การประชุมเวทีเศรษฐกิจฮินดูโลก 2013 เปิดมุมมองด้านการค้าการลงทุน เพิ่มโอกาสและเชื่อมโยงโลกธุรกิจฮินดูและอาเซียน

ข่าวทั่วไป Thursday August 15, 2013 10:59 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 ส.ค.--WHEF การประชุมเวทีเศรษฐกิจฮินดูโลก 2013 เปิดมุมมองด้านการค้าการลงทุน เพิ่มโอกาสและเชื่อมโยงโลกธุรกิจฮินดูและอาเซียน การเติบโตและการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียนเป็นโอกาสสำคัญในการยกระดับความร่วมมือทางธุรกิจของฮินดูและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ โดยสองเป้าหมายที่สำคัญของนักธุรกิจฮินดู คือ ยุโรป และแอฟริกาใต้ เมื่อวันที่ 10-11 สิงหาคม 2556 ได้มีการจัดการประชุมเวทีเศรษฐกิจฮินดูโลก 2013 (World Hindu Economic Forum 2013 หรือ WHEF) ที่ ร.ร.รอยัล ออคิด เชอราตัน โดยเป็นการสัมมนาเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลกในหลากหลายมิติ ทั้งประเด็นความสำเร็จของกลุ่มธุรกิจฮินดูในการบุกตลาดและสร้างความร่วมมือทางธุรกิจและการค้ากับภูมิภาคต่างๆ และการให้ความสำคัญกับภูมิภาคอาเซียนที่กำลังจะกลายมาเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในอีก 2 ปี ข้างหน้า นายซุชีล กุมาร ซาราฟ ประธานคณะกรรมการอำนวยการและสมาชิกคณะกรรมการอำนวยการการจัดประชุมผู้นำเศรษฐกิจฮินดูโลก ครั้งที่ 2 ประจำปี 2013 กล่าวถึงเป้าหมายการจัดงาน WHEF ครั้งนี้ ว่า เป็นการนำชาวฮินดูที่ประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจมาพบกันเพื่อสร้างเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ พร้อมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการช่วยเหลือผู้ประกอบการฮินดูรุ่นใหม่ โดยครั้งต่อไปจะจัดขึ้นที่ประเทศอินเดีย ในอดีตเศรษฐกิจของชาวฮินดูเคยสร้างรายได้ถึงร้อยละ 35 ของเศรษฐกิจโลกทั้งหมด แต่ปัจจุบันกลับเหลือเพียงร้อยละ 5-6 เท่านั้น การที่จะกลับไปยิ่งใหญ่เหมือนเคยหรือมากกว่า เราต้องสร้างประชาคมเศรษฐกิจฮินดู โดยคำว่า HINDU ซึ่งเป็นเป้าหมายของการประชุมครั้งนี้ มาจาก คำว่า Help ช่วยเหลือ Inform ให้ข้อมูล Network สร้างเครือข่าย และDevelop พัฒนา และ Unify นายอนิล วาธวา เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอินเดียประจำประเทศไทย ประธานในการเปิดการประชุมผู้นำเศรษฐกิจฮินดูโลก ครั้งที่ 2 ประจำปี 2013 กล่าวถึง ภาพรวมการลงทุนระหว่างประเทศไทยและอินเดีย ว่า นักธุรกิจไทยและอินเดียต่างมีแผนการลงทุนขนาดใหญ่ในอีก 5 ปีที่จะถึงนี้ ทั้งด้านพลังงานทางเลือก การท่องเที่ยว การพัฒนาระบบสาธารณูปโภค ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งมีนักธุรกิจอินเดียสนใจจะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย มูลค่ารวมกว่า 2,500 ล้านเหรียญสหรัฐ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ประเทศไทยและอินเดียมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมายาวนานและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ไทยกับอินเดีย มีแผนการลงทุนร่วมที่จะเชื่อมระเบียงเศรษฐกิจตะวันออกสู่ตะวันตก ผ่านประเทศเวียดนาม ลาว ไทย และเมียนมาร์ ที่จะกลายเป็นหัวใจสำคัญในการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจของเอเซียในอนาคตอันใกล้ ด้าน ดร. โอฬาร ไชยประวัติ ประธานผู้แทนการค้าไทย และอดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังสร้างอนาคตของประเทศ โดยสิ่งที่เราจะทำคือสร้างการเข้าถึงเงินทุน และการสร้างความสามารถในกลุ่มผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ซึ่งรัฐบาลชุดปัจจุบันมีนโยบายกองทุนตั้งตัวได้ ที่เป็นการสร้างโอกาสในการร่วมลงทุนทางธุรกิจ (Venture Capital: VC) ให้กับผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ดังนั้นรัฐบาลไทยจึงมองเห็นว่ากองทุนดังกล่าวจะสามารถดูแลนักธุรกิจที่ได้รับอนุญาต รวมถึงเยาวชนรุ่นใหม่ที่กำลังจะก้าวเข้ามาทำธุรกิจ ดร. ซุมาน ซาไฮ ประธานบริษัท ยีน แคมเปญ อินเดีย จำกัด กล่าวว่า ภูมิภาคเอเชียใต้ ถึงแม้จะมีเขตแดนอยู่ติดกัน แต่การค้าและการลงทุนระหว่างกันยังอยู่ในระดับต่ำ จากมาตรการกีดกันทางการค้า ขณะที่สินค้าเกษตรก็ประสบปัญหาการส่งออกจากการตรวจสอบสินค้าอย่างเข้มงวดตามมาตรฐานด้านสุขอนามัย ทำให้เกิดความเสียหายจากการดำเนินการที่ล่าช้า และมีต้นทุนสูงจากการตรวจสอบที่ซ้ำซ้อน ดังนั้น สิ่งที่ภูมิภาคนี้ต้องการคือการบูรณาการระบบสาธารณูปโภคและการขนส่ง ซึ่งกลุ่มประเทศ BCIM อาทิ บังคลาเทศ จีน อินเดีย และเมียนมาร์ ได้เรียกร้องให้เร่งปรับปรุงเรื่องการเชื่อมโยงระหว่างกันทั้งถนน ทางน้ำ และระบบราง การปฏิรูประบบศุลกากร การสร้างความทันสมัยให้กับระบบการค้าและการลงทุนทั้งระบบ การสร้างขีดความสามารถให้กับภาคธุรกิจ ควรมีระบบการติดตามและการประเมินผลโดยใช้ระบบออนไลน์มากกว่าการใช้กำลังคน ขณะที่ประเทศดาวรุ่งที่เป็นโอกาสในการลงทุนของภูมิภาคนี้ คือ สหภาพเมียนมาร์ ซึ่งมีศักยภาพด้านสินค้าเกษตร อัญมณี การผลิต และการบริการ เช่นเดียวกับมุมมองของ นายขิ่น ขิ่น นิว ตัวแทนนักธุรกิจจากสหภาพเมียนมาร์ ให้ความเห็นว่า ปัจจุบัน เมียนมาร์กำลังพัฒนาประเทศให้ขึ้นมาเป็นประเทศกำลังพัฒนา โดยจะพัฒนาภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน พร้อมสร้างความเสมอภาค และเริ่มเปิดเสรีมากขึ้นในหลายเรื่อง รวมถึงออกนโยบายต่างๆ ที่สอดคล้องกับการสร้างความก้าวหน้าให้กับประเทศ เพื่อรองรับการเปิดเสรีการค้า และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ต่างชาติที่จะมาลงทุน อาทิ การเริ่มใช้อัตราแลกเปลี่ยนเดียวกัน การมีกฎหมายการลงทุนของต่างชาติ กฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษ ภาษีการค้าและเงินได้สำหรับการส่งออกลดจาก 10% เหลือ 0 (ยกเว้นสินค้าพิเศษ 18 ชนิด) ปรับลดภาษีเงินได้จาก 10% เหลือ 0 และคาดว่าจะเริ่มบังคับใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา ภายในปี 2556 หรือต้น 2557 โดยจะเชื่อมโยงการค้ากับอินเดียผ่านเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจตะวันออกตะวันตก ทั้งนี้ เมียนมาร์มีเป้าหมายที่จะทำให้รายได้ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ หรือ GDP ของประเทศเติบโตอย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ 7.7% ต่อปี และจะเพิ่มสัดส่วนภาคการผลิต จากร้อยละ 26 เป็นร้อยละ 32 โดยธุรกิจที่สำคัญคือ พลังงาน น้ำมันและก๊าซ เหมืองแร่ โรงแรมและการท่องเที่ยว มีเขตอุตสาหกรรม 18 แห่งทั้งประเทศ ขณะที่นายปิยะบุตร ชลวิจารณ์ รองประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในอีกไม่เกิน 2 ปี โดยประเทศไทยจะเข้าเป็นส่วนหนึ่งในประชาคมอาเซียน ซึ่งเป็นตลาดค่อนข้างใหญ่ และยังมีศักยภาพในการพัฒนาอีกมาก นอกจากนี้ ไทยยังมีความร่วมมือกับเขตเศรษฐกิจอื่นๆ เช่น BIMSTEC ที่เป็นประเทศที่ยังสามารถพัฒนาได้อีก และน่าจับตามอง รวมถึงความตกลงในกรอบอื่นๆ เช่น IMT-GT เป็นต้น นาย อัลเปช ปาเทล เจ้าของบริษัท เพรฟเนียม ลอนดอน กล่าวว่า ยุโรปยังเป็นตลาดการค้าขายที่ใหญ่ที่สุด ใหญ่กว่าจีนและอินเดียรวมกัน และยังเป็นที่ที่เชื่อมความคิดสร้างสรรค์ และการประดิษฐ์คิดค้นของคนในยุโรป ซึ่งการเจาะตลาดยุโรปสำหรับชาวฮินดูมี 3 วิธี คือ 1. การให้ความสำคัญกับทรัพย์สินทางปัญญา เพราะเรื่องสิทธิบัตรเป็นสิ่งที่มากับค่าใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนา ซึ่งมีการลงทุนเป็นจำนวนมากในแต่ละปี ชาวฮินดูจำนวนไม่น้อยไม่ปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาของตน ทำให้มูลค่า GDP ของชาวฮินดูลดลงอย่างมาก 2.สร้างโอกาสในการทำธุรกิจกับรัฐบาล เพราะการใช้จ่ายของภาครัฐเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และมักจะเป็นโครงการใหญ่ มีมูลค่าสูง และ 3.ตั้งสำนักงานใหญ่ของบริษัทไว้ในที่ที่เป็นเป้าหมาย ส่วนโอกาสในการลงทุนในแอฟริกาใต้นั้น ดร. เจเนชเวอร์ เจอรี่ ที่ปรึกษาอาวุโสนายกรัฐมนตรี สาธารณรัฐมอริเชียส กล่าวว่า มอนิเชียสเป็นประตูสู่แอฟริกา เป็นจุดเชื่อมระหว่างแอฟริกา เอเชีย ยุโรป และด้วยความที่เป็นประเทศที่ตั้งอยู่ในมหาสมุทร อุตสาหกรรมหลักคือ การประมง การให้บริการทางทะเลที่โดดเด่น ท่าเรือและบริการที่เกี่ยวข้อง ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวในมหาสมุทร และการอนุรักษ์ทะเล นอกจากนี้ มอริเชียสยังเป็นประเทศที่เป็นพื้นฐานด้านการเงินที่นักธุรกิจมั่นใจ และกำลังพัฒนาประเทศไปเป็นประเทศที่มีรายได้สูง ซึ่งมอริเชียสได้รับการจัดอันดับให้เป็นประเทศที่น่าลงทุนเป็นอันดับ 1 ในแอฟริกา และที่ 19 ของโลก เพราะนักธุรกิจสามารถเปิดธุรกิจได้ภายใน 3 วัน ไม่ต้องมีคู่ค้าท้องถิ่น ไม่มีภาษีเงินได้นิติบุคคล มีโครงสร้างด้านโลจิสติกส์ที่พร้อม ให้สิทธิพิเศษด้านภาษีแก่นักลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ และจากการที่มอริเชียสเป็นสมาชิกของ COMESA และ SADC ทำให้มีข้อตกลงกับประเทศสมาชิกอื่นๆ ในแอฟริกา ทำให้นักลงทุนได้รับสิทธิพิเศษส่วนนี้เพิ่มเติม เช่นเดียวกับ นาย ดาโต๊ะ เจ.เจกาเธเซ่น ประธานกรรมการบริหาร บริษัท อิชวาลา คอนเน็ค จากมาเลเซีย ที่มองว่า แอฟริกายังมีโอกาสอีกมหาศาลรออยู่ โดยเฉพาะด้านการเกษตร การผลิต การศึกษา ยา ภาคการบริการและการท่องเที่ยว ซึ่งมาเลเซียได้ลงทุนในแอฟริกาไปกว่า 19,000 ล้านดอลลาร์ ทั้งนี้แซมเบียก็เป็นอีกหนึ่งในประเทศที่น่าสนใจจากทั้งหมด 54 ประเทศ โดยในปี 2010 แซมเบียเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจที่โตเร็วที่สุด

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ