“ยุทธพงศ์” แจงผลการประชุมยางพาราอาเซียนประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี เป็นเวทีผู้ผลิตพบผู้ซื้อในการเจรจาซื้อขายยาง

ข่าวทั่วไป Friday April 12, 2013 13:25 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 เม.ย.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสกรณ์ “ยุทธพงศ์” แจงผลการประชุมยางพาราอาเซียนประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี เป็นเวทีผู้ผลิตพบผู้ซื้อในการเจรจาซื้อขายยาง พร้อมความคืบหน้าการจัดตั้งรับเบอร์ซิตี้ และการใช้ยางพาราผสมแอสฟัลต์คอนกรีตในงานถนนทางหลวง นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลการจัดการสัมมนายางพาราอาเซียนและประเทศพันธมิตร เรื่อง ทิศทางและการเติบโตในด้านอุตสาหกรรมยางของกลุ่มประเทศอาเซียนและประเทศพันธมิตร ในระหว่างวันที่ 10 — 11 เมษายน 2556 ณ โรงแรมฮิลตัน ภูเก็ต อาร์คาเดีย รีสอร์ท แอนด์ สปา ว่า นับเป็นการจัดประชุมครั้งแรก นอกจากได้มีการเชิญนักวิชาการด้านยางพาราจากประเทศต่าง ๆ มาร่วมแลกเปลี่ยนนวัตกรรมและเทคโนโลยีการเพาะปลูกยางพาราแล้ว ประเทศผู้ผลิตยางพาราจากทั้ง 10 ประเทศ ยังได้มีโอกาสพบกับผู้ซื้อรายใหญ่ของโลก ได้แก่ ประเทศจีน และอินเดีย อีกทั้งได้เชิญผู้แทนบริษัทที่ผลิตล้อยางสำหรับรถยนต์และเครื่องบิน เข้าร่วมงานด้วย นอกจากนี้ ได้มีการเจรจาและลงนามซื้อขายยางมากกว่า 8 แสนตัน ระหว่างผู้ขายกับผู้ซื้อจากประเทศจีน และไต้หวัน นายยุทธพงศ์ กล่าวต่อไปว่า ในการประชุมครั้งนี้ ยังมีความคืบหน้าในความร่วมมือของประเทศไทยและมาเลเซียในการจัดตั้งรับเบอร์ซิตี้ โดยรองปลัดกระทรวงผลิตและอุตสาหกรรมของมาเลเซีย ได้ร่วมหารือภาคเอกชนของไทยในการจัดตั้งรับเบอร์ซิตี้ และเห็นว่าเหมาะสมที่จะจัดตั้งบริเวณชายแดนด่านประกอบ อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา โดยทั้งสองประเทศเห็นด้วยที่จะให้มีการสนับสนุนสิทธิพิเศษด้านภาษี ด้านพัฒนาที่ดิน และทางมาเลเซียต้องการให้แรงงานไทยจากจังหวัดชายแดนใต้ เข้าไปทำงานในมาเลเซียจำนวน 3 หมื่นคน ซึ่งการจัดตั้งรับเบอร์ซิตี้ นอกจากจะเป็นการพัฒนาพื้นที่ชายแดนของ 2 ประเทศ เป็นเขตอุตสาหกรรมยางพารา เพื่อเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจ สร้างงาน สร้างรายได้ สร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชากรทั้ง 2 ประเทศ โดยใช้วัตถุดิบหลักจากประเทศไทย และนับเป็นมาตรการทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่จะได้ช่วยแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย “ในความร่วมมือนี้ ไทยพร้อมที่จะป้อนวัตถุดิบน้ำยางข้นคุณภาพสูง หรือยางชนิดอื่นจากประเทศไทย รวมทั้งแรงงานฝีมือที่ต้องการจากฝั่งไทยด้วย ในขณะเดียวกันเขตอุตสาหกรรมนี้ก็จะได้รับประโยชน์จากมาเลเซียที่มีต้นทุนด้านพลังงานถูกกว่า และความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการผลิตมากกว่า เชื่อว่า เมื่อโครงการนี้เสร็จสมบูรณ์แล้ว จะสามารถเพิ่มความต้องการใช้ยางอีกไม่น้อยกว่าปีละ 200,000 ตัน” นายยุทธพงศ์ กล่าว นายยุทธพงศ์ กล่าวอีกว่า ในโอกาสนี้ยังได้มีการประกาศความร่วมมือระหว่าง กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม และคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดำเนินโครงการวิจัยการใช้ยางพาราผสมแอสฟัลต์คอนกรีตในงานถนนทางหลวงหมายเลข 44 สายกระบี่ - ขนอม กม.4 + 500 - กม. 21 + 400 (ด้านขวาทาง) ซึ่งเป็นทางเชื่อมฝั่งทะเลอันดามันกับฝั่งทะเลอ่าวไทย ระยะทาง 16.9 กิโลเมตร วัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการใช้ยางพาราภายในประเทศ ด้วยการเพิ่มมูลค่าผลผลิตยางพาราในการเป็นส่วนผสมกับยางแอสฟัลต์ พัฒนาเทคโนโลยีการผสมแอสฟัลต์กับยางพาราเพื่อการใช้งานจริงในลักษณะเชิงพาณิชย์ และเพื่อศึกษาคุณสมบัติเชิงวิศวกรรมของพาราแอสฟัลต์ซีเมนต์ และของผิวทางพาราแอสฟัลต์คอนกรีตในงานก่อสร้างจริง ทั้งก่อนปูผิว ระหว่างปูผิว และหลังปูผิว กองเกษตรสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสกรณ์ โทร 02-2810859 แฟกซ์ 02-2822871 moacnews@gmail.com www.moac.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ