ธนารักษ์เปิดทิศทางการบริหารที่ราชพัสดุแนวใหม่เพื่อการจัดให้เช่า 50 ปี สร้างความมั่นใจให้นักลงทุนสร้างโครงการที่ดี

ข่าวทั่วไป Tuesday September 10, 2013 14:53 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 ก.ย.--กรมธนารักษ์ นายนริศ ชัยสูตร อธิบดีกรมธนารักษ์เปิดเผยว่า กรมธนารักษ์ในฐานะผู้บริหารที่ราชพัสดุ ได้รับมอบนโยบายจากนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้หาแนวทางการบริหารจัดการที่ราชพัสดุเพื่อสร้างแรงจูงใจให้นักลงทุนเกิดความมั่นใจ ต้องการเข้ามาลงทุนในที่ราชพัสดุสร้างโครงการใหม่ๆ เพิ่มประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคม นายนริศ ชัยสูตร กล่าวว่าจากนโยบายดังกล่าวกรมธนารักษ์ได้ประเมินปัญหาการบริหารที่ราชพัสดุที่ผ่านมาพบว่าปัญหาหนึ่งที่เป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้นักลงทุนไม่มาลงทุนสร้างโครงการใหญ่ ลงทุนระยะยาวในที่ราชพัสดุ คือ อายุสัญญาเช่าที่ปัจจุบันกรมธนารักษ์ยังดำเนินการตามหลักเกณฑ์ทั่วไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ คือ กำหนดสูงสุดไม่เกิน 30 ปีซึ่งนักลงทุนมองว่าน้อยไป ไม่สร้างความมั่นใจที่จะลงทุนสร้างโครงการใหญ่ แต่ในขณะที่มีการประกาศใช้บังคับพระราชบัญญัติการเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม พ.ศ. ๒๕๔๒ แล้ว กฎหมายดังกล่าวตราขึ้นเพื่อรองรับการเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรมในระยะยาว ให้สามารถจัดให้เช่าเกินสามสิบปีได้แต่ไม่เกินห้าสิบปี และยังสามารถที่จะตกลงกันต่อระยะเวลาการเช่าออกไปอีกได้มีกำหนดไม่เกินห้าสิบปีซึ่งจะเป็นการสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนอย่างมาก นอกจากเรื่องอายุสัญญาเช่าแล้วกฎหมายฉบับดังกล่าว ยังกำหนดให้สิทธิการเช่าสามารถโอนสิทธิตกทอดทางมรดก ให้เช่าช่วง และใช้เป็นหลักประกันการชำระหนี้โดยการจำนองได้ นับว่าเป็นแนวทางหนึ่งที่จะสร้างแรงจูงใจให้นักลงทุนมาลงทุนในที่ราชพัสดุได้ จึงได้สั่งการให้ศึกษากฎหมายฉบับดังกล่าวและนำมาปรับใช้ในการบริหารที่ราชพัสดุเพื่อให้สามารถจัดให้เช่าเป็นระยะเวลา 50 ปีได้ โดยเริ่มจากโครงการที่ดี เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ สร้างรายได้ให้ประเทศเป็นโครงการนำร่องเพื่อให้นักลงทุนมั่นใจ นายนริศฯ กล่าวในตอนท้ายว่านอกจากกฎหมายฉบับดังกล่าวซึ่งนับเป็นอีกก้าวหนึ่งที่กรมธนารักษ์พยายามสร้างมิติใหม่ในการบริหารที่ราชพัสดุแล้ว ยังได้มีการสั่งการให้ศึกษาหาแนวทางอื่นๆอีก เพื่อที่จะได้สร้างแรงจูงใจให้มากยิ่งขึ้น ทั้งนี้โดยยึดกรอบแนวนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในการบริหารที่ราชพัสดุให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ