เสนอให้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระจายไปทั่วประเทศ

ข่าวทั่วไป Monday August 19, 2013 10:40 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 ส.ค.--สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย รศ.ดร.กำจัด มงคลกุล อดีตนายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยฯ กล่าวว่า การที่จะให้ประเทศไทยก้าวหน้าในทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นั้น จะต้องสร้างความตระหนักให้เกิดขึ้นในหมู่ประชาชนทั่วประเทศ การจัดงานวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ รวมทั้งงานมหกรรมวิทยาศาสตร์ ที่เกิดขึ้นในส่วนกลาง โดยเฉพาะในศูนย์การประชุมฯ แต่ละปี ประโยชน์ที่ได้จะน้อยกว่าการหมุนเวียนไปจัดตามต่างจังหวัด เช่นเดียวกับการแข่งขันฟุตบอลลีค ซึ่งจัดกันอยู่ในปัจจุบัน สมาคมวิทยาศาสตร์ฯ ได้เสนอรัฐบาลให้มี "วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ" ขึ้นในวันที่ 18 สิงหาคม ของทุกปี ก็เพื่อให้ประชาชนเห็นความสำคัญที่รัชกาลที่ 4 สมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงคำนวณการเกิดสุริยุปราคา ที่หว้ากอ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ได้อย่างแม่นยำ พร้อมทั้งเชิญชาวต่างชาติไม่ว่าอังกฤษ หรือฝรั่งเศสมาเป็นสักขีพยาน ทำให้เกียรติภูมิของขีดความสามารถทางวิทยาศาสตร์ได้รับการยอมรับจากต่างชาติ ทำให้ไทยรอดพ้นจากการเป็นอาณัติของมหาอำนาจไปได้ รัฐบาลได้เห็นชอบในข้อเสนอที่ให้ "วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี" เป็นหนึ่งในห้าของพลังอำนาจของชาติ ในสมัย พลเอกอาทิตย์ กำลังเอก เป็น ผบ.ทบ. โดยถือเป็นยุทธศาสตร์ 1 ใน 5 ยุทธศาสตร์สำคัญ คือ เศรษฐกิจ การเมืองการปกครอง สังคมจิตวิทยา การทหาร และวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ดังนั้น จึงไม่ควรละเลยการให้ความสำคัญด้านวิทยาศาสตร์ โดยเน้นการสนับสนุนด้านงบประมาณ ซึ่งมีเพียง 0.2% ของ GDP เท่านั้น ขณะที่ประเทศพัฒนาอย่างเกาหลีมากกว่าเราเยอะ ภาคเอกชน บริษัทใหญ่ๆ ควรให้ความสำคัญแก่การวิจัยพัฒนา เพื่อสร้างนวัตกรรมในผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของตน โดยอาจให้ทุนการศึกษาแก่เยาวชนที่ได้เหรียญโอลิมปิกวิชาการ ปีหนึ่งๆ มีมากพอที่จะศึกษาไปจนจบปริญญาเอก แล้วให้คนที่เรียนเก่งมีความสามารถทางวิทยาศาสตร์เหล่านี้ มาเป็นนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ขึ้น ให้สามารถแข่งขันได้ในท้องตลาด ถ้าร่วมมือกันทั้งภาครัฐและเอกชนก็เชื่อว่าจะเป็นการพัฒนาความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทัดเทียมประเทศที่พัฒนาแล้ว สำหรับบริเวณ "หว้ากอ" แหล่งประวัติทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญ ขณะนี้ทางจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ น่าจะพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวิทยาศาสตร์และการศึกษาไปพร้อมๆ กัน แทนที่จะมุ่งไปทางการศึกษาอย่างเดียว เพราะยังมีพื้นที่ที่ควรจะพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้อีกมากตามเจตนารมณ์ของสมาคมวิทยาศาสตร์ฯ ที่เสนอให้รัฐบาลเอาไว้ ถ้าทำได้เต็มรูปแบบ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ก็จะมีแหล่งท่องเที่ยวที่ครอบคลุมทั้งวิทยาศาสตร์ การศึกษา ไปพร้อมๆ กับแหล่งประวัติทางวิทยาศาสตร์ด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ