กลุ่มอุตสาหกรรมรองเท้าประกาศความพร้อมเป็นเจ้าภาพจัดประชุมผู้ประกอบ-การอุตสาหกรรมรองเท้านานาชาติครั้งที่ 24 ต้นเดือนพฤศจิกายน 2548 นี้

ข่าวทั่วไป Friday October 28, 2005 15:36 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 ต.ค.--สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
ผู้ประกอบการรองเท้าไทยหวังนำข้อมูลจากเวทีประชุม ใช้วางยุทธศาสตร์พัฒนาสินค้าเพื่อขยายส่วนแบ่งตลาดส่งออกหลัก สหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น พร้อมจัดชมโรงงานแสดงศักยภาพผู้ผลิตไทยสร้างความมั่นใจแก่ผู้นำเข้า เผยแนวโน้มส่งออกปีหน้าสดใส ผลจากเปิดเสรีการค้ากับญี่ปุ่น และผู้ผลิตประเทศเพื่อนบ้านถูกยุโรปเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด
นายธำรง ธิติประเสริฐ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมรองเท้า สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงความพร้อมในการจัดประชุมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมรองเท้านานาชาติ ครั้งที่ 24 (The 24th International Footware Conference: IFC) ซึ่งในปี 2548 ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1 - 3 พฤศจิกายน 2548 ณ โรงแรมแชงการีล่า กรุงเทพฯ ว่า ขณะนี้ ผู้แทนระดับสูงขององค์กรผู้ประกอบการอุตสาห-กรรมรองเท้าภาคเอกชนจาก 12 ประเทศ (จีน ฮ่องกง อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน ไทย สหรัฐอเมริกา เวียดนาม อิตาลี) ได้ตอบรับเข้าร่วมการประชุมอย่างพร้อมเพรียง โดยแต่ละประเทศได้จัดเตรียมข้อมูลสรุปสภาวะอุตสาหกรรมรองเท้าของตนในปี 2548 ทั้งยอดการผลิต นำเข้า ส่งออก พร้อมทั้งบทวิเคราะห์แนวโน้มอุตสาหกรรมในปี 2549 มานำเสนอในที่ประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดในประเด็นต่างๆร่วมกัน โดยข้อมูลทั้งหมดที่ได้จะสะท้อนทิศทางความต้องการของตลาดรองเท้าโลก ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดแนวทางการพัฒนารูปแบบสินค้าและยุทธศาสตร์การตลาดในปีต่อไป อันนับเป็นแนวทางกำหนดการพัฒนาสินค้าและนอกจากการประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างสมาชิก ยังจัดให้มีการเยี่ยมชมโรงงานผู้ผลิตรองเท้าไทย เพื่อแสดงศักยภาพการผลิตของผู้ประกอบการไทย ทั้งด้านเทคโนโลยี ฝีมือการออกแบบ คุณภาพบุคลากร ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้นำเข้ารองเท้ารายใหญ่จากสหรัฐอเมริกาที่เป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย รวมทั้ง ผู้ประกอบการชาวญี่ปุ่นที่มีแผนจะร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการไทย หรือย้ายฐานการผลิตมายังไทย เพื่อแก้ปัญหาต้นทุนการผลิตด้านค่าจ้างแรงงานในญี่ปุ่นที่มีอัตราสูงมาก โดยผู้ประกอบการญี่ปุ่นเห็นว่าไทยมีสิทธิประโยชน์การส่งเสริมการลงทุนที่น่าสนใจ และมีเทคโนโลยีการผลิตที่คล้ายคลึงกัน
สำหรับสภาวะอุตสาหกรรมรองเท้าไทยในปี 2548 ที่ผ่านมา พบว่า ยอดการส่งออกรองเท้าและชิ้นส่วน ตั้งแต่เดือนมกราคม - สิงหาคม มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 607.3 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 20.18% จากช่วงเดียวกันของปี 2547 ที่มีมูลค่าส่งออก 524.9 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นปีแรกที่ยอดการส่งออกมีอัตราขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนกว่า 15% นับตั้งแต่ปี 2545 ที่มูลค่าการส่งออกรองเท้าไทยลดลงติดต่อกันทุกปีอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้สาเหตุที่ทำให้ไทยมียอดการส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างมาก เนื่องจากในช่วงระยะเวลา 4 - 5 ปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมรองเท้าไทยได้มีการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต และได้ปรับกลยุทธ์การตลาด เลือกผลิตสินค้าที่มีรูปแบบเหมาะสมกับสายการผลิตในประเทศ เลิกกลยุทธ์การแข่งขันด้วยราคากับสินค้าราคาถูกจากจีนและเวียดนาม และเร่งพัฒนารูปแบบและคุณภาพสินค้าให้มีเอกลักษณ์โดดเด่น เพื่อเพิ่มกลุ่มลูกค้าระดับกลางที่ต้องการสินค้าที่มีคุณภาพในราคาที่เหมาะสม โดยมูลค่าส่งออก 8 เดือนของปี 2548 ไปยังตลาดหลัก 5 อันดับแรก เป็นดังนี้ สหรัฐอเมริกา มูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นจาก 175.9 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2547 เป็น 211.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2548 เบลเยี่ยม มูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นจาก 56.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2547 เป็น 60.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2548 เดนมาร์ก มูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นจาก 39.0 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2547 เป็น 44.0 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2548 อังกฤษ มูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นจาก 26.0 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2547 เป็น 37.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2548 และญี่ปุ่น มูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นจาก 31.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี2547 เป็น 33.9 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2548 ขณะที่การนำเข้ารองเท้า 8 เดือนแรกของปีนี้ มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 1,809.7 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 7.91% จากช่วงเดียวกันของปี 2547 ที่มีมูลค่านำเข้า 1,952.8 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยนำเข้าจากจีนมากเป็นอันดับแรก มูลค่า 825.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามด้วยอินโดนีเซีย มูลค่า 172.5 ล้านเหรียญสหรัฐ อิตาลี มูลค่า 155.8 ล้านเหรียญสหรัฐ มาเลเซีย มูลค่า 146.1 ล้านเหรียญสหรัฐ และสหรัฐอเมริกา เป็นมูลค่า 144.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามลำดับ
ทั้งนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมรองเท้าได้คาดการณ์แนวโน้มอุตสาหกรรมรองเท้าไทยในปี 2549 ว่า ผลสำเร็จจากการเจรจาเปิดเขตการค้าเสรีไทย - ญี่ปุ่น เมื่อเดือนกันยายน 2548 ที่ผ่านมา รวมถึงการที่สหภาพยุโรปได้ออกมาตรการเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดสินค้ารองเท้าจากเวียดนาม และจีน จะเป็นปัจจัยเอื้อให้ไทยมีโอกาสได้รับคำสั่งซื้อจากตลาดส่งออกหลัก เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น มากขึ้น โดยคาดว่าในปีหน้า มูลค่าการส่งออกจะเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 10% แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของผู้ผลิตไทยให้สามารถแข่งขันกับประเทศผู้ผลิตอื่นๆ โดยเฉพาะในภาคพื้นเอเชียที่เป็นคู่แข่งสำคัญของไทย ผู้ประกอบการไทยต้องพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตและคุณภาพสินค้าในทุกๆ ด้านให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการออกแบบและคุณภาพการผลิต นอกจากนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมรองเท้าต้องการให้ภาครัฐช่วยลดภาษีวัสดุตกแต่งรองเท้าลงเหลือ 5% จากเดิม 15 - 20% เพื่อช่วยเหลือภาระต้นทุนของผู้ผลิตขนาดย่อมภายในประเทศ เพิ่มโอกาสในการสร้างสรรค์รูปแบบ สินค้าให้มีเอกลักษณ์และมีความหลากหลายยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยกระตุ้นกำลังซื้อภายในประเทศ และเมื่อตลาดในประเทศขยายตัว ย่อมส่งผลให้ผู้ผลิตไทยมีความเข้มแข็ง พร้อมที่จะขยายการส่งออกมากยิ่งขึ้น
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ
แผนกประชาสัมพันธ์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
โทร. 0-2345-1017 โทรสาร 0-2345-1295-9--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ