ศูนย์วิจัยภัยพิบัติฯ NIDA เปิดข้อมูลสารก่อมะเร็งในหมอกควันภาคเหนือ ชี้แม่ฮ่องสอนเสี่ยงสุด ทั้งสารก่อมะเร็งและปริมาณฝุ่นเพิ่มขึ้น 5 เท่าในช่วงวิกฤติ

ข่าวทั่วไป Tuesday April 9, 2013 15:45 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 เม.ย.--มาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ NIDA เผยผลวิจัยศึกษาฝุ่นละอองในอากาศช่วงก่อนและหลังเกิดวิกฤติหมอกควันภาคเหนือตอนบน พบฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอนที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ สูงเกินเกณฑ์มาตรฐานทุกจังหวัด ระบุ เชียงราย แม่ฮ่องสอน หนักสุดมีฝุ่นละอองเพิ่มขึ้นถึง 5 เท่า ชี้หลังตรวจวัดความเข้มข้นของสารก่อมะเร็งในฝุ่น พบประชาชนในจังหวัดแม่ฮ่องสอนและลำพูน มีความเสี่ยงที่ได้สารก่อมะเร็งจากการสูดดมหมอกควันมากสุด ด้าน NIDA จี้ภาครัฐควรเร่งรณรงค์สร้างความเข้าใจถึงผลกระทบจากการเผาป่า พร้อมเพิ่มบทลงโทษและเข้มงวดต่อการบังคับใช้กฎหมายมากขึ้น จากสถานการณ์วิกฤติหมอกควันในภาคเหนือตอนบนที่เกิดจากการเผาป่า ทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ โดยมีประชาชนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลนับหมื่นคน ทางศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ NIDA ซึ่งได้ทำการเก็บข้อมูลปริมาณฝุ่นละอองขนาด 2.5 ไมครอน (PM2.5) ในชั้นบรรยากาศ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ที่สูดดมเข้าไป เปรียบเทียบระหว่างช่วงปลายปี 2555 (ก่อนเกิดวิกฤต) กับช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ถึงต้นเดือนมีนาคม 2556 (ช่วงเกิดวิกฤต) จึงได้นำเสนอผลการวิจัยต่อสาธารณชน เพื่อให้เกิดการตระหนักต่อปัญหา และร่วมกันหาทางแก้ไขต่อไป ทั้งนี้ จากการเก็บตัวอย่างฝุ่นละอองขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางน้อยกว่า 2.5 ไมครอน (PM2.5) เพื่อศึกษาองค์ประกอบทางเคมีจากลักษณะการดูดกลืนรังสีอินฟราเรดของฝุ่นละอองในบรรยากาศ เพื่อตรวจสอบความสัมพันธ์การเกิดโรคมะเร็งปอด โดยกำหนดระยะเวลาการเก็บตัวอย่างสภาพอากาศในช่วงกรกฎาคม-กันยายน 2555 ซึ่งเป็นช่วงก่อนเกิดวิกฤติ และช่วงกุมภาพันธ์-เมษายน 2556 หลังเกิดวิกฤติหมอกควัน ได้ผลที่น่าสนใจ รองศาสตราจารย์ ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ NIDA (Dr.Siwatt Pongpiachan, Associate Professor Director of NIDA Center for Research & Development of Disaster Prevention & Management) เปิดเผยว่า จากการลงพื้น 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ประกอบไปด้วย จังหวัดเชียงราย พะเยา น่าน ลำปาง แพร่ อุตรดิตถ์ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ และ ลำพูน เพื่อศึกษาความเข้มข้นของปริมาณฝุ่น PM2.5 ซึ่งมีความเสี่ยงต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ พบว่า จังหวัดที่มีค่าเฉลี่ยปริมาณฝุ่นละอองหลังเกิดวิกฤติหมอกควันเพิ่มขึ้นจากก่อนเกิดวิกฤติมากที่สุด ได้แก่ เชียงรายและแม่ฮ่องสอน โดยเชียงรายมีปริมาณฝุ่นละอองก่อนเกิดวิกฤติ 14.97 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เพิ่มเป็น 91.82 ลูกบาศก์เมตรหรือเพิ่มขึ้น 513% และแม่ฮ่องสอนมีปริมาณฝุ่นละอองก่อนเกิดวิกฤติ 34.48 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เพิ่มเป็น 209.85 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร หรือเพิ่มขึ้น 509% รองลงมาได้แก่ จังหวัดพะเยา ที่มีปริมาณฝุ่นละออง 17.73 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เพิ่มเป็น 99.70 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร หรือเพิ่มขึ้น 465% ขณะที่จังหวัดที่มีปริมาณฝุ่นละอองในช่วงวิกฤติเพิ่มสูงขึ้นในระดับปานกลางได้แก่ ลำพูน น่าน และลำปาง โดยมีค่าเฉลี่ยฝุ่นละอองในอากาศหลังเกิดวิกฤติหมอกควันเพิ่มขึ้นจากช่วงปกติคิดเป็น 262%, 221% และ172% ตามลำดับ ส่วนจังหวัดที่มีปริมาณฝุ่นเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยได้แก่ อุตรดิตถ์ แพร่ มีปริมาณฝุ่นเพิ่มขึ้น 100% และ 90 % ตามลำดับ ส่วนจังหวัดเชียงใหม่ มีปริมาณฝุ่นละอองในช่วงวิกฤติหมอกควันเพิ่มขึ้นในสัดส่วนน้อยที่สุด คือเพิ่มขึ้นเพียง 87% เท่านั้น “เชียงราย และแม่ฮ่องสอน เป็นจังหวัดที่น่าห่วงต่อสถานการณ์หมอกควันในชั้นบรรยากาศที่มีปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กเพิ่มสูงขึ้นถึง 5 เท่า จากช่วงก่อนเกิดวิกฤติ และเมื่อนำข้อมูลเหล่านี้มาเทียบกับค่ามาตรฐานของ US-EPA ซึ่งกำหนดค่าของฝุ่น PM2.5 ควรมีไม่เกิน 35 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรภายในระยะเวลาการวัดไม่เกิน 24 ชั่วโมงแล้ว จะพบว่าทุกจังหวัดในภาคเหนือตอนบน กำลังประสบกับปัญหาฝุ่นละอองจากหมอกควันอยู่ในขั้นวิกฤติที่มีผลต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคระบบทางเดินหายใจเพิ่มขึ้น” รองศาสตราจารย์ ดร.ศิวัช กล่าว ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ NIDA กล่าวด้วยว่า ผลการศึกษาในครั้งนี้ ยังได้ตรวจวัดระดับความเข้มข้นของสารก่อมะเร็ง PAHs ในฝุ่น PM2.5 ในชั้นบรรยากาศของ 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ซึ่งผลจากการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า ค่าเฉลี่ยของสารก่อมะเร็งรวมทั้ง 9 จุด (Total PAHs) มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 613 พิโคกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยพบว่า จังหวัดแม่ฮ่องสอนมีค่า Total PAHs สูงสุดที่ 3,864 พิโคกรัมต่อลูกบาศก์เมตร รองลงมาได้แก่ จังหวัดลำพูน มีค่า Total PAHs อยู่ที่ 866 พิโคกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ขณะที่จังหวัดแพร่มีค่า Total PAHs ต่ำสุด อยู่ที่ 54 พิโคกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ทั้งนี้ ภาครัฐควรเร่งรณรงค์และสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อหยุดการเผาป่าหรือเศษชีวมวลในที่โล่งแจ้ง และเพิ่มโทษ พร้อมให้เจ้าหน้าที่เข้มงวดต่อการบังคับใช้กฎหมายเพื่อลดการเผาป่า รวมถึงสร้างความเข้าใจถึงอันตรายจากการสูดดมเอาสารก่อมะเร็งจากการเผาป่าที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ได้ เผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์ ในนามศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ NIDA DPM โดย บริษัท มาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : คุณพิภพ ฆ้องวง (ท๊อป) โทร. 02-612-2081 ต่อ 127 Email : baokaban_naja@hotmail.co.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ