เยอรมันพร้อมจับมือไทยยกระดับความร่วมมือทางวิชาการเพื่อยกระดับความปลอดภัยอาหารระหว่างกัน เพื่อตอบสนองความต้องการสินค้าเกษตรไทยที่จะส่งออกไปยังกลุ่มประเทศยุโรป

ข่าวทั่วไป Tuesday June 4, 2013 15:10 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 มิ.ย.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสกรณ์ นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากการเดินทางเยือน ประเทศเยอรมัน เพื่อศึกษาดูงานการพัฒนาธุรกิจภาคการเกษตร และที่สำคัญยังได้หารือร่วมกับปลัดกระทรวงอาหาร เกษตร และคุ้มครองผู้บริโภคแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ซึ่งทั้งสองประเทศได้เห็นพ้องต้องกันที่จะสร้างความร่วมมือทางวิชาการเพื่อพัฒนายกระดับความปลอดภัยด้านอาหาร และสร้างความมั่นใจในการบริโภคสินค้าเกษตรไทยที่จะส่งออกไปยังประเทศเยอรมันหรือกลุ่มประเทศยุโรปมากขึ้น สำหรับการเยี่ยมชมและศึกษาดูงาน ณ ประเทศเยอรมันในครั้งนี้เป็นประโยชน์อย่างมาก ในการมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตรของไทย อาทิ การศึกษาดูงาน บริษัท BuschmannWinkelmann ซึ่งเป็นธุรกิจเกษตรผลิตและแปรรูปหน่อไม้ฝรั่งพันธุ์ (Spargel) ที่มีสัดส่วนทางตลาดสูง โดยทำการผลิตภายใต้หลักการความเหมาะสมของสภาพพื้นที่ทางด้านดิน น้ำ และภูมิอากาศ ที่สอดคล้องกับความต้องการของหน่อไม้ฝรั่ง ทำให้ผลผลิตของบริษัทมีคุณภาพตามหลักความปลอดภัยด้านอาหาร นอกจากนั้นมีการใช้เทคโนโลยีการรักษาความเย็นตลอดสายการผลิตเพื่อลดการปนเปื้อนและส่งมอบความสดใหม่ให้แก่ผู้บริโภค รวมทั้งใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ในการคัดแยกจัดเกรด และการบริหารจัดการเพื่อการตรวจสอบย้อนกลับสินค้า (Traceability) ซึ่งเป็นตัวอย่างหลักการบริหารจัดการธุรกิจเกษตรที่สร้างความเชื่อมั่นถึงประโยชน์ของเกษตรกรผู้ผลิตและผู้บริโภคในการจัดการการผลิตที่สอดคล้องกับนโยบายกำหนดเขตเหมาะการปลูกพืชของประเทศไทย (Agriculture Zoning) และยังได้เดินทางไปศึกษาดูงานองค์กรที่กำกับดูแลความปลอดภัยด้านอาหารได้แก่ German Federal Institute for Risk Assessment (BfA) และ German Federal Office of Consumer Protection and Food Safety (BVL) ซึ่งมีภารกิจศึกษาวิเคราะห์ ความเสี่ยง การประเมินความเสี่ยง และการสื่อสารความเสี่ยงที่เกี่ยวกับความปลอดภัยด้านอาหาร ภายใต้หลักการคุ้มครองสุขภาพของผู้บริโภคจากการปนเปื้อนในระบบการผลิตและตลาด และหลักการสื่อสารข้อมูลที่ถูกต้องโปร่งใสแก่สาธารณะ เนื่องจากในปัจจุบันและอนาคตมีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการความเสี่ยงอยู่เสมอ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องสร้างองค์ความรู้ให้เท่าทันอยู่เสมอ ทั้งนี้ภายใต้หลักการขององค์กรระดับโลกคือ EU Commision, WHO, FAOอันเป็นรูปแบบการบริหารนโยบายความปลอดภัยด้านอาหารที่จะต้องนำมาประยุกต์ใช้กับประเทศไทย และยังได้เข้าพบปลัดกระทรวงอาหาร เกษตร และคุ้มครองผู้บริโภคแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน Federal Ministry of Food, Agriculture and Consumer Protection (BMELV) ซึ่งเห็นพ้องต้องกันที่จะสร้างความร่วมมือทางวิชาการเพื่อพัฒนายกระดับความปลอดภัยด้านอาหาร และการอำนวยความสะดวกทางการค้า นอกจากนั้นยังได้เยี่ยมชมและศึกษาดูงานด่านตรวจสอบสินค้าเกษตรและอาหารนำเข้าแห่งรัฐเฮสเซน The Hessen State Laboratory เยี่ยมชม Perishable Center และ Animal Lounge ภายในท่าอากาศยานแฟรงค์เฟิร์ต ซึ่งได้รับทราบถึงวิธีการบริหารจัดการระบบและเทคนิคการตรวจสอบ ควบคุมสินค้านำเข้า ส่งออกด้าน พืช สัตว์ ที่ทันสมัย อันเป็นประโยชน์ต่อการปรับเพิ่มผลิตภาพของระบบความปลอดภัยด้านอาหารและสินค้าเกษตรที่จะส่งออกไปยังประเทศเยอรมันและกลุ่มประเทศยุโรป ให้มีปริมาณที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น “จากการศึกษาดูงานในโอกาสนี้ พบว่าสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีได้รวมหน่วยงานที่ดูแลความปลอดภัยด้านอาหาร เกษตร และการคุ้มครองผู้บริโภค รวมไว้กับหน่วยงานกระทรวงเกษตร ทำให้ภารกิจดูแลความปลอดภัยด้านอาหารเป็นเอกภาพ ซึ่งต่างจากประเทศไทยที่แยกการกำกับดูแลออกเป็นหลายหน่วยงาน อันจะนำมาปรับใช้ในการพัฒนาระบบ บุคลากร และองค์กรในการกำกับดูแลความปลอดภัยด้านอาหารของประเทศ เพื่อให้สามารถปกป้องคุ้มครองผู้บริโภคสินค้าเกษตร และมีองค์ความรู้ในการเตรียมการรองรับความเสี่ยงทางด้านอาหารที่เพิ่มขึ้นตามสภาพภูมิอากาศ รูปแบบการผลิตและบริโภคอาหารที่เปลี่ยนแปลงเชื่อมโยงซับซ้อนตลอดเวลา เป็นกลไกที่สนับสนุนการสร้างขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ และเพิ่มปริมาการการค้าสินค้าและผลิตภัณฑ์เกษตร” นายยุคลกล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ