ท่อน้ำตาอุดตัน” รักษาได้ไร้แผลเป็น

ข่าวทั่วไป Wednesday September 18, 2013 14:54 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 ก.ย.--แมสคอท คอมมิวนิเคชั่น “ท่อน้ำตาอุดตัน” รักษาได้ไร้แผลเป็น โดย แพทย์หญิง อารีย์ นิมิตรวงศ์สกุล จักษุแพทย์ ศูนย์จักษุกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ ภาวะท่อน้ำตาอุดตัน เป็นโรคที่พบได้ทั้งในเด็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึงผู้ใหญ่ โดยจะมีอาการเบื้องต้นเหมือนกันคือ มีน้ำตาไหลเอ่อคลอ มีขี้ตามาก ซึ่งอาจทำให้เยื่อตาอักเสบติดเชื้อเป็นๆ หายๆ ได้ และอาจรุนแรงถึงขั้นมีฝีหนองที่ตำแหน่งของถุงน้ำตาที่หัวตา แพทย์หญิง อารีย์ นิมิตรวงศ์สกุล จักษุแพทย์ โรงพยาบาลกรุงเทพ ให้ข้อมูลว่า ระบบระบายน้ำตาของคนเราจะมีลักษณะคล้ายกับท่อระบายน้ำของอ่างล้างหน้าล้างมือกล่าวคือ มีรูเปิดของท่อระบาย ส่วนของท่อระบายและปลายท่อระบาย ซึ่งถ้าหากส่วนใดส่วนหนึ่งของท่ออุดตันขึ้นมาก็จะทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมเอ่อขัง เช่นเดียวกันหากเกิดภาวะนี้ในระบบระบายน้ำตา ก็จะทำให้มีน้ำตาไหลตลอดเวลา มีขี้ตาเยอะ ตลอดจนเกิดฝีหนองที่หัวตา จนเป็นสาเหตุทำให้เกิดภาวะท่อตาอุดตันได้ในที่สุด คนไข้กลุ่มนี้มักสังเกตง่ายๆ ว่ามักเดินเข้ามาพร้อมผ้าเช็ดหน้า หรือ กระดาษทิชชู คอยซับน้ำตาอยู่ตลอด ขี้ตาจะค่อนข้างเยอะ และอาจมีประวัติเกิดถุงหนองที่หัวตา อักเสบมาก่อนได้ หรือกดที่หัวตาจะมีน้ำตา และหรือขี้ตาเอ่อทะลักออกมา แพทย์จะทำการตรวจเบื้องต้นโดยจะแยงเข็มปลายตัดไม่แหลมคมเข้าที่ รูท่อน้ำตาที่หัวตา แล้วฉีดน้ำเกลือลงไป หากท่อน้ำตาไม่ตัน คนไข้จะรับรู้ถึงรสเค็มๆของน้ำเกลือลงคอ หากไม่ลงคอแล้วไหลย้อนกลับก็คือท่อน้ำตาตัน ภาวะท่อน้ำตาอุดตันนี้สามารถเกิดได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ สำหรับภาวะท่อน้ำตาอุดตันในเด็กนั้นสามารถพบได้ตั้งแต่แรกเกิด อาการที่พบคือ มีน้ำตาซึมๆ บางครั้งมีขี้ตาเหลือง เขียวบ่อยๆ ทั้งๆที่เยื่อบุตาขาวอาจจะแดงหรือไม่แดงก็ได้ บางคนเป็นเยอะถึงขนาดบวมอักเสบเป็นฝีหนองที่หัวตา โดยส่วนใหญ่มักเกิดกับเด็กที่คลอดก่อนกำหนด แต่ในบางครั้งก็สามารถพบภาวะนี้ในเด็กที่คลอดครบกำหนดได้เช่นกัน ซึ่งเด็กกว่า 90% จะมีอาการดีขึ้นและหายได้ในช่วง 1 ขวบปีแรก สำหรับการรักษาเบื้องต้นคือ การนวดหัวตาเพื่อให้เนื้อเยื่อที่ปิดรูท่อน้ำตาทะลุออกไป แต่หากไม่หายแพทย์ก็จะทำการแยงท่อน้ำตา และในบางรายอาจต้องมีการใส่สายยางซิลิโคนในท่อน้ำตาเพื่อป้องกันการอุดตันซ้ำ หากในเด็กที่ไม่ได้รับการรักษาที่ถูกวิธีตั้งแต่แรก หรือแยงท่อน้ำตาแล้วยังมีอาการน้ำตาไหลอยู่อาจต้องพิจารณาผ่าตัดท่อน้ำตาแบบเดียวกับกรณีของผู้ใหญ่ สำหรับภาวะท่อน้ำตาอุดตันในผู้ใหญ่นั้น จะพบได้บ่อยในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย อายุเฉลี่ยที่พบคือช่วงระหว่าง 50-70 ปี โดยมักไม่ทราบสาเหตุ และอาจสัมพันธ์กับประวัติเยื่อบุโพรงจมูกอักเสบเรื้อรัง ทำให้น้ำตาเอ่อขังอยู่ในตาและมีน้ำตาไหลต้องคอยซับน้ำตาทำให้เสียบุคลิก และสร้างความรำคาญให้กับผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการอักเสบเป็นฝีหนองที่ถุงน้ำตาที่หัวตา ในกรณีที่ผู้ป่วยมีท่อน้ำตาอุดตันและมีภาวะอื่นๆ ทางตาที่จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดลูกตาเช่นการผ่าตัดต้อกระจก หรือการผ่าตัดจอประสาทตา เป็นต้น ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีความเสี่ยงของการติดเชื้อเข้าไปในลูกตาได้สูงกว่าปกติ ดังนั้นเมื่อพบว่ามีอาการท่อน้ำตาอุดตันจึงควรได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี สำหรับการผ่าตัดแก้ไขท่อน้ำตาอุดตัน แพทย์ต้องทำการล้างท่อน้ำตาเพื่อหาตำแหน่งของการอุดตัน เพื่อพิจารณาเลือกวิธีการผ่าตัดที่เหมาะสมกับผู้ป่วย ซึ่งการผ่าตัดแก้ไขท่อน้ำตาอุดตันโดยทั่วไปที่พูดถึงกันจะเป็นการผ่าตัดแก้ไขท่อน้ำตาอุดตันโดยทั่วไปที่พูดถึงกันจะเป็นการผ่าตัดแก้ไขท่อน้ำตาอุดตันที่มีการอุดตันของทางระบายออกของท่อน้ำตาในช่องจมูก การรักษามีดังนี้ การผ่าตัดรักษาแบบมีแผลเป็น เป็นวิธีการรักษาแบบดั้งเดิม โดยการผ่าตัดผ่านทางผิวหนังที่ข้างสันจมูก ส่งผลให้เป็นแผลเป็นบนใบหน้า แต่ในปัจจุบันได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีการผ่าตัดรักษาภาวะท่อน้ำตาอุดตันแบบไม่มีแผลเป็น ซึ่งเป็นการผ่าตัดผ่านทางรูจมูก โดยใช้กล้องเอนโดสโคป (Endoscope) ส่องผ่านเข้าไปในจมูกเพื่อให้เห็นตำแหน่งที่ผ่าตัดอย่างชัดเจน ทำให้เพิ่มประสิทธิภาพของผลการผ่าตัด ซึ่งการรักษาด้วยวิธีนี้มีข้อดีกว่าแบบเดิมคือ ไร้แผลเป็น การฟื้นตัวของแผลเร็วกว่า แต่ต้องใช้แพทย์ที่มีความชำนาญและประสบการณ์ในการผ่าตัดส่องกล้อง อีกทั้งการผ่าตัดท่อน้ำตาจะมีการตัดกระดูกและเชื่อมต่อเนื้อเยื่อของถุงน้ำตาและเยื่อบุโพรงจมูก เวลาผ่าตัดอาจมีเสียงดังจากการตัดกระดูก มีเลือดออกในจมูกและไหลลงคอเพราะผู้ป่วยอยู่ในท่านอนเวลาผ่าตัดโดยผู้ป่วยอาจรู้สึกไม่สบายและกังวลมากในขณะผ่าดัด ดังนั้นแพทย์จึงมักแนะนำให้ดมยาสลบก่อนผ่าตัด สำหรับการเตรียมตัวก่อนผ่าตัดนั้นผู้ป่วยจะต้องงดยาละลายลิ่มเลือดก่อนผ่าตัดประมาณ 5-7 วัน ไม่ว่าจะเป็น แอสไพริน หรือ Plavix เป็นต้น โดยผู้ป่วยต้องเข้าปรึกษาแพทย์ประจำตัวผู้สั่งยาละลายลิ่มเลือดก่อนหยุดยาว่าสามารถหยุดยาได้หรือไม่ เพราะบางเคสเพิ่งผ่าตัดบอลลูนเส้นเลือดหัวใจไม่ถึงปี ก็ยังไม่สามารถหยุดยาละลายลิ่มเลือดได้ เรื่องการผ่าตัดก็ต้องดูความรีบด่วนของต้อกระจกและปรึกษาจักษุแพทย์ที่จะผ่าตัดว่าสามารถรอไปก่อนได้หรือไม่ นอกจากนี้ควรต้องหยุดวิตามิน อาหารเสริมต่างๆ ที่ไม่จำเป็น เพื่อป้องกันการได้รับสารที่มีผลต่อการแข็งตัวของเลือด โดยเฉพาะวิตามินซี วิตามินอี แปะก้วย น้ำมันตับปลา ก่อนผ่าตัด 1 สัปดาห์ เพราะการผ่าตัดแบบนี้ เสี่ยงต่อการเลือดออกมากว่าการผ่าต้อกระจก แต่สามารถทานยาโรคประจำตัวต่างๆ เช่น ยาลดความดันโลหิต ยาเบาหวาน ได้โดยให้ทานต่อเนื่องจนถึงเช้าวันผ่าตัด หากมีประวัติว่ามีความผิดปกติจากการดมยาสลบในครั้งที่ผ่านๆ มาหรือมีโรคประจำตัวใดๆ ผู้ป่วยจะต้องแจ้งกับทางแพทย์เจ้าของไข้ให้ทราบโดยละเอียด ผู้ป่วยต้องทำการตรวจเลือด ตรวจวัดคลื่นหัวใจ เอ็กซเรย์ปอด ตรวจวัดสัญญาณชีพ รวมถึงงดน้ำงดอาหารก่อนถึงเวลาผ่าตัดอย่างน้อย 6 ชั่วโมง เพื่อป้องกันการติดเชื้อในปอด หากมีการสำลักระหว่างการใส่หรือถอดท่อช่วยหายใจในการดมยาสลบ และควรอาบน้ำสระผมในเช้าวันผ่าตัดมาให้เรียบร้อย โดยงดการแต่งหน้ามาในเช้าวันที่จะผ่าตัด ถ้าแต่งหน้ามาก็ต้องล้างทำความสะอาดเครื่องสำอางออกให้หมดก่อนการผ่าตัด หากมีการอักเสบติดเชื้อไม่ว่าส่วนใดของร่างกาย เช่น ตากุ้งยิง เชื้อราที่นิ้วมือ แผลอักเสบที่เท้า หรือติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ ก็ควรเลื่อนการผ่าตัดออกไปก่อน และหลังจากผ่าตัดควรหยุดพักหลังอย่างน้อย 2-4 สัปดาห์ ไม่ควรจะก้มๆ เงยๆ ยกของหนักเพราะอาจมีเลือดออกได้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ