ม.อ. ผนึก สนพ. หนุนสร้างระบบผลิตก๊าซชีวภาพให้สหกรณ์กองทุนสวนยาง ช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและต้นทุนการผลิตของเกษตรกร

ข่าวทั่วไป Friday April 12, 2013 13:21 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 เม.ย.--มาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ ม.อ. จับมือ สนพ. กระทรวงพลังงาน สร้างระบบผลิตก๊าซชีวภาพในสหกรณ์สวนยางระยะที่ 1 ให้กลุ่มสหกรณ์กองทุนสวนยาง ใน 5 จังหวัด เพื่อผลิตพลังงานทดแทนจากน้ำเสีย ช่วยลดต้นทุนด้านการผลิต และเป็นประโยชน์กับสิ่งแวดล้อม คาดผลิตก๊าซชีวภาพได้ 105,000 ลบ.ม./ปี และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 800 ตัน/ปี รองศาสตราจารย์ ดร.สุเมธ ไชยประพัทธ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบพลังงาน มหาวิทยาลัย สงขลานครินทร์ (ม.อ.) (Assoc.Prof. Dr.Sumate ChaiprapatDirector, PSU Energy System Research Institute) เปิดเผยว่า กองทุนส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน ได้ให้การสนับสนุนโครงการส่งเสริมสาธิตการผลิตก๊าซชีวภาพ ของสถาบันวิจัยระบบพลังงาน ม.อ. เพื่อสร้างระบบผลิตก๊าซชีวภาพในสหกรณ์สวนยาง ระยะที่ 1 เพื่อส่งเสริมให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีก๊าซชีวภาพในการจัดการน้ำเสีย และเป็นพลังงานทดแทนในการผลิตยางรมควัน ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการผลิตและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว ถือเป็นการต่อยอดความสำเร็จจากงานวิจัยของสถาบันวิจัยระบบพลังงาน ที่ได้นำผลการวิจัยระบบบ่อหมักร่วมไร้อากาศแบบแผ่นคลุมประยุกต์ มาใช้ปรับปรุงระบบบำบัดน้ำเสียของสหกรณ์โรงอบ/รมยาง เพื่อแก้ไขปัญหากลิ่นเหม็นและน้ำทิ้งไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานน้ำทิ้งของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ให้กับสหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านเก่าร้างจำกัด อำเภอคลองหอยโข่ง จังหวัดสงขลา โดยการผลิตก๊าซชีวภาพจากน้ำเสียของสหกรณ์ผลิตยางแผ่นรมควัน จะช่วยแก้ปัญหาการจัดการน้ำเสีย และวัสดุอินทรีย์ของสหกรณ์ผลิตยางแผ่นรมควัน อีกทั้งยังนำไปใช้เป็นพลังงานทดแทนในการผลิตยางแผ่นรมควันแทนการใช้ไม้ฟืน ช่วยลดต้นทุนเชื้อเพลิงในการผลิต และลดปัญหากลิ่นเหม็นจากการปล่อยน้ำเสียที่รบกวนชุมชนใกล้เคียงอีกด้วย นอกจากจะช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว โครงการดังกล่าว ยังช่วยส่งเสริมการเรียนรู้และสร้างความตระหนักถึงคุณค่าของพลังงานทดแทนให้กับกลุ่มเกษตรกรผ่านกลุ่มสหกรณ์ ที่สามารถเป็นศูนย์เรียนรู้ชุมชน ในการนำของเสียจากการผลิตมาทำให้เกิดประโยชน์ในรูปแบบพลังงานทดแทน นอกจากนี้ ยังสามารถนำมูลสัตว์หรือวัสดุอินทรีย์มาเติมในระบบบ่อหมักร่วมไร้อากาศ เพื่อหมักร่วมกับน้ำเสียเพิ่มอัตราการผลิตก๊าซชีวภาพ เพื่อนำไปใช้ในครัวเรือนได้อีกด้วย “จากความสำเร็จในการขยายการวิจัยดังกล่าว สถาบันวิจัยระบบพลังงาน ม.อ.จึงได้ขอการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน เพื่อก่อสร้างและติดตั้งระบบผลิตก๊าซชีวภาพจากน้ำเสียจากการทำยางรมควันให้กลุ่มสหกรณ์ประมาณ 10 แห่ง ในจังหวัดนครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง สตูลและสงขลา ที่มีกำลังการผลิตรวมกันกว่า 5 ล้าน กก.ต่อปี สามารถนำไปผลิตก๊าซชีวภาพได้สูงสุดประมาณ 105,000 ลบ.ม./ปี ซึ่งสามารถทดแทนไม้ฟืนที่ใช้รมควันยางได้ 2 ล้าน กก./ปี และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 800 ตัน/ปี” รองศาสตราจารย์ ดร.สุเมธ ไชยประพัทธ์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ