“ฮาลาลประเทศไทย” จัดอบรมผู้ตรวจ สร้างรากฐานวิทยาศาสตร์ฮาลาล หวังขึ้นอันดับ 1 ผู้ส่งออกฮาลาลโลก

ข่าวทั่วไป Wednesday July 10, 2013 14:14 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 ก.ค.--ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับฝ่ายกิจการฮาลาล สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย จัด “โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ การพัฒนาศักยภาพผู้ตรวจประเมินและที่ปรึกษาฝ่ายกิจการฮาลาลทั่วราชอาณาจักรประจำปี 2556” โดยการบูรณาการศาสนบัญญัติอิสลามเข้ากับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฮาลาล เพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ตรวจประเมินและการรับรองฮาลาลในประเทศไทย ให้มีคุณภาพและสามารถรับประกันคุณภาพของผลิตภัณฑ์ฮาลาลได้ ประกอบกับการพัฒนาศักยภาพของนักการศาสนาให้มีความรู้และความเข้าใจในเรื่องฮาลาลเพื่อใช้ในการตรวจประเมิน โดยประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์ฮาลาลได้อย่างที่ถูกต้อง นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในจำนวนไม่กี่ประเทศทั่วโลกที่มีศักยภาพการผลิตอาหารถึงระดับส่งออกเพื่อเลี้ยงประชากรโลก รัฐบาลจึงมีนโยบายที่จะผลักดันให้ไทยเป็นครัวของโลก โดยเฉพาะในยุทธศาสตร์อาหารฮาลาล เนื่องจากอาหารฮาลาลเป็นอาหารที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคของมุสลิมหรือผู้นับถือศาสนาอิสลาม ความเชื่อมั่นของมุสลิมทั่วโลกต่อผลิตภัณฑ์ฮาลาลส่วนสำคัญเกิดจากการรับรองฮาลาลโดยองค์กรศาสนาอิสลามที่ได้รับการเชื่อถือ อีกทั้งความเชื่อมั่นในภาพลักษณ์ด้านคุณภาพขององค์กรศาสนาตลอดจนประเทศผู้ผลิตอาหารนั้นๆ โดยประเทศไทยนับว่าเป็นประเทศสำคัญในการส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารและผลผลิตทางการเกษตร แต่ละปีประเทศไทยส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารสู่ต่างประเทศทั่วโลกประมาณ 25,000 ล้านเหรียญสหรัฐ นับเป็นประเทศส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารขนาดใหญ่หนึ่งในสิบของโลก ในจำนวนนี้เกือบร้อยละ 20 หรือ 4,800 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นอาหารที่ปลอดสุกรและสุราหรืออาจนับเป็นอาหารฮาลาล เพื่อการบริโภคของมุสลิมโดยผลิตจากภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารของไทย ใช้วัตถุดิบ แรงงาน เทคโนโลยีของคนไทยส่งเข้าสู่กลุ่มประเทศมุสลิม 57 ประเทศ ที่เป็นสมาชิกองค์กรการประชุมอิสลามหรือโอไอซี (Organization of Islamic Conference) ทำให้ปัจจุบันประเทศไทยจึงเป็นประเทศผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์ฮาลาลเป็นอันดับ 5 ของโลก และเพื่อหวังครองอันดับ 1 ผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาลนั้น ประเทศไทยจึงจำเป็นที่จะต้องมีการพัฒนาและเสริมสร้างตราสัญลักษณ์ฮาลาลให้เป็นที่ยอมรับจากทั่วโลก รศ.ดร.วินัย ดะห์ลันผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ประเทศไทยนับเป็นประเทศส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารประเทศเดียวที่มีกฎหมายกำหนดอำนาจหน้าที่ด้านการรับรองฮาลาลไว้ โดยกำหนดให้เป็นกิจการในศาสนาอิสลามที่ระบุไว้ชัดเจน โดยมีศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ศวฮ.จฬ.) ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อพัฒนางานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฮาลาล สนับสนุนการดำเนินงานของฝ่ายศาสนาอิสลามและพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาลส่งออก สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย (สกอท.) และศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ศวฮ.จฬ.) ได้ร่วมมือกันประสานงานในการบูรณาการศาสนบัญญัติอิสลามเข้ากับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฮาลาลสร้างแนวทาง “ศาสนารับรอง วิทยาศาสตร์รองรับ” ขึ้น เพื่อร่วมกันสร้างภาพลักษณ์ “วิทยาศาสตร์ฮาลาล อัตลักษณ์ประเทศไทย” โดยมุ่งหวังที่จะมีส่วนร่วมผลักดันผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาลไทยให้ก้าวขึ้นเป็นผู้นำในตลาดอาหารโลก จึงได้จัด “โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ การพัฒนาศักยภาพผู้ตรวจประเมินและที่ปรึกษาฝ่ายกิจการฮาลาลทั่วราชอาณาจักรประจำปี 2556” ขึ้น โดยมีฝ่ายกิจการฮาลาล คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั่วประเทศ จำนวน 39 จังหวัด ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบและรับรองสถานประกอบการที่อยู่ในพื้นในจังหวัดนั้นๆ ซึ่งพบว่าในปัจจุบันมีผู้ประกอบการขอการรับรองเป็นจำนวนมากและมีความหลากหลายในด้านผลิตภัณฑ์ กระบวนการ และวิธีการผลิตและจำหน่าย ที่ความซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งสำนักงานงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยได้เห็นความสำคัญในเรื่องนี้ จึงได้ประสานความร่วมมือกับ ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อจัดพัฒนาระบบการตรวจสอบและการพัฒนาศักยภาพผู้ปฏิบัติงานกิจการฮาลาลทั่วประเทศ หวังเป็นแนวทางการดำเนินงานในทิศทางเดียวกันทั้งประเทศ พร้อมกันนี้ยังได้พัฒนาให้ผู้ปฏิบัติงานมีความเข้าใจในระบบสากล และวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเพิ่มศักยภาพผู้ตรวจประเมินและการรับรองฮาลาลในประเทศไทย ให้มีคุณภาพและสามารถรับประกันคุณภาพของผลิตภัณฑ์ฮาลาลได้ ประกอบกับการพัฒนาศักยภาพของนักการศาสนาให้มีความรู้และความเข้าใจในเรื่องฮาลาลเพื่อใช้ในการตรวจประเมิน โดยประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์ฮาลาลได้อย่างที่ถูกต้อง รศ.ดร.วินัย กล่าวปิดท้าย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ