Manulife Asset Management เผยผลวิจัยล่าสุด พบครัวเรือนในเอเชียร่ำรวยด้วยสินทรัพย์ แต่รายได้หลังเกษียณต่ำ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday April 25, 2013 11:35 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 เม.ย.--มาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ อย่างไรก็ตาม ผลวิจัยยังเปิดเผยด้วยว่า ความมั่งคั่งส่วนบุคคลที่สะสมไว้ในระดับค่อนข้างสูงของครัวเรือนต่างๆ ในเอเชีย สามารถสร้างรายได้หลังเกษียณได้อย่างมั่นคง หากมีการบริหารการลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพ Manulife Asset Management เปิดเผยผลวิเคราะห์ความมั่นคงด้านรายได้หลังเกษียณของครัวเรือนผู้สูงอายุใน 5 เขตเศรษฐกิจเอเชีย พบว่า ครัวเรือนในประเทศและเขตการปกครองเหล่านี้มีระดับความมั่งคั่งทางสินทรัพย์ที่สะสมไว้ค่อนข้างสูง และให้ความเห็นว่า หากบริหารสินทรัพย์เหล่านี้ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นจะช่วยเสริมแหล่งรายได้หลังเกษียณอื่นๆ ได้อย่างมีนัยสำคัญ รายงานดังกล่าวจัดทำขึ้นภายใต้หัวข้อ “Asset rich, income poor? Key components of retirement income security for aging Asia” (ร่ำรวยด้วยสินทรัพย์ แต่รายได้ต่ำ? ปัจจัยหลักสำหรับความมั่นคงด้านรายได้หลังเกษียณสำหรับประชากรผู้สูงอายุในเอเชีย) ซึ่งเป็นผลวิจัยฉบับที่สามของ Manulife Asset Management ในเรื่องเกี่ยวกับ ความเตรียมพร้อมเพื่อการเกษียณของประชากรในเอเชีย โดย 5 เขตเศรษฐกิจเอเชียที่ทำการสำรวจได้แก่ ฮ่องกง ญี่ปุ่น เกาหลี สิงคโปร์ และไต้หวัน ซึ่งก้าวสู่ระดับที่มีการปันผลทางประชากร (demographic dividends) สูง กล่าวคือ มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่ก้าวจากวัยทำงานเข้าสู่วัยเกษียณค่อนข้างสูง ซึ่งสามารถสร้างรายได้ในระดับที่สูงกว่าการบริโภค มีการออมและการลงทุนเพิ่มขึ้น และโดยทั่วไปจะมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งมีความมั่งคั่งทางสินทรัพย์ของครัวเรือนอยู่ในระดับที่น่าสนใจ ผลวิจัยเผยว่า สถานการณ์เช่นนี้เกิดจากความท้าทายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับส่วนประกอบสำคัญของความมั่นคงด้านรายได้หลังเกษียณ 5 ประการ ได้แก่ เงินเดือนและค่าจ้าง สวัสดิการภาครัฐ ผลประโยชน์จากกองทุนบำนาญ การช่วยเหลือจากครอบครัว และรายได้จากความมั่งคั่งทางสินทรัพย์ของครัวเรือน ทั้งนี้ ผลวิจัยสำคัญๆ เกี่ยวกับความมั่นคงด้านรายได้หลังเกษียณในประเทศและเขตการปกครองต่างๆ ที่สำรวจ ปรากฏดังนี้ ฮ่องกงมีการพัฒนาระบบบำนาญอยู่ในเกณฑ์ที่ดีซึ่งช่วยเสริมความมั่นคงด้านรายได้หลังเกษียณ โดยมีอัตราส่วนการครอบคลุมประชากรอยู่ที่ร้อยละ 56 อย่างไรก็ตาม ชาวฮ่องกงมีแนวโน้มออกจากตลาดแรงงานตั้งแต่อายุยังน้อย และมีรายได้รับจากสินทรัพย์ที่สะสมไว้ในระดับต่ำ เนื่องจากลงทุนค่อนข้างมากในรูปเงินฝากธนาคารซึ่งเป็นสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำและอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำเป็นประวัติการณ์ ความมั่นคงด้านรายได้หลังเกษียณของญี่ปุ่นได้รับแรงสนับสนุนจากอัตราส่วนผู้สูงอายุที่อยู่ในตลาดแรงงานในระดับสูง โดยมีผู้สูงอายุที่ยังคงทำงานต่อในวัยเกษียณถึงร้อยละ 22 อย่างไรก็ตาม รายได้หลังเกษียณที่น้อยลงเกิดจากข้อเท็จจริงที่ว่า การช่วยเหลือจากครอบครัวสำหรับบรรดาครัวเรือนผู้สูงอายุ ได้ลดลงเหลือเพียงร้อยละ 1 ของความต้องการด้านการบริโภคทั้งหมดของพวกเขา สิงคโปร์เป็นหนึ่งในประเทศที่มีกลุ่มประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเร็วที่สุดในเอเชีย และมีระดับสวัสดิการภาครัฐต่ำที่สุดในบรรดาเขตเศรษฐกิจที่สำรวจ แต่ในทางกลับกัน ความมั่นคงด้านรายได้หลังเกษียณของสิงคโปร์ได้รับปัจจัยบวกจากระบบบำนาญที่ดี ซึ่งสะสมเงินบำนาญไว้ถึงร้อยละ 68 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ รายได้หลังเกษียณในเกาหลีใต้ ได้รับอานิสงส์จากตัวเลขสัดส่วนผู้สูงอายุในตลาดแรงงานที่สูงที่สุดในเขตเศรษฐกิจที่สำรวจ อย่างไรก็ตาม สวัสดิการภาครัฐที่ต่ำ โดยอยู่ที่เพียงร้อยละ 3 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศเป็นสิ่งท้าทายสำหรับผู้สูงอายุในเกาหลีใต้ เนื่องจากภาระสร้างความมั่นคงด้านรายได้หลังเกษียณตกอยู่ที่แต่ละครัวเรือนมากกว่าเขตเศรษฐกิจอื่น ไต้หวันมีอัตราส่วนความมั่งคั่งทางการเงินครัวเรือนต่อระดับรายได้สูงที่สุดในบรรดา 5 ประเทศและเขตการปกครองข้างต้น สิ่งท้าทายที่สุดสำหรับครัวเรือนสูงอายุในไต้หวัน อาจเป็นเรื่องอัตราการอยู่ร่วมครัวเรือนเดียวกันของคนหลายวัย ซึ่งลดลงจากร้อยละ 70 เมื่อปลายปี 2523 มาอยู่ที่ร้อยละ 60 ในปี 2548 รายงานต่างๆ เหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงภาพความมั่นคงด้านรายได้หลังเกษียณของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชีย รวมทั้งประเทศไทย ด้านนายต่อ อินทวิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน แมนูไลฟ์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า เราก็เชื่อว่า ผู้สูงอายุหลายครัวเรือนในประเทศไทยประสบภาวะเช่นเดียวกับในเขตเศรษฐกิจทั้ง 5 ที่เข้าสำรวจ กล่าวคือ ร่ำรวยด้วยสินทรัพย์ แต่รายได้หลังเกษียณต่ำ ครัวเรือนที่อยู่ในสถานการณ์ดังกล่าวจึงมีทางเลือกไม่มากนัก นอกจากต้องขายทรัพย์สินที่สะสมไว้ เช่น อสังหาริมทรัพย์ ที่ดิน และโภคภัณฑ์ หรือเบิกเงินประกันชีวิตหรือเงินฝากธนาคารเพื่อนำไปใช้จ่ายในช่วงวัยเกษียณ โดยเฉพาะในครัวเรือนที่ไม่มีทรัพย์สินสะสมไว้มาก ก็อาจเผชิญกับความเสี่ยงที่สูงขึ้นสำหรับผู้เกษียณที่มีอายุยืนยาวอาจไม่มีรายได้พอใช้ “ไม่ว่าจะมีความมั่งคั่งระดับใด ครัวเรือนต่างๆ สามารถบริหารสินทรัพย์ให้เกิดประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพได้ โดยการจัดสรรประเภทสินทรัพย์ใหม่ ซึ่งอาจจะเป็นวิธีการเปลี่ยนจากเงินออมหรือเงินฝากธนาคารมาเป็นการลงทุนในตราสารทุน ตราสารหนี้ หรือ ผลิตภัณฑ์ที่มีการกระจายลงทุนสินทรัพย์หลายประเภท (Asset Allocation) โดยมีสินทรัพย์หลายประเภทด้วยกันที่สามารถสร้างรายได้ให้แก่ผู้ลงทุน อย่างไรก็ตาม สิ่งเหล่านี้ได้เริ่มเกิดขึ้นบ้างแล้วในประเทศไทยผ่านการการลงทุนในกองทุนรวม เราพบว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมกองทุนรวมในประเทศไทยมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยมีมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การจัดการเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 500 จาก 0.435 ล้านล้านบาทเมื่อสิ้นปี 2545 เป็น 2.614 ล้านล้านบาทเมื่อสิ้นปี 2555 ซึ่งชี้ให้เห็นว่า ผู้ลงทุนได้มองหาทางเลือกต่างๆ ในการลงทุนที่มีโอกาสสร้างผลตอบแทนสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร ซึ่งอยู่ในระดับต่ำเป็นประวัติการณ์และในบางเวลา ผลตอบแทนที่แท้จริงอาจถึงขั้นติดลบเมื่อพิจารณาถึงอัตราเงินเฟ้อด้วย” นายต่อกล่าว ขณะที่ นาย Michael Dommermuth ดำรงตำแหน่ง International Asset Management ของ Manulife Asset Management Asia กล่าวสรุปว่า ผลวิจัยของเราบ่งชี้ว่า ครัวเรือนทั่วเอเชียจะต้องคำนึงถึงความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นสำหรับการออมเพื่อใช้ยามเกษียณในอนาคตข้างหน้านี้ ทั้งนี้ เราได้ตระหนักถึงแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงจากการเก็บสะสมสินทรัพย์ของครัวเรือนไปยังการลงทุนในผลิตภัณฑ์ที่สร้างรายได้ เช่น กองทุนหุ้นที่มีนโยบายจ่ายเงินปันผลซึ่ง บลจ. แมนูไลฟ์ (ประเทศไทย) ได้เสนอขายอยู่ในปัจจุบัน แต่ที่สำคัญที่สุด แนวโน้มนี้จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากประชากรสูงอายุในเขตเศรษฐกิจต่างๆ ในเอเชีย รวมทั้งในประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จนไม่เหลือเวลามากพอในการปรับตัวเพื่อเผชิญกับภาวะดังกล่าว สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม: Website: www.manulife-asset.co.th โทรศัพท์: 02-246-7650 กด 2 โทรสาร: 02-642-6341 ฝ่ายการตลาด : ชัชฎดา เอกะหิตานนท์ 0-2264-7650 ต่อ 8615 หรือ 0-2354-1006 พันธุ์วดี พินทุโยธิน 0-2246-7650 ต่อ 8608 วัฒนพงษ์ ราญรอน 0-2246-7650 ต่อ 8640
แท็ก เอเชีย   SET  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ