ศ.ศ.ป. เฟ้น 10 ผู้สืบสานศิลปหัตถกรรมดั้งเดิม เตรียมโชว์ผลงาน ... “นวัตศิลป์นานาชาติ 2556”

ข่าวทั่วไป Thursday April 25, 2013 12:08 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 เม.ย.--ศ.ศ.ป. ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ ศ.ศ.ป. คัดสรร 10 ผลงาน ภายใต้ โครงการพัฒนาเชิงอนุรักษ์งานศิลปหัตถกรรมดั้งเดิมสู่ความร่วมสมัย หรือ “ทายาทหัตถศิลป์” โดยพิจารณาผลงาน 4 มิติ คือ มิติด้านการอนุรักษ์และสืบสานหัตถศิลป์ไทย มิติด้านฝีมือ องค์ความรู้ และนวัตกรรมเชิงภูมิปัญญา มิติด้านสังคม บุคคล-ผลงานเป็นที่ยอมรัฐจากหน่วยงานภาครัฐเอกชน และมิติด้านความร่วมสมัย ในด้านรูปแบบสินค้า พร้อมเผยแพร่จัดแสดงผลงาน-นิทรรศการ ภายในงานเทศกาลนวัตศิลป์นานาชาติ 2556 (International Innovative Craft Fair)ณ ไบเทค 2-5 พฤษภาคม ศกนี้ นางพิมพาพรรณ ชาญศิลป์ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ ศ.ศ.ป. กล่าวว่า ได้คัดเลือกผลงานจากทายาทครูช่าง และช่างหัตถศิลป์ของไทยทั่วประเทศ ภายใต้โครงการพัฒนาเชิงอนุรักษ์งานศิลปหัตถกรรมดั้งเดิมสู่ความร่วมสมัย หรือ “ทายาทหัตถศิลป์” คุณสมบัติผู้สมัครร่วมโครงการฯ จะต้องเป็นทายาทของครูช่าง หรือช่างศิลป์ ที่ได้รับการยกย่อง ได้รับรางวัลจาก ศ.ศ.ป. (เป็นผู้สืบสายเลือดโดยตรงจากครูช่าง และช่างศิลป์ฯ) อีกทั้งต้องเป็นทายาทของผู้สร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมดั้งเดิมใน 9 สาขา คือ สาขาเครื่องไม้ เครื่องจักสาน เครื่องดิน เครื่องทอ เครื่องรัก เครื่องโลหะ เครื่องหนัง เครื่องกระดาษ และเครื่องเงิน ตลอดจนต้องดำรงกิจการ หรือประกอบการงานศิลปหัตถกรรมดั้งเดิมมาอย่างต่อเนื่อง สำหรับเกณฑ์ในการพิจารณา ได้แบ่งออกเป็น 4 มิติ ดังนี้ 1 มิติด้านการอนุรักษ์และสืบสานงานหัตถศิลป์ไทย 2. มิติด้านฝีมือ องค์ความรู้ และนวัตกรรมเชิงภูมิปัญญา แบ่งเป็น 2.1 ทักษะฝีมือของทายาท มีทักษะที่สืบทอดมาจากงานดั้งเดิม และทักษะฝีมือที่สร้างสรรค์ใหม่ทางด้านเทคนิค 2.2 ทักษะด้านความคิดสร้างสรรค์ของทายาท ทั้งในด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ และด้านการส่งเสริมการขาย-การตลาด 3 มิติด้านสังคม เป็นที่ยอมรับด้านตัวบุคคล และผลงานได้รับรางวัลเกียรติคุณ จากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งในและต่างประเทศ การร่วมกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับงานศิลปหัตถกรรมที่ดำเนินอยู่ 4. มิติด้านความร่วมสมัย ทั้งด้านรูปแบบสินค้าและการนำเสนอสินค้าและเรื่องราว ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ได้พิจารณาคัดเลือกบุคคล ผู้สืบสานศิลปหัตถกรรมดั้งเดิมสู่ความร่วมสมัย “ทายาทหัตถศิลป์” 10 ผลงาน จากสาขาต่างๆ ดังนี้ 1. ศิริวรรณ สุขขี อายุ 34 ปี ประเภทศิลปหัตถกรรมเครื่องจักสาน ทายาทของครูช่างสลัด สุขขี ผู้ริเริ่มก่อตั้งกลุ่มผลิตภัณฑ์จากเถาวัลย์แดง ผู้ถ่ายทอดต่อยอดในส่วนของทักษะภูมิปัญญา ทั้งการออกแบบผลิตภัณฑ์ด้วยตนเอง และทำการตลาดเองทั้งในและต่างประเทศจนเป็นที่ยอมรับและรู้จักกันดี ภายใต้ แบรนด์ “สุขขี แฮนดิคราฟท์” 2. สมรัชนี วิญญกูล อายุ 40 ปี ประเภทศิลปหัตถกรรมเครื่องจักสาน (จิ๋ว) ทายาทครูช่าง ปราณี วิญญกูล ภูมิปัญญาจักสานย่อส่วน หนึ่งเดียวในโลก ในนาม ปราณี หัตถกรรม คงไว้ซึ่งอัตตลักษณ์ของงาน ”จักสานจิ๋ว” คัดเลือกจากระทรวงต่างประเทศเป็นตัวแทนทางด้านงานจักสาน ไปร่วมงาน Thai Festival ที่ประเทศโรมาเนีย บัลแกเรีย และสวีเดน 3.วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์ อายุ 41 ปี ประเภทศิลปหัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผา ทายาทรุ่นที่ 3 ของ “เถ้าฮงไถ่” ผู้ผลิตเครื่องปั้นดินเผา หรือ โอ่งมังกร รายแรกของ จ.ราชบุรี ใส่ไอเดียในส่วนของการออกแบบ ดีไซน์ใหม่ๆ การันตีรางวัล และเกียรติคุณ เช่น Best Designer of the year Awards 2007 จากศูนย์วัฒนธรรมการออกแบบ และรางวัลศิลปาธร (ศิลปินร่วมสมัย) สาขาการออกแบบ ประจำปี 2553 4. มีชัย แต้สุจริยา อายุ 44 ปี ประเภทศิลปหัตถกรรมเครื่องทอ (ผ้ากาบบัว จ.อุบลฯ) ทายาทครูศิลป์แผ่นดิน คำปุน ศรีใส ผู้สานต่อกิจการโรงงานทอผ้าไหมโรงงาน คำปุณ ที่มีเอกลักษณ์ด้านการทอผ้าซิ่นมัดหมี่ผสมผสานกับงานจกด้วยดิ้นเงินดิ้นทอง เพียงแห่งเดียวในประเทศไทย ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม สาขาช่างฝีมือด้านทอผ้าไหม ประจำปี 2544 5. ชญทรรศ วิเศษศรี อายุ 35 ปี ประเภทศิลปหัตถกรรมเครื่องทอ อ.ทัพทัน จ.อุทัยธานี ทายาทรุ่นที่ 3 ของคุณศรีนวล อินปนาม พัฒนาออกแบบสีสันและลวดลายใหม่ๆ แต่ยังคงรูปแบบผลิตด้วยกรรมวิธีแบบโบราณ ทำให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวจนสามารถสร้างเป็นแบรนด์ “แต้มตะกอ” 6. ไพรัตน์ สารรัตน์ อายุ 28 ปี ทายาทครูช่างอำไพ สารรัตน์ ประเภทศิลปหัตถกรรมเครื่องทอ(กลุ่มทอผ้านาตาโพ) อ.บ้านไร่ จ. อุทัยธานี พัฒนาในด้านการออกแบบลายผ้าให้ช่างทอทำผ้าแบบพิเศษ คือ จกลายเต็มผืนทำแบบโบราณ จากปกติจะทอลายครึ่งเดียว งานทุกชิ้นจึงเป็นงานมือทั้งหมด การใช้คอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยในการตกแต่งลายให้เกิดแนวตรงแลสวยงาม ปรับเรื่องสีให้มีความคงทนไม่ลอก ไม่ตก และใช้วัตถุดิบที่ดีขึ้น ทำให้ผลิตภัณฑ์ดูทันสมัยและเป็นที่นิยมทางการตลาดมากยิ่งขึ้น 7. เนาวรัตน์ บันสิทธิ์ อายุ 49 ปี ประเภทศิลปหัตถกรรมเครื่องทอ ทายาทรุ่นที่ 3 ของคุณแสงดา บันสิทธิ์ ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์(การทอผ้า) ปี 2529 ผลงานที่เป็นเอกลักษณ์“หมื่นพับ หมื่นสี หมื่นลวดลาย” อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ได้นำองค์ความรู้และเทคนิคใหม่มาประยุกต์ใช้ แต่ยังคงรูปลักษณะการทอแบบโบราณ ทั้งการย้อมผ้าด้วยสีธรรมชาติ ปั่นมือและการทอมือ การันตีคุณภาพของผลิตภัณฑ์ด้วยรางวัลที่ 1 การประกวดผ้าย้อมครามของกระทรวงสาธารณสุข ปี 2536 และ รางวัลที่ 1 ผ้าไหมและผ้าทอไทยสไตล์สากลปี 2546 8.ปราโมทย์ เขาเหิน อายุ 40 ปี ประเภทศิลปหัตถกรรมเครื่องโลหะ (ช่างทอง) ทายาทครูช่างสมสมัย เขาหิน หรือที่รู้จักกันในนาม “บ้านทองสมสมัย” จากเมืองศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย ผู้ให้กำเนิดรูปแบบทองลายโบราณ ตำนานของทองสุโขทัย ที่ยิ่งใหญ่ในอดีตจวบจนปัจจุบันมานานเกือบ 100 ปี 9. ชาคริต สุวรรณชมพู อายุ 31 ปี ประเภทศิลปหัตถกรรมเครื่องรัก ทายาทรุ่นที่ 6 แม่อุ๊ยจันทร์เป็ง วิชัยกุล จ.เชียงใหม่ อนุรักษ์การใช้และวิธีการผลิตภูมิปัญญาเครื่องเขิน เป็นศิลปหัตถกรรมเอกลักษณ์ของเชียงใหม่ ปรับรูปแบบการใช้งาน โดยนำอุปกรณ์ ไอที เป็นตัวเชื่อมกับงานเครื่องเขิน คือ Flash Drive Case หรือ Case โทรศัพท์มือถือ ภายใต้แบรนด์ Chakrit By Vichaikul 10.วาที ทรัพย์สิน อายุ 46 ปี ประเภทศิลปหัตถกรรมเครื่องหนัง (แกะรูปหนังตะลุง — หนังใหญ่) ทายาทของครูศิลป์แผ่นดิน สุชาติ ทรัพย์สิน ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง (การแสดงพื้นบ้าน) ประจำปี 2549 ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์หนังตะลุง สุชาติ ทรัพย์สินแห่งแรกของประเทศไทย ผู้มีความเชี่ยวชาญทั้งในเรื่องของการเชิด และการแกะหนังตะลุงจนเป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศ และต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ทั้ง 10 ท่าน จะได้รับใบประกาศเกียรติคุณเชิดชูเกียรติ โครงการพัฒนาเชิงอนุรักษ์งานศิลปหัตถกรรมดั้งเดิมสู่ความร่วมสมัย หรือ “ทายาทหัตถศิลป์” จากศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) พร้อมเผยแพร่ผลงานจัดนิทรรศการแสดง ภายในงาน เทศกาลนวัตศิลป์นานาชาติ ประจำปี 2556 (International Innovative Craft Fair 2013) ระหว่างวันที่ 2-5 พฤษภาคม 2556 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและนิทรรศการนานาชาติไบเทค บางนา
แท็ก นวัตกรรม  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ