ำประกอบกับอุปสงค์ในการฟื้นฟูที่สูง เนื่องจากประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายการผลิตและกระจายสินค้าของอุตสาหกรรมการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในภูมิภาคเอเชียตะวันออก อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์และสินค้าอิเลคทรอนิกส์ ทำให้ประเทศไทยต้องพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก โดยในปี 2555 การส่งออกสินค้าและบริการคิดเป็นร้อยละ 75.3 ของ GDP นอกจากนี้ ประเทศไทยยังเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมของนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยในปี 2555 มีจำนวนนักท่องเที่ยวรวม 22.3 ล้านคน ซึ่งมากกว่าจำนวนสูงสุดที่เคยบันทึกไว้ในปี 2554 แม้ว่าประเทศจะได้รับความเสียหายจากอุทกภัยครั้งใหญ่ JCR คาดว่า ในปี 2556 การเติบโตของเศรษฐกิจจะเป็นไปตามที่คาดที่ประมาณร้อยละ 5 เนื่องจากภาคการส่งออกที่คิดเป็นสัดส่วนใหญ่ของ GDP จะดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกหลังจากที่หดตัวในปีก่อนหน้า ทั้งนี้ จะจับตามองผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับภาคการส่งออกจากการแข็งค่าของเงินบาท และ JCR มองว่า เศรษฐกิจไทยมีโอกาสที่จะเติบโตในระยะกลางผ่านการค้าชายแดน โดยใช้ความได้เปรียบจากที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่เป็นจุดศูนย์กลางของภูมิภาคอินโดจีน ประกอบกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้าน ในขณะเดียวกัน ภาคการธนาคารของประเทศยังคงแข็งแรงตลอด ช่วงหลายปีที่เกิดวิกฤต ในปี 2555 สัดส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพโดยรวมของธนาคารพาณิชย์ลดลงไปอยู่ที่ร้อยละ 2.3 (อัตราสุทธิร้อยละ 1.0) จากเดิมที่อัตราโดยรวมอยู่ที่ร้อยละ 2.7 (อัตราสุทธิร้อยละ 1.4) ในปี 2554 ส่วนอัตราความเพียงพอของเงินทุนเพื่อรองรับความเสี่ยงอยู่ในระดับสูงที่ร้อยละ 16.3 (เงินกองทุนชั้นที่ 1 มีสัดส่วนร้อยละ 11.8) ณ สิ้นปี 2555 2. จำเป็นต้องจับตามองผลกระทบจากการใช้จ่ายในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานครั้งใหญ่ต่อฐานะทางการคลัง ฐานะทางการคลังของประเทศไทยยังคงมีความแข็งแกร่งจากการที่รัฐบาลปฏิบัติตามกรอบวินัยทางการคลังอันเข้มงวดที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติวิธีงบประมาณ พ.ศ. 2502 อย่างเคร่งครัด โดยในปีงบประมาณ 2556 คาดว่า จะมีการลดการขาดดุลงบประมาณลงเหลือร้อยละ 2.4 ของ GDP จากร้อยละ 3.4 ของ GDP ในปีงบประมาณ 2555 และขณะที่หนี้สาธารณะที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จากการขาดดุลการคลังติดต่อกันหลายปี แต่สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ยังคงค่อนข้างต่ำโดยเปรียบเทียบที่ร้อยละ 45.5 ณ สิ้นเดือนกันยายน 2555 อย่างไรก็ดี การขาดดุลทางการคลังอาจเพิ่มขึ้นในอนาคตจากการที่รัฐบาลเตรียมผลักดันแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศซึ่งรวมถึงทางหลวงและท่าเรือ นอกเหนือไปจากมาตรการป้องกันอุทกภัย โดยการจัดทำเป็นการลงทุนนอกกรอบงบประมาณปกติ JCR จะจับตามองการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะกลางและแนวโน้มฐานะทางการคลังของประเทศไทยต่อไป 3. ดุลการต่างประเทศยังคงมีเสถียรภาพในอนาคตอันใกล้ ประเทศไทยยังคงรักษาการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของแต่ละปีไว้ได้อย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่วิกฤตค่าเงินเอเชียในปี 2540 โดยในปี 2555 การเกินดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดปรับลดลง เนื่องจากการส่งออกที่ชะลอตัวท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกที่ซบเซา และการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากอุปสงค์ในการฟื้นฟูหลังการประสบปัญหาอุทกภัย ประมาณร้อยละ 86 ของการส่งออกเป็นสินค้าที่ใช้ในอุตสาหกรรมการผลิต โดยมีส่วนแบ่งสูงสุดเป็นสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง อาทิ เครื่องจักรและชิ้นส่วน ชิ้นส่วนอิเลคทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ และถึงแม้ว่าจะมีความวุ่นวายทางการเมืองเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงปี 2554 แต่กลับไม่มีสัญญาณการถอนตัวของการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติที่สนับสนุนอุตสาหกรรมเหล่านั้น ผลของอุทกภัยกระทบต่อการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติในปี 2554 มีเพียงเล็กน้อย JCR จะยังคงเฝ้าติดตามความคืบหน้าของแผนการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลไทย และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากมาตรการต่อการไหลเข้าของการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติในอนาคต ในส่วนความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออกและภาคการต่างประเทศของประเทศไทยยังคงมีความแข็งแกร่งดังจะเห็นได้จากอุตสาหกรรมการผลิตที่หนุนหลังโดยการลงทุนโดยตรงสะสมจากต่างชาติและทุนสำรองเงินตราต่างประเทศที่มีมากกว่าหนี้ต่างประเทศทั้งหมด ด้านทุนสำรองเงินตราต่างประเทศที่ไม่รวมทองคำยังคงมีมูลค่ามากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยอยู่ที่ 171.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2556 (เทียบเท่ากับมูลค่าการนำเข้า 9.54 เดือน ในปี 2555 และประมาณ 3 เท่า ของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น ณ สิ้นเดือนกันยายน 2555) โดยทุนสำรองทั้งหมดมีมากกว่าหนี้ต่างประเทศที่มียอดคงค้างอยู่ที่ 126.54 พันล้านเหรียญสหรัฐ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2555 ส่วนวิจัยนโยบายหนี้สาธารณะ สำนักนโยบายและแผน สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ โทร. 02 265 8050 ต่อ 5505, 5522

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ