โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพมอบ AED 2 เครื่องให้วุฒิสภาและรัฐสภา เพื่อใช้ในการช่วยชีวิตฉุกเฉิน

ข่าวทั่วไป Wednesday August 7, 2013 17:01 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--7 ส.ค.--แมสคอท คอมมิวนิเคชั่น โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพมอบ AED 2 เครื่องให้วุฒิสภาและรัฐสภาเพื่อใช้ในการช่วยชีวิตฉุกเฉิน (AED = เครื่องกระตุ้นกล้ามเนื้อหัวใจด้วยกระแสไฟฟ้าอัตโนมัติ) สืบเนื่องจากอุบัติการณ์ที่มีผู้เสียชีวิตมากขึ้น จากอาการช็อค หมดสติ หัวใจหยุดทำงาน เกิดจาก 2 สาเหตุ ใหญ่ คือ จากภาวะของโรคหัวใจโดยตรง เช่นโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน, โรคลิ้นหัวใจอักเสบ, โรคผนังกล้ามเนื้อหัวใจหนา, โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เป็นต้น หรือเกิดจากภาวะหัวใจหยุดทำงานโดยไม่ทราบสาเหตุที่เกิดขึ้นกับบุคคลที่มีสุขภาพแข็งแรงและมักจะยังมีอายุไม่มากนัก หรือโรคไหลตาย ซึ่งอาจเกิดได้กับทุกคนโดยที่ไม่ทันรู้ตัว โรงพยาบาลกรุงเทพ ได้ตระหนักให้ความสำคัญกับการช่วยชีวิตฉุกเฉินมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อรณรงค์ให้คนไทยได้มีความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับการช่วยชีวิตฉุกเฉิน ว่ามีแนวทางการปฏิบัติอย่างไร เพื่อฟื้นฟูหรือประคับประคองอาการของผู้ป่วยก่อนถึงมือแพทย์ จึงได้วางโครงการฝึกอบรม พร้อมมอบเครื่องกระตุ้นกล้ามเนื้อหัวใจด้วยกระแสไฟฟ้าอัตโนมัติ เพื่อช่วยเหลือชีวิตผู้ป่วยได้อย่างทันเหตุการณ์ ซึ่งในโอกาสนี้ นายแพทย์ประดับ สุขุม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ และ นาวาอากาศเอก(พิเศษ) นายแพทย์ไพศาล จันทรพิทักษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกรุงเทพ สายกิจกรรมพิเศษ เป็นตัวแทนส่งมอบเครื่องกระตุ้นกล้ามเนื้อหัวใจด้วยกระแสไฟฟ้าอัตโนมัติ(AED)จำนวน 2 เครื่อง ให้กับสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 โดยติดตั้งเครื่องที่บริเวณโถงชั้น 1 อาคาร 2 วุฒิสภา สำนักงานวุฒิสภาและโถงชั้น1 อาคาร 1 รัฐสภา พร้อมจัดสาธิตการใช้เครื่องกระตุ้นหัวใจ โดยทีมแพทย์และพยาบาลด้านเวชศาสตร์ฉุกเฉิน เพื่อให้ท่านสมาชิกวุฒิสภา และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รวมถึงเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการด้านต่างๆ ในทั้งสองสภาและสื่อมวลชน ได้ทำความเข้าใจและสามารถปฏิบัติใช้จริงได้ เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น โดย นายแพทย์ไพศาล กล่าวให้ข้อมูลว่า เครื่องกระตุ้นกล้ามเนื้อหัวใจด้วยกระแสไฟฟ้าอัตโนมัติ หรือ Automated External Defibrillator (AED) เป็นเครื่องมืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ชนิดพกพานั้นได้เพิ่มขีดความสามารถ ให้ง่ายต่อการใช้งานและทรงประสิทธิภาพ เพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วยที่เกิดภาวะหัวใจหยุดเต้น โดยในระหว่างการช่วยชีวิต ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการปฐมพยาบาลขั้นต้นอย่างเร่งด่วนในสถานที่เกิดเหตุ โดยการนวดหัวใจสลับกับการเป่าปากช่วยหายใจ และใช้เครื่อง AED กระตุ้นการเต้นของหัวใจให้ฟื้นกลับคืนมา กลไกการทำงานของเครื่อง AED ได้รับการออกแบบให้ปล่อยกระแสไฟฟ้าจากภายนอกร่างกาย โดยจะวินิจฉัยการเต้นของหัวใจ หากพบภาวะการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติชนิดที่เป็นอันตราย เครื่องจะปล่อยกระแสไฟฟ้ากระตุ้นให้หัวใจกลับมาทำงานตามปกติที่เรียกว่า "Defibrillation" พร้อมกันนั้นเครื่องจะบันทึกข้อมูลรายละเอียดการเต้นของหัวใจตั้งแต่เครื่องเริ่มทำงานเมื่อรถพยาบาลมาถึงทีมเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือที่ได้รับการฝึกฝนมาเป็นพิเศษหรือแพทย์สามารถเรียกข้อมูลดูได้ทันที นายแพทย์ไพศาล กล่าวเพิ่มเติมว่า โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ จะส่งเสริมให้ประชาชนได้มีความรู้เกี่ยวกับการช่วยชีวิตเพิ่มมากขึ้น และมีแผนจะกระจายจุดติดตั้งเครื่อง AED ไปยังสถานที่สาธารณะ อาทิ สถานที่ราชการโรงเรียน มหาวิทยาลัย สนามบิน เพื่อเพิ่มช่องทางการเข้าถึงเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพของประชาชนได้มากขึ้น เพิ่มความปลอดภัยให้ทุกชีวิตได้ในอนาคต 5 ขั้นตอนปฏิบัติการช่วยชีวิต ก่อนเริ่มต้นให้การช่วยเหลือตรวจภัยอันตรายโดยรอบให้แน่ใจก่อนว่ามีความปลอดภัย ขั้นตอนที่ 1 ตรวจดูระดับความรู้สึกตัว โดยการตบที่หัวไหล่ผู้หมดสติและถามว่า “คุณ...เป็นอย่างไรบ้างครับ (คะ)” ขั้นตอนที่ 2 ขอความช่วยเหลือ: โทร 02-244-1729 หรือ 02-244-1108 และไปเอา เครื่องกระตุ้นกล้ามเนื้อหัวใจด้วยกระแสไฟฟ้าอัตโนมัติ (AED) ขั้นตอนที่ 3 เริ่มทำการกดหน้าอกให้ถูกวิธี 1. หาตำแหน่งวางมือบนหน้าอก 2. กดลึกประมาณ 2 นิ้ว 3. กดให้ได้ความถี่ของการกดประมาณ 100 ครั้ง/นาที ขั้นตอนที่ 4 การติดตั้งและการใช้เครื่อง AED 1. เปิดเครื่อง AED 2. ติดแผ่นวิเคราะห์สัญญาณคลื่นไฟฟ้าหัวใจ 3. ปฏิบัติตามคำแนะนำในการใช้งานของเครื่อง 4. กดหน้าอกอย่างต่อเนื่องตลอดเวลาที่ติดตั้งเครื่อง AED 5. หากเครื่อง AED แปลผลว่าจำเป็นต้องทำการช๊อกไฟฟ้าผู้ประสบเหตุ ให้ตะโกน “ถอยห่าง” และกดปุ่ม “ช๊อก” 6. หากเครื่อง AED แปลผลว่าไม่จำเป็นต้องทำการช๊อกไฟฟ้าผู้ประสบเหตุ ให้ทำการช่วยฟื้นคืนชีพด้วยการกดหน้าอกอย่างต่อเนื่อง 7. กลับไปทำการช่วยฟื้นคืนชีพ ด้วยวิธีกดหน้าอกและช๊อกไฟฟ้าด้วยเครื่อง AED อย่างต่อเนื่อง จนกว่าผู้ป่วยจะกลับมาหายใจเองได้ หรือจนกว่าจะมีเจ้าหน้าที่ปฐมพยาบาลมาช่วย ขั้นตอนที่ 5 หากผู้ประสบเหตุหายใจได้เองแล้ว จัดให้อยู่ในท่าพักฟื้น และเฝ้าสังเกตติดตามผู้ประสบเหตุอย่างต่อเนื่องไปจนกว่าทีมเจ้าหน้าที่ปฐมพยาบาลจะมาถึง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ