Museum Family ชวนคนไทยร่วม “เพลินพยนต์” ไขปริศนากำเนิดมายาภาพ “เวทมนต์” หรือ “วิทยาศาสตร์”

ข่าวทั่วไป Monday April 22, 2013 18:12 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 เม.ย.--ไอแอมพีอาร์ ภาพยนตร์เป็นมหรสพที่ช่วยสร้างความรื่นรมย์ให้ผู้คนได้เป็นอย่างดี การนำเสนอด้วยเทคนิคพิเศษต่างๆ นอกจากจะสร้างความตื่นตาตื่นใจให้ผู้ชมแล้ว ยังแสดงถึงความคิดสร้างสรรค์และความสามารถในเชิงศิลปะของผู้ผลิตภาพยนตร์ด้วย แต่หากย้อนกลับไปในอดีตสมัยที่ยังไม่มีเทคโนโลยีทันสมัย มนุษย์ทำให้ภาพยนตร์เกิดขึ้นได้อย่างไร หรือเวทมนต์คือสิ่งที่ทำให้ภาพนิ่งเคลื่อนไหวได้? เมื่อเกิดข้อสงสัยก็ควรทำการพิสูจน์ให้ได้คำตอบ ด้วยเหตุนี้ สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.) จึงได้ร่วมกับ หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) จัดนิทรรศการ “เพลินพยนต์” ขึ้นภายใต้โครงการ Museum Family โดยนำเสนอจุดกำเนิดภาพยนตร์ในยุคสมัยต่างๆ เพื่อให้ผู้ชมได้เรียนรู้ความเป็นมาและพัฒนาการของภาพยนตร์ทั้งของไทยและต่างประเทศ สั่งสมเป็นต้นทุนความรู้ที่จะนำไปสู่การสร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ ได้ในอนาคต นายโดม สุขวงศ์ ผู้อำนวยการหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) เปิดเผยที่มาของนิทรรศการเพลินพยนต์ว่า หอภาพยนตร์และสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ มีเป้าหมายการทำงานเดียวกันคือ มุ่งสร้างสรรค์ให้ประเทศไทยเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ และการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพต้องมีความเพลิดเพลินเป็นเครื่องนำ จึงได้นำปรัชญาการเรียนรู้อย่างสนุกสนานของสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ คือ Play + Learn = Plearn หรือ เพลิน มาผสมกับ พยนต์ ที่มีความหมายว่า ปลุกเสกให้เคลื่อนไหวได้ดุจมีชีวิต เกิดเป็นนิทรรศการ เพลินพยนต์ “ชาวสยามมีการแสดงหรือการละเล่นที่ใช้เครื่องกลไกหรือกลเม็ด ที่ทำให้สิ่งประดิษฐ์หรือการละเล่นนั้นกระดุกกระดิกได้เหมือนมีชีวิต โดยเรยกวิธีการละเล่นอย่างนี้ว่า พยนต์ ซึ่งเป็นคำไทยที่แปลว่าปลุกเสกหรือชุบให้มีชีวิต เช่น การแสดงหุ่นที่มีกลไกชักโยงให้เคลื่อนได้ ก็เรียกว่า หุ่นพยนต์ เมื่อมีการนำภาพนิ่งเกิดการเคลื่อนไหวเป็นเรื่องราวได้จึงเรียกว่า ภาพยนต์ โดยตัวสะกดลงท้ายด้วยรอเรือการันต์ กลายเป็นคำว่า ภาพยนตร์ ที่นิยมใช้ในปัจจุบัน และเป็นที่รู้ดีว่าภาพเคลื่อนไหวสีสันสวยงามบนจอสร้างสรรค์จากอุปกรณ์ทันสมัยและเทคโนโลยีขั้นสูง แต่หากย้อนกลับไปในอดีตจะพบว่า วันกำเนิดภาพยนตร์อย่างเป็นทางการคือวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ.2438 หรือ 118 ปีที่แล้ว แสดงว่าก่อนที่จะถึงยุคปัจจุบันต้องมีสิ่งประดิษฐ์เกิดขึ้นมากมาย ที่ทำให้ภาพนิ่งเคลื่อนไหวได้ ซึ่งผู้ชมจะได้ร่วมย้อนอดีตไปสู่จุดกำเนิดของภาพยนตร์จากนิทรรศการเพลินพยนต์ครั้งนี้” นายโดมกล่าว นิทรรศการเพลินพยนต์ นำเสนอเรื่องราวพัฒนาการสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ ก่อนที่จะมาเป็นภาพยนตร์ เริ่มต้นตั้งแต่ที่มนุษย์ยังอาศัยอยู่ในถ้ำ มีการใช้ภูมิปัญญาคิดค้นกลเม็ดประกอบการเล่าเรื่องราวเพื่อตรึงความสนใจจากผู้ฟังด้วยวิธีต่างๆ เช่น การขยับมือเป็นรูปร่างต่างๆ เล่นกับแสงกองไฟเพื่อให้เกิดรูปเงาที่เคลื่อนไหวได้ ซึ่งได้เกิดพัฒนาการเรื่องมาเป็น การแสดงฉายแสงเล่นเงา (Shadow play) ที่ใช้หนังสัตว์ตากแห้งตัดฉลุเป็นรูปตัวละคร แสดงเล่นกับแสงเงาและจอผ้าขาว ซึ่งในดินแดนสยามเรียกกลเม็ดการละเล่นนี้ว่า หนัง เพราะใช้หนังวัวหรือควายเป็นวัสดุสำหรับสร้างรูปตัวละคร นำมาเล่นแสงเงากับจอผ้าขาว เช่น หนังใหญ่ และ หนังตะลุง เมื่อก้าวเข้าสู่คริสต์ศตวรรษที่ 19 ได้เกิดนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์จากทฤษฎีของนักวิทยาศาสตร์มากมาย โดยเฉพาะ สิ่งประดิษฐ์ของเล่น ที่เรียกว่า ของเล่นลวงตา ที่ใช้การหมุนของวงล้อสร้างทำให้ภาพนิ่งเป็นภาพเคลื่อนไหวขึ้นมาได้ เช่น Thaumatrope ที่ทำจากกระดาษแข็งตัดเป็นวงกลม โดยมีรูปหรือภาพวาดอยู่ทั้ง 2 ด้าน เจาะรูและขึงปลายสองข้างด้วยเชือก เมื่อหมุนชือกจะเห็นภาพทั้งสองด้านของกระดาษรวมกันเป็นภาพเดียว ภาพติดตา ถือเป็นทฤษฎีสำคัญอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นไฮไลท์ของนิทรรศการเพลินพยนต์ ที่อธิบายการมองเห็นภาพนิ่งให้เหมือนเคลื่อนไหวได้ โดยเมื่อมีการมองวัตถุใด สมองจะจดจำภาพที่ดวงตารับเข้ามาไว้ชั่วเสี้ยววินาทีหนึ่ง แม้ภาพนั้นจะผ่านตาไปแล้ว การจดจำนี้ทำให้เห็นชุดภาพนิ่งที่แต่ละภาพมีความแตกต่างกันเพียงเล็กน้อยดูเชื่อมต่อสนิทกัน เมื่อภาพเหล่านั้นเคลื่อนผ่านตาไปอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ทำให้เห็นเหมือนกับภาพนั้นเคลื่อนไหวได้ สิ่งประดิษฐ์ของเล่นลวงตา และ ทฤษฎีภาพติดต่อ เป็นส่วนหนึ่งในเนื้อหาของนิทรรศการเพลินพยนต์ ที่อธิบายถึงพัฒนาการของสิ่งประดิษฐ์ที่นำมาสู่การเป็นภาพยนตร์ในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมีการจัดแสดงสิ่งประดิษฐ์ชื่อ Kinetoscope (คิเนโตสโคป) ซึ่งถือเป็นการกำเนิดขึ้นครั้งแรกของสิ่งประดิษฐ์ที่เรียกว่าภาพยนตร์ โดยผู้ชมสามารถทดลองเล่นสิ่งประดิษฐ์ทุกชนิดได้อย่างสนุกสนาน สำหรับสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ ที่นำมาจัดแสดงในนิทรรศการเพลินพยนต์ แม้จะดูล้าสมัยลงไปมากเมื่อเทียบกับเทคโนโลยีขั้นสูงในยุคปัจจุบัน แต่ในมุมมองของผู้อำนวยการหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) กลับเล็งเห็นว่า การย้อนกลับไปเรียนรู้อดีต เป็นวิถีทางที่จะช่วยสร้างอนาคตได้ “มนุษย์เรามักมีความเข้าใจว่า สิ่งที่ตนเองคิดและประดิษฐ์ขึ้นมาเป็นสิ่งแปลกใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ซึ่งการคิดเช่นนี้อาจเป็นต้นเหตุให้พลาดโอกาสดีๆ ในชีวิตไปอย่างน่าเสียดาย การหันกลับมาเรียนรู้ประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นอดีต แล้วทดลองพิสูจน์ให้เห็นกับตาตนเอง เพื่อตรวจสอบและทบทวนกลับไปยังจุดเริ่มต้นว่า เพราะเหตุใดภาพถึงเคลื่อนไหวได้ ก็จะทำให้ผู้ที่เรียนรู้เกิดสติปัญญาว่า พื้นฐานของการมองเห็นภาพเคลื่อนไหวเป็นหลักการทางวิทยาศาสตร์ทั้งสิ้น เมื่อรู้อย่างถ่องแท้แล้วจึงต่อยอดด้วยความคิดสร้างสรรค์ จึงจะสามารถเกิดเป็นผลงานแปลกใหม่ที่ไม่ซ้ำรอยอดีต” ผอ.หอภาพยนตร์กล่าวสรุป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ