ตื่นตัวแต่ไม่ตื่นตระหนก รับมือหวัดนกสายพันธุ์ H7N9 ที่พบครั้งแรกว่าทำให้มนุษย์เสียชีวิต

ข่าวทั่วไป Friday April 26, 2013 16:22 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 เม.ย.--ศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน มศว จากสถานการณ์ที่มีการยืนยันการระบาดของโรคไข้หวัดนกเอช 7 เอ็น 9 (H7N9) ที่สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยพบว่าเป็นครั้งแรกที่หวัดนกสายพันธุ์ H7N9 ทำให้มนุษย์เสียชีวิต ซึ่งขณะนี้ในจีนมีทั้งผู้ป่วยที่เสียชีวิตแล้ว กำลังรักษาพยาบาลอยู่ และรักษาหายแล้ว โดยคณะกรรมการสาธารณสุขและวางแผนครอบครัวแห่งชาติจีนแถลงว่ายังไม่พบหลักฐานที่แสดงว่าไข้หวัดนก H7N9 ระบาดจากคนสู่คน แต่ก็กำลังวิเคราะห์ว่าการติดต่อที่เกิดระหว่างสัตว์ปีกสู่คนในครั้งนี้จะนำไปสู่การติดต่อระหว่างคนสู่คนได้หรือไม่ นายแพทย์ พลากร ศรีนิธิวัฒน์ อายุรแพทย์ สังกัดศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) กล่าวว่า คนไทยควรมีความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการป้องกันโรคไข้หวัดนก และในส่วนของผู้ที่ทำธุรกิจด้านอาหารที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ปีกก็ควรมีความรัดกุมด้านการนำเข้าสัตว์ปีก สถานีอนามัยและโรงพยาลบาลประจำจังหวัดควรมีการประชาสัมพันธ์การป้องกันโรคไข้หวัดนกให้กับประชาชนได้รับทราบอย่างทั่วถึง เผยแพร่ข้อมูลความรู้และแนวทางปฏิบัติในการคัดกรองและการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคไข้หวัดนกให้แพทย์ทั้งภาครัฐและเอกชนภายทราบอย่างทั่วถึง รวมถึงต้องติดตามข่าวสารทั้งภายในและภายนอกเพื่อติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เชื้อไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์ A (H7N9) คือ เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ ซึ่งเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ ชนิด A นี้ สามารถทำให้เกิดการติดเชื้อได้ในมนุษย์ นก สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และสัตว์อื่นๆ ได้ สำหรับเชื้อไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์ H7N9 ที่ระบาดอยู่ในจีน แตกต่างจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ H1N1 และ H5N1 เนื่องจากเป็นคนละสายพันธุ์กัน แม้ว่าจะเป็นเชื้อไข้หวัดใหญ่ชนิด A เหมือนกัน โดยเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ H1N1 อาจจำแนกได้เป็นชนิดที่ปกติจะติดเชื้อในคน หรือชนิดที่ปกติจะติดเชื้อในสัตว์ ส่วนเชื้อไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์ H7N9 และ H5N1 ส่วนใหญ่เป็นเชื้อไวรัสที่ติดเชื้อในสัตว์ แต่บางครั้งก็ติดเชื้อในคนได้ อาการของผู้ติดเชื้อไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์ H7N9 ส่วนใหญ่ มีอาการปอดอักเสบเฉียบพลัน โดยมีอาการประกอบด้วย มีไข้สูงเฉียบพลัน ไอ และอาการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจในระยะแรกของการเกิดโรค จากนั้น 5 - 7 วันนับจากวันเริ่มป่วย ผู้ป่วยจะมีอาการปอดอักเสบรุนแรง ได้แก่ อาการหายใจลำบาก และอาจพัฒนาไปสู่กลุ่มอาการทางเดินหายใจลำบากเฉียบพลันอย่างรวดเร็ว และเสียชีวิต สำหรับสถานการณ์ของประเทศไทยนั้น แม้ว่าจะไม่เคยพบการติดเชื้อ H7N9 ทั้งในสัตว์ปีกเลี้ยง สัตว์ปีกป่า และคนมาก่อน แต่เพื่อความไม่ประมาทจึงขอให้ประชาชนรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ สัปดาห์ละอย่างน้อย 3 วัน วันละไม่ต่ำกว่า 30 นาที เพื่อให้ร่างกายมีภูมิต้านโรค หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ปีกทุกชนิด รวมทั้งนกธรรมชาติ รับประทานเนื้อไก่และไข่ที่ปรุงสุกด้วยความร้อน หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ปีกที่มีอาการป่วยหรือตาย ห้ามนำสัตว์ปีกที่ตายไปรับประทาน หรือนำไปให้สัตว์อื่นกิน ให้สวมหน้ากากอนามัย และสวมถุงมือทุกครั้งหากต้องสัมผัสสัตว์ปีก และล้างมือบ่อยๆ ทุกครั้งหลังการสัมผัสสัตว์ปีก และสารคัดหลั่งของสัตว์ปีกด้วยสบู่และน้ำ สำหรับผู้ที่ต้องเดินทางไปต่างประเทศ โดยเฉพาะในประเทศที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อก็ยังสามารถเดินทางได้ปกติ แต่ควรตรวจเช็คด้วยว่ามีการแพร่ระบาดที่จุดใด และเลี่ยงการเดินทางไปที่พื้นที่นั้นและหลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือเข้าใกล้สัตว์ปีกในประเทศนั้นๆ ด้านศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ก็ได้เตรียมความพร้อมในกรณีที่อาจจะมีการติดเชื้อไข้หวัดนก H7N9 ในประเทศไทย โดยให้บุคลากรทางการแพทย์ติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด สำหรับเทคโนโลยีในการตรวจวินิจฉัยและบ่งชี้ว่าผู้ใดติดเชื้อ H7N9 ก็ยังคงใช้วิธีเดียวกับการตรวจหาเชื้อ H5N1 จากรายงานข่าวของจีนพบว่าลำดับพันธุกรรมของเชื้อไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์ H7N9 มีความไวต่อยาต้านไวรัสในกลุ่มยับยั้ง Neuraminidase (Neuraminidase Inhibitor) ซึ่งการใช้ยาต้านไวรัสในกลุ่มยับยั้ง Neuraminidase ในระยะแรกของการติดเชื้อ ได้มีการพิสูจน์แล้วพบว่ามีประสิทธิภาพในการรักษาโรค

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ