กรุงเทพฯ--24 ก.ค.--ก.ล.ต.
คณะกรรมาธิการยุโรป (“EC”) มีมติยอมรับระบบการกำกับดูแลผู้สอบบัญชีในตลาดทุนของ ก.ล.ต. และจัดให้ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีมาตรฐานเท่าเทียมกัน (equivalent) เป็นผลให้ผู้สอบบัญชีของไทยไม่ต้องขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานกำกับดูแลผู้สอบบัญชีของประเทศสมาชิก EU ทำให้บริษัทไทยสามารถเสนอขายหลักทรัพย์ใน EU ได้สะดวกและนับเป็นครั้งแรกที่ EC ให้การยอมรับประเทศไทยอย่างเป็นทางการ
นายวรพล โสคติยานุรักษ์ เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า “การยอมรับจาก EC เป็นผลจากการที่ ก.ล.ต. ได้มีแนวทางการกำกับดูแลผู้สอบบัญชีในตลาดทุนอย่างเข้มงวดตามมาตรฐานสากล โดยได้เข้าตรวจระบบการควบคุมคุณภาพงานสอบบัญชีของสำนักงานสอบบัญชี และได้ยกระดับคุณภาพงานสอบบัญชีบริษัทในตลาดทุนให้มีมาตรฐาน โปร่งใส และเพิ่มความน่าเชื่อถือของข้อมูลทางการเงินที่เปิดเผยในตลาดทุนไทยให้ทัดเทียมกับมาตรฐานสากล โดยได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์ให้ผู้สอบบัญชีในตลาดทุนต้องสังกัดสำนักงานสอบบัญชีที่มีระบบการควบคุมคุณภาพงานสอบบัญชีตามมาตรฐานสากล ทำให้ผู้ลงทุนในกลุ่มประเทศสมาชิก EU ที่ลงทุนในหลักทรัพย์ของบริษัทไทยมั่นใจได้ว่า จะได้รับการคุ้มครองอย่างเพียงพอ ทำให้ประเทศสมาชิก EU และประเทศไทยสามารถให้ความไว้วางใจซึ่งกันและกันในการตรวจสอบการทำงานของสำนักงานสอบบัญชีที่ดำเนินการโดยอีกฝ่ายหนึ่งได้ (mutual reliance)
การยอมรับจาก EC ในครั้งนี้ เป็นการยกระดับประเทศไทยขึ้นไปเป็นกลุ่มประเทศที่มีมาตรฐานทัดเทียมกันซึ่งแสดงให้เห็นว่า ก.ล.ต. ได้ดำเนินงานสอดคล้องกับมาตรฐานสากล ทำให้บริษัทไทยสามารถเสนอขายหลักทรัพย์ในประเทศสมาชิก EU ได้สะดวกยิ่งขึ้น สามารถใช้ผู้สอบบัญชีไทยได้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้แก่บริษัทไทยต่อไป”
อนึ่ง จนถึงปัจจุบัน EC ยอมรับประเทศหรือเขตดินแดน จำนวน 20 แห่ง อาทิเช่น ออสเตรเลีย แคนาดา จีน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ สวิสเซอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา บราซิล อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไต้หวัน และไทย เป็นต้น