ฟิทช์ประกาศคงอันดับเครดิตของธนาคารทหารไทยที่ ‘BBB-’/‘A+(tha)’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 3, 2013 17:50 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 ก.ย.--ฟิทช์ เรทติ้งส์ ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศคงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Long-Term Issuer Default Rating) ของ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB ที่ ‘BBB-’ และ อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-Term Rating) ที่ ‘A+(tha)’ โดยแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ สำหรับรายละเอียดของอันดับเครดิตอื่นแสดงไว้ในส่วนท้าย ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต — อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน และ อันดับเครดิตภายในประเทศ อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวและอันดับเครดิตภายในประเทศของ TMB พิจารณาจากความแข็งแกร่งทางการเงินของตัวธนาคารเอง ซึ่งสะท้อนอยู่ในอันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน (Viability Rating) อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ TMB พิจารณาถึงอัตรากำไรก่อนการสำรองหนี้สงสัยจะสูญ (pre-provisioning profitability) และคุณภาพสินทรัพย์ที่ปรับตัวดีขึ้น และฟิทช์คาดว่าปัจจัยดังกล่าวจะยังคงปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง อันดับเครดิตดังกล่าวยังสะท้อนถึงสถานะในด้านการระดมทุนและสภาพคล่องของธนาคารที่อยู่ในระดับที่ดี อย่างไรก็ตาม โครงสร้างการเงินโดยรวมของ TMB ยังคงอยู่ในระดับที่ด้อยกว่าบ้างเมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์อื่นในประเทศและต่างประเทศ การปรับตัวดีขึ้นของอัตราส่วนกำไร เช่น อัตราส่วนส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) และกำไรจากการดำเนินงานก่อนสำรองหนี้สงสัยจะสูญ โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากแนวโน้มที่ปรับตัวดีขึ้นของการเติบโตของสินเชื่อ ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย และการบริหารต้นทุนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญน่าจะปรับตัวลดลงกลับมาอยู่ในระดับปรกติจากการที่ธนาคารมีคุณภาพสินทรัพย์ที่ปรับตัวดีขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากความสำเร็จของธนาคารที่ได้ให้ความสำคัญในการบริหารจัดการปัญหาด้านคุณภาพสินทรัพย์ สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ลดลงเป็น 4.8% ของสินเชื่อรวม ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2556 เมื่อเทียบกับ 7.5% ณ สิ้นปี 2554 เนื่องจากการขายสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มเติมในไตรมาสที่ 4 ปี 2555 และการเติบโตของสินเชื่อ ในขณะเดียวกันอัตราส่วนสำรองหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 131.9% จาก 79.9% แม้ว่าอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมของ TMB จะยังคงอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกันธนาคารพาณิชย์อื่น แต่อัตราส่วนสำรองหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคารได้ปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ในระดับใกล้เคียงกับธนาคารพาณิชย์อื่นในประเทศและอยู่ในระดับที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์ในต่างประเทศ ปัจจัยดังกล่าวนับว่าเป็นปัจจัยสำคัญกับคุณภาพสินทรัพย์ซึ่งมีความเสี่ยงที่อาจได้รับผลกระทบจากการปรับตัวอ่อนแอลงของสภาวะแวดล้อมการดำเนินงาน เนื่องจากระบบธนาคารพาณิชย์ยังคงมีการเติบโตของสินเชื่อในระดับสูง อย่างไรก็ตามฟิทช์มองว่า TMB ยังคงมีการบริหารความเสี่ยงที่ดี TMB มีโครงสร้างการระดมทุนและสภาพคล่องอยู่ในระดับที่ดี ธนาคารได้ขยายฐานลูกค้าเงินฝากรายย่อยซึ่งช่วยให้ธนาคารสามารถลดต้นทุนทางการเงินให้ต่ำลงและใกล้เคียงกับธนาคารขนาดใหญ่มากขึ้น อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝาก (LDR) ของธนาคารปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 97.1% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2556 (91.5% ณ สิ้นปี 2555) เนื่องจากการไหลออกของเงินฝากจากบัญชีของลูกค้าบริษัทรายใหญ่รายหนึ่ง อย่างไรก็ตามอัตราส่วนดังกล่าวยังคงอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกันกับธนาคารพาณิชย์อื่นในประเทศ นอกจากนี้สินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารคาดว่าจะสามารถครอบคลุมเงินกู้ยืมระยะสั้นทั้งหมดและ 24.8% ของเงินฝาก ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2556 ซึ่งอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งเมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์ไทยส่วนใหญ่ TMB น่าจะมีอัตราส่วนเงินกองทุนที่คำนวณโดยฟิทช์ (Fitch Core Capital) ที่ประมาณ 11.5% และมีเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่ 11.3% ณ มิถุนายน 2556 ซึ่งอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกันกับธนาคารพาณิชย์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ และน่าจะช่วยรองรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้บ้าง TMB เป็นธนาคารพาณิชย์ที่มีขนาดใหญ่อันดับที่ 7 ในประเทศไทย โดยมีขนาดสินทรัพย์ที่ 711.6 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2556 ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของธนาคาร ได้แก่ ING Bank NV มีสัดส่วนการถือหุ้นที่ 30.1% (รวม 4.9% ที่ถือใน Non-Voting Depository Receipt หรือ NVDR) และกระทรวงการคลังมีสัดส่วนการถือหุ้นอยู่ที่ 26.1% ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต — อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน และ อันดับเครดิตภายในประเทศ โอกาสที่อันดับเครดิตของ TMB จะได้รับการปรับเพิ่มขึ้นในระยะสั้นมีค่อนข้างจำกัด เนื่องจากความแข็งแกร่งทางการเงินโดยรวมของ TMB คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปและปัจจัยดังกล่าวได้สะท้อนอยู่ในอันดับเครดิตปัจจุบันแล้ว ในทางกลับกันหากการปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องของธนาคารมีทิศทางที่เปลี่ยนไปในทางตรงกันข้าม การเติบโตของสินเชื่อในระดับที่สูงมากโดยไม่มีปัจจัยอื่นมารองรับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น หรือการเพิ่มขึ้นของการกระจุกตัวของสินเชื่ออย่างมีนัยสำคัญ ปัจจัยเหล่านี้อาจส่งผลกระทบในเชิงลบต่ออันดับเครดิต สัญญาณที่บ่งชี้ถึงการปรับตัวแย่ลงของเครือข่ายธุรกิจด้านเงินฝาก (deposit franchise) ของธนาคาร อาจส่งผลกระทบในเชิงลบต่ออันดับเครดิตเช่นกัน ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต — อันดับเครดิตสนับสนุน และ อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำ อันดับเครดิตสนับสนุนที่ ‘3’ และ อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำที่ ‘BB+’ ของ TMB สะท้อนถึงความเป็นไปได้ในระดับหนึ่งที่ธนาคารจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลหากมีความจำเป็น มุมมองดังกล่าวพิจารณาถึงความสำคัญของ TMB ต่อระบบเศรษฐกิจและการเงิน โดยเป็นธนาคารขนาดกลางที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดที่ประมาณ 5% ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต — อันดับเครดิตสนับสนุน และ อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำ การเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญของความสำคัญของธนาคารต่อระบบเศรษฐกิจและการเงิน (ซึ่งส่วนใหญ่จะสะท้อนจากขนาดของส่วนแบ่งทางการตลาดในด้านสินทรัพย์ สินเชื่อ และเงินฝาก) อาจส่งผลให้โอกาสในการได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเปลี่ยนแปลงไป และจะส่งผลต่ออันดับเครดิตสนับสนุนและอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำเช่นกัน การปรับลดอันดับเครดิตของประเทศไทยลงหลายอันดับ อาจส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตสนับสนุนและอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำได้เช่นกัน อย่างไรก็ตามฟิทช์เชื่อว่าเหตุการณ์ดังกล่าวไม่น่าจะเกิดขึ้นในระยะสั้น การเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นของ ING Bank (A+/Negative) เกินกว่า 50% อาจส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตสนับสนุนของธนาคาร อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ดังกล่าวไม่น่าจะเกิดขึ้นในระยะปานกลาง ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต — หุ้นกู้ด้อยสิทธิ อันดับเครดิตของหุ้นกู้ด้อยสิทธิสกุลเงินบาทของ TMB มีอันดับเครดิตต่ำกว่าอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวอยู่ 1 อันดับ เนื่องจากหุ้นกู้ดังกล่าวมีลักษณะด้อยสิทธิในโครงสร้างเงินทุน (capital structure) และสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ของฟิทช์ในการจัดอันดับเครดิตตราสารประเภทดังกล่าวที่ออกโดยสถาบันการเงิน ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต — หุ้นกู้ด้อยสิทธิ อันดับเครดิตของหุ้นกู้ด้อยสิทธิ จะได้รับผลกระทบหากมีการเปลี่ยนแปลงในอันดับเครดิตภายในประเทศของธนาคาร รายละเอียดของอันดับเครดิตทั้งหมดของ TMB มีดังนี้ - อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว คงอันดับที่ ‘BBB-’; แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ - อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้น คงอันดับที่ ‘F3’ - อันดับความเข็งแกร่งทางการเงิน คงอันดับที่ ‘bbb-’ - อันดับเครดิตสนับสนุน คงอันดับที่ ‘3’ - อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำคงอันดับที่ ‘BB+’ - อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว คงอันดับที่ ‘A+(tha)’; แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ - อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น คงอันดับที่ ‘F1(tha)’ - อันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิ คงอันดับที่ ‘A(tha)’

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ