เทิดทูนเจ้าฟ้าหญิงสานงานการแพทย์พระอัยกา พระเทพฯ เน้นพัฒนา รพ.ไทยด้วยการบริหารดีบุคลากรเก่ง

ข่าวทั่วไป Wednesday September 18, 2013 16:08 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 ก.ย.-- ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น ที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเป็นอเนกประการ รวมทั้งทางด้านการแพทย์ การสาธารณสุข และพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่ที่เกื้อกูลทรงส่งเสริมกิจการทั้งปวง เกี่ยวกับการพัฒนาสุขภาพอนามัยของประชาชน ยังประโยชน์มหาศาลต่อปวงชนชาวไทย เครือโรงพยาบาลกรุงเทพ โรงพยาบาลสมิติเวช โรงพยาบาลบีเอ็นเอช โรงพยาบาลพญาไท และ โรง พยาบาลเปาโล เมโมเรียล จัดประชุมวิชาการร่วมครั้งที่ 5 ประจำปี 2556 ในหัวข้อ "Optimize the Quality of Life for all Generations" เพื่อให้ทุกคนทุกวัยตั้งแต่แรกเกิดสู่วัยทำงานและวัยสูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี เมื่อเร็ว ๆ นี้ ณ โรงแรมอิมพีเรียล ควีนส์ปาร์ค โดยได้รับพระมหากรุณาจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เป็นองค์ประธานในพิธีเปิด ซึ่งมี นพ.ประเสริฐ ปราสาททองโอสถ ประธานคณะผู้บริหารกลุ่มและกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชาการ จำกัด (มหาชน) ศ.เกียรติคุณ พญ.ชนิกา ตู้จินดา ประธานจัดการประชุมวิชาการร่วมฯ และ พญ.สมสิริ สกลสัตยาทร กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สมิติเวช จำกัด (มหาชน) พร้อมทีมผู้บริหาร และประชาชน เฝ้ารับเสด็จฯ อย่างเนืองแน่น ในการนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำรัสเปิดงานประชุมวิชาการร่วมฯ ครั้งที่ 5 ประจำปี 2556 ว่า “ โรงพยาบาลนอกจากจะปฏิบัติงานรักษาโรคแก่ประชาชน การให้บริการที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพแข็งแรงก็เป็นประเด็นสำคัญอีกข้อหนึ่ง การจะให้งานด้านสุขภาพมีประสิทธิภาพ เป็นประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน ย่อมต้องอาศัยองค์ประกอบสำคัญ คือระบบการบริหารจัดการที่ดี และบุคลกรที่มีความรู้ความสามารถ ขณะที่การประชุมทางวิชาการ เป็นการเปิดโอกาสให้บุคลากรที่ปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับสุขภาพของประชาชน ร่วมปรึกษาหารือ หาแนวทางที่จะปรับปรุงระบบการบริหารสุขภาพให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น นอกจากนี้ บุคลากรยังจะได้รับความรู้ทางวิชาการเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่จะสามารถเชื่อมโยงประยุกต์ใช้ในงาน เสริมประสิทธิภาพของการทำงาน ให้บรรลุเป้าประสงค์ที่จะให้ปวงชนมีคุณภาพชีวิตดีที่สุดโดยทั่วถึง ขอให้การประชุมสำเร็จผลสมดังเจตจำนงทุกประการ” อย่างไรก็ดี พระราชกรณียกิจด้านการพัฒนาสุขภาพอนามัยของประชาชน ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ไม่หมดเพียงเท่านี้ หากแต่ยังสืบสานงานด้านการแพทย์การสาธารณสุข จากพระบิดาแห่งการแพทย์ไทย สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ด้วยการเป็นประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ซึ่งความยิ่งใหญ่ของรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ไม่ด้อยไปกว่ารางวัลโนเบล เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ศ.นพ.สุพัฒน์ วาณิชย์การ เลขาธิการคณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในฐานะองค์ปาฐก ได้ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "พระราชกรณียกิจของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีกับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล" ว่า รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล เป็นพระราชานุสรณ์ที่รัฐบาลขอพระราชทานพระบรม ราชานุญาติจัดตั้งขึ้น เพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปี แห่งการพระราชสมภพของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชนก ในปี 2535 และดำเนินการโดยมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล โดยมีสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นประธานพิจารณารางวัลแด่บุคคลและองค์กรต่าง ๆ ที่มีผลงานดีเด่นเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ ในด้านการแพทย์ การสาธารณสุข อย่างละ 1 รางวัล พร้อมด้วยเงินรางวัลประเภทละ 1 แสนดอลลาห์สหรัฐ ซึ่งดำเนินการมายาวนานกว่า 20 ปี ศ.นพ.สุพัฒน์ กล่าวต่อว่า คงไม่ใช่เรื่องง่ายในการพัฒนาการแพทย์และสาธารณสุขของไทยให้ก้าวไกลจนถึงปัจจุบัน หากเจ้าฟ้าพระองค์นามว่า สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชนก ไม่วางฐานไว้ให้ จากนักเรียนนอกนายทหารกลายเป็นนักเรียนแพทย์ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและเอ็มไอที หลังจากทรงนั่งเรือผ่านโรงพยาบาลศิริราช แล้วมีปณิธานอยากช่วยปรับปรุงโรงเรียนแพทย์ของไทย เพื่อโอกาสในการรักษาทั้งคนจนและคนมีที่มากขึ้น "คุณูปการที่หมอเจ้าฟ้าพระองค์นี้สร้างขึ้นนั้นมหาศาล พระองค์ท่านทรงยกระดับการศึกษาด้านการแพทย์ให้แก่ประเทศ ด้วยการติดต่อกับมูลนิธิร็อกกี้ เฟลเลอร์ ขอตัวอาจารย์แพทย์จากต่างประเทศมาช่วยปรับปรุงหลักสูตรการสอนแพทยศาสตร์บัณฑิตไทย และให้เกียรติเป็นหัวหน้าภาควิชาการแพทย์ต่าง ๆ หวังทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ อีกทั้งยังมอบทุนส่งบุคลากรจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไปเรียนวิทยาศาสตร์การแพทย์ในต่างประเทศ จนกลายเป็นรากฐานที่สำคัญของจุฬาฯ เป็นต้นมา รวมถึงการพัฒนาอาคารสถานที่ด้านการแพทย์จนสามารถช่วยเหลือประชาชนให้เข้าถึงการแพทย์และสาธารณสุขได้ดีขึ้น ซึ่งในช่วงระยะเวลา 12 ปี ที่พระองค์ทรงช่วยพัฒนาการแพทย์ของไทย ทรงพระราชทานเงินส่วนพระองค์ถึง 1.4 ล้านบาทในขณะนั้น ด้วยเพราะพระองค์ท่านทรงยึดถือให้ประโยชน์ส่วนตัวเป็นที่สอง และให้ประโยชน์เพื่อเพื่อนมนุษย์เป็นที่หนึ่ง" เลขาธิการคณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล กล่าว ศ.นพ.สุพัฒน์ ยังอธิบายถึงการสืบสานงานด้านการแพทย์การสาธารณสุข จากสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชนก ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีไว้ด้วยว่า สมเด็จพระเทพฯ ทรงห่วงใยเรื่องการแพทย์การสาธารณสุขของคนไทยไม่น้อย ดังนั้น พระองค์ท่านจึงพิจารณาเลือกผู้ที่สมควรได้รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอย่างดีที่สุด ร่วมกับคณะกรรมการคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งนั่นหมายถึงการแลกเปลี่ยนทางการแพทย์ที่มีคุณประโยชน์ต่อประเทศจะตามมา โดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากต่างประเทศเหล่านี้ ทางมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลมิได้มีงบสนับสนุนให้ แต่ขอสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ปฐมดิเรก หากช่วยงานครบ 2 วาระ หรือ 6 ปี นอกจากนี้ สมเด็จพระเทพฯ ยังดูแลเหล่าคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและผู้ที่ได้รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าด้วยพระองค์เองบ่อยครั้งเท่าที่โอกาสอำนวย ไม่ว่าจะเป็นการพาลงศึกษาพื้นที่ในต่างจังหวัด และบรรยายด้วยพระองค์เอง หรือเลี้ยงพระกระยาหารที่ตำหนัก พร้อมด้วยพระราชกรณียกิจเบิกผู้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลที่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เป็นต้น ทั้งนี้ เมื่องานพระราชพิธีเปิดงานประชุมวิชาการร่วมฯ เสร็จสิ้น โดย ศ.เกียรติคุณ พญ.ชนิกา ตู้จินดา ประธานจัดการประชุมวิชาการร่วมฯ กล่าวบังคมทูลเบิก นพ.ประเสริฐ ประสาททองโอสถ ทูลเกล้าถวายของที่ระลึก และเบิกผู้ให้การสนับสนุนการประชุมวิชาการร่วม เข้าเฝ้าทูลละอองพระบาทรับพระราชทานโล่เกียรติยศและโล่ที่ระลึก จากนั้นสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระราชดำเนินทอดพระเนตรชมนิทรรศการอัพเดทเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการแพทย์ของเครือ โรงพยาบาลทั้ง 5 อาทิ รพ.กรุงเทพ และ รพ.สมิติเวช และนิทรรศการเทิดพระเกียรติสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลและรางวัลเจ้าฟ้ามหิดล พร้อมทรงมีพระราชปฏิสันถารกับผู้บริหาร โรงพยาบาลด้วยความสนพระทัย สำหรับงานประชุมวิชาการ่วมครั้งที่ 5 ประจำปี 2556 ในหัวข้อ "Optimize the Quality of Life for all Generations" เพื่อให้ทุกคนทุกวัยตั้งแต่แรกเกิดสู่วัยทำงานและวัยสูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ และประชาชนให้ความสนใจเข้าร่วมอย่างคับคั่งกว่า 1,000 คน และยังประกอบไปด้วยการบรรยายและสัมมนาครอบคลุมสาขาวิชาต่าง ๆ รวมทั้งวิทยาการก้าวหน้า ที่ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ระดับประเทศและระดับโลกมาร่วมแบ่งปันองค์ความรู้และประสบการณ์ เช่น "ทิศทางสาธารณสุขไทยในทศวรรษหน้า" "Healthcare Sector of Thailand after 2015" "Plenary symposium: CEO talk การบริหารโรงพยาบาลเอกชนในทศวรรษหน้า" "Skin Health: The Bad, The Good and The Better" และ "Running for Health and Performance Testing with VO2 max" พร้อมบูธนำเสนอเพื่อความรู้ตลอดจนวิทยาการเทคโนโลยีทันสมัย เครื่องมือแพทย์ สินค้าเพื่อสุขภาพ ฯลฯ เพื่อประยุกต์อย่างเหมาะสมในการรักษาและสร้างเสริมสุขภาพ คุณภาพชีวิต อันก่อประโยชน์ต่อประชาชนทั้งปวง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ