แนะ 11 ทางรอดขึ้นเครื่องบินอย่างไรให้ ปลอดภัยและสุขภาพดี

ข่าวทั่วไป Thursday September 12, 2013 10:38 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 ก.ย.--ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ น.พ.กฤษดา ศิรามพุช ผู้อำนวยการศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์นานาชาติ ภายใต้กำกับของ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวแนะนำเทคนิคขึ้นเครื่องบินอย่างไรให้ปลอดภัยและมีสุขภาพดี ว่า ประเด็นหลักที่การบินมีผลต่อสุขภาพ 5 ข้อ คือ 1.เรื่องการหายใจ เนื่องกจากอากาศบนเครื่องจะแห้งกว่าบนพื้นดินจะทำให้แสบจมูกอาจทำให้เป็นหวัดได้ 2. เรื่องสมอง ความสูงของเครื่องบินมีผลต่อสมองผ่านทางออกซิเจน แม้เครื่องบินรุ่นใหม่จะปรับความกดอากาศอย่างดีแล้วก็ตาม แต่มันก็ต่างจากอากาศเบื้องล่างที่เราคุ้นเคย ในคนที่ไวอาจส่งผลได้ 3.เรื่องทางเดินอาหาร การรับประทานอาหารบนท้องฟ้าอาจมีปัญหาเรื่องแกสในกระเพาะและลำไส้ เพราะความกดอากาศที่ต่างออกไปอาจทำให้ท้องอืดได้ 4.เรื่องผิวหนัง แสงแดดและรังสีจากนอกโลกอย่างคอสมิกจะหนาแน่นมากยามบินอยู่เหนือเมฆไม่มีสิ่งคุ้มกัน ซึ่งการได้รับรังสีเหล่านี้โดยตรงนาน ๆ ส่งผลต่อสุขภาพผิวอย่างแน่นอน และ 5. เรื่องความเครียด การนั่งเครื่องบินที่ดูเหมือนสบายแต่ก่อความเครียดได้ ยิ่งกับคนที่ไม่คุ้นเคยอาจยิ่งเครียดมากขึ้น จากการที่ต้องนั่งในที่แคบนาน ๆ จะลุกจะเข้าห้องน้ำก็ลำบาก หรือแม้ท่านที่เดินทางบ่อย แต่ต้องบินระยะไกลก็ทำให้เกิดความเครียดสะสมจนนอนไม่หลับได้ น.พ.กฤษดา กล่าวว่า การดูและสุขภาพและป้องกันตัวจากอุบัติเหตุต่าง ๆ ยามเดินทางด้วยเครื่องบินจึงจำเป็นและเป็นเรื่องที่ ควรจะจำให้แม่นยำ เพราะเมื่อถึงเวลาฉุกเฉินจะสามารถทำได้อัตโนมัติ ทั้งนี้ในทางเวชศาสตร์อายุรวัฒน์มีเทคนิคในการดูแลตัวเอง โดยมีหลักกว้าง ๆ พอจะเทคนิคได้ 11 ข้อคือ 1.ตั้งใจชมการสาธิตอุปกรณ์ช่วยชีวิต ข้อนี้สำคัญที่สุดโดยเฉพาะท่านที่นั่งใกล้ “ทางออกฉุกเฉิน” ควรต้องเตรียมพร้อมอยู่เสมอ 2.ช่วยตัวเองให้มีแรงพอก่อนช่วยคนอื่น ข้อนี้สำคัญหากเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นประเภทที่ต้องมีหน้ากากอ็อกซิเจนหล่นลงมาขอให้ท่านหยิบมาครอบหน้าตัวเองแล้วสูดก่อนเพราะไม่เช่นนั้นสมองของท่านจะขาดอากาศและไม่อาจช่วยผู้โดยสารข้างๆได้ 3.อย่าดึงชูชีพให้พองลมก่อนออกจากตัวเครื่อง ไม่เช่นนั้นท่านจะมีสภาพไปไหนไม่ได้แออัดกันอยู่ในเครื่องทั้งหมด และเคยมีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นที่อาฟริกาเมื่อเครื่องบินเอธิโอเปียตกในปี 1996 ผู้โดยสารที่เสียชีวิตส่วนใหญ่ดึงเสื้อชูชีพให้พองลมตั้งแต่อยู่ในเครื่อง ทำให้ที่แคบลง 4.หมั่นขยับอย่าอยู่กับที่ ใช้วิธีไม่นั่งแช่โดยหมั่นเดินหรือขยับขาปั้มพ์เลือดเข้า-ออก นี่เป็นการออกกำลังกาย เพื่อป้องกันโรค “อีโคโนมี่ คลาส(Economy Class Syndrome)” หรือลิ่มเลือดจากขาวิ่งขึ้นไปอุดที่เส้นเลือดที่ปอดกับหัวใจแล้วทำให้เสียชีวิตได้ ถ้าไม่สะดวกในการเดินขอให้ใช้วิธียกขาขึ้นลงกับที่ก็ได้ 5.ดื่มน้ำให้มากและอย่ากินอิ่มบนเครื่อง โดยเฉพาะอาหารเค็มและอัลกอฮอล์ ผู้รู้บางท่านถึงขนาดว่าให้พกอาหารส่วนตัวขึ้นไปกินเอง แต่หากไม่สามารถทำได้ ก็แค่ลองดื่มน้ำให้เยอะเพื่อป้องกันเลือดหนืด แล้วกินแต่พออิ่ม ท่านจะรู้สึกสบายท้องเองเมื่ออยู่บนเครื่อง 6.หลับให้ได้ตามความมืด-สว่าง เพื่อตัดปัญหาตาค้างนอนไม่หลับเมื่อถึงที่หมาย หลายท่านเรียกภาษาฝรั่งว่าเจ็ตแล็ก ซึ่งวิธีแก้ คือการหลับเมื่อมืดและตื่นเมื่อสว่างไม่ต้องคำนึงว่าอยู่ประเทศใด 7.ติดที่ปิดตา+ที่อุดหูเอาไว้ จะช่วยท่านได้มากหากต้องการความสงบโดยเฉพาะเวลาที่ “พยายามหลับ” การปิดตาได้มืดสนิทดีจะช่วยให้มี “เมลาโทนิน” คือเคมีนิทราที่ออกมาจากสมองช่วยป้องกันอาการผิดเวลาได้ดีมาก สำหรับที่อุดหูนั้นท่านอาจใช้หูฟังแบบอินเอียร์หรือเฮ้ดโฟนก็ช่วยได้มาก 8.ระวังช่องเก็บของเหนือศีรษะ อันตรายมากที่สุดอย่างหนึ่งคือสัมภาระเหนือหัวตกลงมากระแทบผู้โดยสาร เพราะเมื่อถึงคราวฉุกเฉินมีการกระแทกตัวเครื่องแรงอาจทำให้สัมภาระหนักตกลงมาใส่ ดังนั้นการเลือกเฉพาะของเบาๆติดตัวขึ้นเครื่องกับคอยมองฝาปิดช่องเก็บสัมภาระว่าปิดสนิทลงล็อคดีจริงจึงช่วยชีวิตท่านได้ 9. ยาประจำตัว,แปรงสีฟันและชุดล้างหน้า เตรียมติดตัวไว้ สำหรับยาประจำตัวแยกไว้ชุดเล็กๆเผื่อฉุกเฉิน ส่วนเรื่องสุขภาพฟันใครจะรู้ว่าท่านอาจเปลี่ยนชีวิตตัวเองได้จากการแปรงฟัน เพราะการนั่งนานๆทำให้ปากเพาะเชื้อจุลินทรีย์ไว้มาก เข้าทำนองน้ำลายบูด จากนั้นปากจะเริ่มส่งกลิ่นจากการหมักนี้ออกมา ถ้าแปรงฟันได้ก่อนลงจากเครื่องจะช่วยให้ท่านไม่เสี่ยงคอติดเชื้อเจ็บคอง่าย 10. เตรียมชุดนอนสบายถ้าเป็นไปได้ ข้อนี้สำคัญมากถ้าเป็นเที่ยวบินที่บินยาวนับสิบชั่วโมงท่านยิ่งควรมีชุดสบายๆใส่ และ 10.อย่าขยันดูนาฬิกา อย่าฆ่าเวลาด้วยการก้มมองหน้าปัทม์นาฬิกาอยู่บ่อยๆรวมถึงมือถือที่บอกเวลา เพราะจะทำให้เราเครียดโดยไม่รู้ตัว รู้สึกเวลาผ่านไปเชื่องช้า เทคนิคง่ายๆคือให้ทำตัวสบายๆเหมือนอยู่บ้านถึงเวลาเขาให้กินก็กิน เขาปิดไฟให้นอนก็นอน น.พ.กฤษดา กล่าว ติดต่อ: www.tcels.or.th, 02-6445499

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ