สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูป ประจำสัปดาห์ที่ 8-12 ก.ค. 56 และแนวโน้มสัปดาห์ 15-19 ก.ค. 56

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 15, 2013 14:16 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 ก.ค.--ปตท. ฝ่ายกลยุทธ์และแผนธุรกิจ หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) สรุปรายงานสถานการณ์น้ำมันดิบในสัปดาห์ที่ผ่านมาเมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อน ราคาน้ำมันดิบ เบรนท์ (Brent) เพิ่มขึ้น 2.85 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 108.06 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล น้ำมันดิบเวสท์ เท็กซัสฯ (WTI) เพิ่มขึ้น 4.30 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลอยู่ที่ 104.81 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล น้ำมันดิบดูไบ (Dubai) เพิ่มขึ้น 2.89 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ระดับ 103.44 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาเฉลี่ยน้ำมันเบนซิน 95 เพิ่มขึ้น 5.82 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 124.83 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 2.06 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 123.40 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบ ได้แก่ ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันในเชิงบวก - นาย Ben Bernanke ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) แถลงถึงนโยบายว่า Fed จะยังคงใช้มาตรการผ่อนปรนทางการเงินต่อไป เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยของประเทศยังคงอยู่ในระดับต่ำ และตัวเลขชึ้วัดของตลาดแรงงานที่อัตราการว่างงาน 7.6% อาจบ่งชี้ถึงสภาพตลาดที่แข็งแกร่งเกินความเป็นจริง ทำให้การอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบยังคงมีความจำเป็นในระยะเวลานี้ - EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 5 ก.ค.56 ปรับตัวลดลง 9.9 ล้านบาร์เรลเมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 373.9 ล้านบาร์เรล - นาย Benjamin Netanyahu นายกรัฐมนตรีของอิสราเอล กล่าวอิหร่านจะสามารถผลิตระเบิดนิวเคลียร์ได้ในระยะเวลาอันใกล้นี้ และเส้นตายของอิสราเอลที่กลางปี 56 ได้ใกล้เข้ามา พร้อมกล่าวเรียกร้องให้นานาชาติอย่าได้เปลี่ยนประเด็นความสนใจไปยัง ซีเรีย และอียิปต์ - ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของลิเบียในเดือน มิ.ย. 56 ลดลง 16% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 1.13 ล้านบาร์เรลต่อวัน นับเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 6 เดือน เพราะเหตุขัดข้องทางเทคนิคของแท่นผลิต ประกอบกับการหยุดงานประท้วงของพนักงานแหล่งขุดเจาะน้ำมันและท่าส่งออก ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันในเชิงลบ - ท่าส่งออกน้ำมัน Es sider และ Ras Lanuf ของลิเบียกลับมาดำเนินการแล้ว แต่ท่าส่งออกน้ำมันดิบ Zueitina ยังไม่สามารถดำเนินการได้ ทั้งนี้การประท้วงปิดท่าส่งออกน้ำมันดิบของลิเบียส่งผลให้แหล่งผลิตน้ำมันดิบต้องปิดดำเนินการไปถึง 1 ใน 3 ของกำลังการผลิตของประเทศที่ 1.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน - ท่อส่งออกน้ำมันดิบ Kirkuk-Ceyhan (1.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน) ของอิรักกำลังกลับมาดำเนินการ ภายหลังปิดดำเนินการในช่วงเดือน มิ.ย. 56 จากการตรวจพบน้ำมันดิบรั่วไหล ทั้งนี้การปิดของท่อดังกล่าวส่งผลให้ปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของอิรักในเดือน มิ.ย. 56 เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 2.33 ล้านบาร์เรลต่อวัน ต่ำกว่าเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 2.48 ล้านบาร์เรลต่อวัน - ปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบ Dar Blend ของซูดานใต้สำหรับส่งมอบในเดือน ส.ค. 56 จะเพิ่มขึ้น 40% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า มาแตะระดับ 7 ล้านบาร์เรล ภายหลังซูดานใต้และซูดานสามารถหาข้อยุติจากความขัดแย้งด้านการเมืองและระบบท่อขนส่ง อนึ่ง ปริมาณการส่งออก Dar Blend ของซูดานใต้สำหรับส่งมอบในเดือน มิ.ย. 56 และ ก.ค. 56 อยู่ที่ 2.2 ล้านบาร์เรล และ 5 ล้านบาร์เรล ตามลำดับ - IMF ปรับลดคาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกปี 56 จากประมาณการครั้งก่อนในเดือน เม.ย. 56 ที่ 3.3% มาอยู่ที่ 3.1% เพราะเห็นว่าการฟื้นตัวของสหรัฐฯ ยังไม่แข็งแกร่ง ประกอบกับเศรษฐกิจยุโรปถดถอย และเศรษฐกิจจีนชะลอตัว ขณะที่ภาคการเงินเกิดภาวะเงินทุนไหลเวียนลดลง - Thomson Reuters/University of Michigan รายงานดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเบื้องต้น (Preliminary Consumer Confidence Index) ในเดือน ก.ค. 56 ของสหรัฐฯ ลดลง 0.2 จุด เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ 83.9 จุด สวนทางกับนักวิเคราะห์ที่คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามยังอยู่ที่ระดับเกือบสูงสุดในรอบ 6 ปี แนวโน้มราคาน้ำมัน ราคาน้ำมันดิบในตลาดซื้อขายล่วงหน้าปรับตัวเพิ่มขึ้น จากการเข้าซื้อเพื่อเก็งกำไรของนักลงทุน โดย Commodity Futures Trading Commission (CFTC) รายงานกลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับเพิ่มสถานะสัญญาซื้อสุทธิ (Net Long Position) น้ำมันดิบ WTI ในตลาดซื้อขายล่วงหน้า NYMEX ที่นิวยอร์กและ ICE ที่ลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 9 ก.ค. 56 เพิ่มขึ้น 26,107 สัญญาจากสัปดาห์ก่อนหน้า มาอยู่ที่ 330,456 สัญญา ใกล้เคียงสถิติสูงสุดเมื่อ 2 ปีก่อน ด้วยปัจจัยแวดล้อมสนับสนุนต่างๆในช่วง U.S. Summer Driving Season ซึ่งทำให้ความต้องการใช้น้ำมันรวมของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ทำให้นักลงทุนประเมินว่าปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ จะลดลงไปอีกในสัปดาห์นี้ หลังจากรวมสองสัปดาห์ก่อนหน้าลดลงกว่า 20 ล้านบาร์เรล เป็นปริมาณมากที่สุดในรอบกว่า 3 ทศวรรษ ผนวกกับอัตราการดำเนินการของโรงกลั่นในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 92.4% เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า สูงสุดของปี 56 นอกจากนี้ยังได้แรงสนับสนุนจากราคา Gasoline ในตลาดซื้อขายล่วงหน้าที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 15% นับจากต้นเดือน ก.ค. 56 สูงสุดในรอบสองปีกว่า ประกอบกับอุปสงค์ Gasoline ในสหรัฐฯ เฉลี่ย 4 สัปดาห์อยู่ที่ 9.08 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดในรอบปี ล้วนเป็นปัจจัยเชิงบวกต่อราคาน้ำมันดิบ ทั้งนี้ยังมีผลสืบเนื่องจากถ้อยแถลงเมื่อสัปดาห์ก่อนของนาย Ben Bernanke ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ว่าการอัดฉีดทางการเงินยังคงเป็นสิ่งจำเป็นต่อไปในอนาคตอันใกล้นี้ เป็นการคลายความวิตกให้กับนักลงทุนว่า Fed มีแนวโน้มจะยังไม่ลดขนาดการอัดฉีดในปีนี้ ขณะที่สำนักข่าว Xinhua ของจีนปรับแก้ข่าวที่รายงานการให้สัมภาษณ์ของรัฐมนตรีกระทรวงการคลังของจีน นาย Lou Ji Wei ว่าเป้าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ของจีนอยู่ที่ 7.5% หลังจากรายงานไปก่อนหน้านี้ที่ 7% ทำให้เกิดความกังวลว่าจีนจะปรับลดเป้า GDP ขณะที่ราคาน้ำมันดิบ Brent ในตลาดซื้อขายล่วงหน้าก็ปรับตัวเพิ่มขึ้น ภายหลัง Reuters รายงานผลผลิตน้ำมันดิบจากบริเวณทะเลเหนือของอังกฤษและนอร์เวย์ในเดือน ส.ค. 56 จะลดลง 6.6% เมื่อเทียบกับเดือนปัจจุบัน เนื่องจากการปิดซ่อมบำรุง เสริมกับปัจจัยพื้นฐานในปัจจุบันที่ท่อขนส่ง Trans Niger (1.5 แสนบาร์เรลต่อวัน ) ในไนจีเรียหยุดดำเนินการชั่วคราวเนื่องจากตรวจพบการรั่วไหล ในส่วนของแนวโน้มในระยะยาว IEA คาดการณ์อัตราการเติบโตอุปสงค์น้ำมันดิบโลกในปี 57 จะเพิ่มขึ้น 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า (ในปี 56 IEA คาดการณ์อัตราการเติบโตอุปสงค์น้ำมันโลกเติบโตที่ 9.3 แสนบาร์เรลต่อวัน เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า) และอัตราการเติบโตอุปทานน้ำมันดิบจาก Non-OPEC ในปี 57 ก็เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า สูงสุดในรอบ 20 ปี (และมากกว่าการเติบโตอุปสงค์โลก) โดยหลักจากการเติบโตของผลผลิต Shale Oil จากกลุ่มประเทศในแถบอเมริกาเหนือ (และผลผลิตจากรัสเซีย สหรัฐฯ แคนาดา และบราซิล จะเพิ่มสูงเกินกว่าการคาดการณ์) ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันดิบโลกจากกลุ่มประเทศ OPEC (Call-on-OPEC) ในปี 57 ลดลงมาอยู่ที่ 29.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน (จาก Call-on-OPEC ที่ระดับ 29.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในปีนี้ และปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของ OPEC ณ ปัจจุบันที่ระดับ 30.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน) ตัวเลขจากรายงานดังกล่าวบ่งชี้ว่าบทบาทความสำคัญของ OPEC ในวงการน้ำมันดิบโลกกำลังลดลง เนื่องจากการพึ่งพิงน้ำมันดิบจาก OPEC ลดลง สำหรับในสัปดาห์นี้ ราคาน้ำมันดิบ Brent มีแนวรับแนวต้านอยู่ที่ 107.02-109.51 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล ส่วน WTI อยู่ที่ 104.31-107.45 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล และ Dubai อยู่ที่ 102.79-105.28 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันเบนซินปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยหลักจากการลดลงโดยถ้วนหน้าของปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ของประเทศผู้ใช้ โดยของญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 6 ก.ค. 56 ลดลง 5.89 แสนบาร์เรล เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า หรือ 4.29% อยู่ที่ระดับ 13.15 ล้านบาร์เรล ขณะที่ปริมาณสำรอง Light Distillates ของสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 10 ก.ค. 56 ลดลง 7.02 แสนบาร์เรล เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า อยู่ที่ระดับ 8.53 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 3 สัปดาห์ ด้านปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินของสหรัฐฯ ลดลง 2.63 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ระดับ 221 ล้านบาร์เรล โดยน้ำมันเบนซินยังแข็งแกร่งโดยอินโดนีเซียและเวียดนามยังคงนำเข้า ขณะที่โรงกลั่น CPC ของไต้หวันยังปิดซ่อมบำรุงหน่วย FCC ในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 124.79-130.79 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดีเซลปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากอุปทานที่ไม่สมดุลกับอุปสงค์ บริษัท Sinopec ซึ่งเป็นบริษัทกลั่นน้ำมันรายใหญ่ที่สุดในเอเชีย และบริษัท PetroChina ซึ่งเป็นบริษัทกลั่นน้ำมันรายใหญ่ที่สุดอันดับสองในจีน งดส่งออกน้ำมันดีเซล ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 ในเดือน ก.ค. 56 เนื่องจากถูกจำกัดโควตาส่งออกจากรัฐบาล และมีแนวโน้มว่าจะต้องงดส่งออกตลอดช่วงไตรมาสที่ 3/56 อย่างไรก็ตาม Platts คาดอินโดนีเซียมีความต้องการน้ำมันดีเซล ในช่วงเดือน ส.ค. 56 ลดลง เนื่องจากธุรกิจในประเทศปิดช่วงเทศกาลวันหยุดเฉลิมฉลองการออกศีลอดของชาวมุสลิม ทั้งนี้อินโดนีเซียนำเข้าน้ำมันดีเซล ปริมาณ 4.5 — 5 ล้านบาร์เรลในเดือนนี้ สูงกว่าเฉลี่ย 6 เดือนแรกของปีที่ระดับ 2.5-3.5 ล้านบาร์เรล ในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 121.87-124.36 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ