“สสค.” จับมือ “มูลนิธิร่มฉัตร” เปิดศูนย์ศึกษาอาเซียน จ.สงขลา พัฒนาชุมชนต้นแบบ เตรียมความพร้อมก้าวสู่ประชาคมอาเซียน

ข่าวทั่วไป Thursday September 19, 2013 16:28 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 ก.ย.--ไอแอม พีอาร์ “สสค.” ร่วมกับ “มูลนิธิร่มฉัตร” เดินหน้าขยายผลโครงการ “พัฒนาต้นแบบสาธิตชุมชนวัดไตรมิตรวิทยารามฯ” ลงสู่ระดับภูมิภาค ประเดิมเปิดศูนย์ศึกษาอาเซียน จังหวัดสงขลา ดึงเยาวชนและผู้ประกอบการในท้องถิ่นร่วมศึกษาเรียนรู้ภาษามลายู เพื่อเตรียมความของชุมชนในการก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ร่วมกับ มูลนิธิร่มฉัตร จัดทำ “โครงการ ขยายผลชุมชนต้นแบบและการสื่อสารการเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” ต่อยอดความสำเร็จจาก “โครงการพัฒนาต้นแบบสาธิตชุมชนวัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร” ภายใต้แนวทางการดำเนินงาน “บวรโมเดล” ดึงพลังความร่วมมือจากภาครัฐ ชุมชน สังคม และศาสนา สู่ความร่วมมือทั้งในมิติสังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจ พร้อมเปิด “ศูนย์ศึกษาอาเซียน จังหวัดสงขลา” สร้างแหล่งเรียนรู้เพื่อเปิดประตูทำความรู้จักกับ 10 ประเทศอาเซียน พระธรรมภาวนาวิกรม ประธานมูลนิธิร่มฉัตร ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร เปิดเผยว่า การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนนับเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกภาคส่วนจะต้องเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ ในการที่ทั้ง 10 ประเทศจะรวมกันเป็นหนึ่ง โดยโครงการที่ทาง มูลนิธิร่มฉัตร และ สสค. ได้ร่วมกันดำเนินงานนั้น เป็นการนำ 2 ทฤษฎีขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ คือ “บ-ว-ร” และ “เข้าใจ-เข้าถึง-พัฒนา” มาใช้ในการเตรียมความพร้อมกับให้กับเด็กและเยาวชนในพื้นที่ รวมไปถึงการเตรียมความพร้อมของชุมชนในการก้าวสู่ประชาคมอาเซียน “การเรียนรู้ภาษาเพื่อนบ้านสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ในทุกๆ เรื่อง เพราะภาษาเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เกิดการเชื่อมโยงในด้านต่างๆ ทั้ง การเมือง เศรษฐกิจ สังคม ชุมชน ศิลปวัฒนธรรม ของไทยและเพื่อนบ้าน และยังเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้เราสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข ซึ่งปัจจุบันทาง มูลนิธิร่มฉัตร ได้ร่วมกับ สสค. เตรียมความพร้อมของชุมชนโดยเริ่มต้นจากชุมชนเล็กๆ เริ่มต้นจากทีละหมู่บ้าน ก่อนที่จะขยายไปในระดับตำบล ระดับอำเภอ และจังหวัด โดยกระจายลงไปใน 4 ภูมิภาค เพื่อพัฒนาให้เกิดเป็นชุมชนต้นแบบของการขยายผลการดำเนินงานในพื้นที่” ประธานมูลนิธิร่มฉัตรกล่าว ดร.อุบล เล่นวารี ที่ปรึกษาโครงการฯ กล่าวถึงการดำเนินงานโครงการขยายผลชุมชนต้นแบบฯ ว่า จัดทำขึ้นเพื่อขยายผลการดำเนินงานและความสำเร็จที่เกิดขึ้นกับชุมชนต้นแบบวัดไตรมิตรฯ ออกไปสู่ระดับภูมิภาค เพื่อกระตุ้นและจุดประกายให้สังคมหรือชุมชนตื่นตัวในเรื่องของ AEC ด้วยการสร้างชุมชนต้นแบบขึ้นใน 4 ภาคประกอบไปด้วย ภาคเหนือ โรงเรียนบ้านแม่จัน จังหวัดเชียงราย, ภาคกลาง โรงเรียนเอกชัย จังหวัดสมุทรสาคร, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โรงเรียนเทศบาล 2 พิบูลวิทยาคาร จังหวัดอุบลราชธานี และภาคใต้ โรงเรียนบ้านน้ำกระจาย จังหวัดสงขลา “เป้าหมายของการดำเนินโครงการนี้เพื่อให้เกิดการขยายผลแนวคิดและการดำเนินงานออกไปยังชุมชน ตำบล หรืออำเภออื่นๆ ในพื้นที่ของทั้ง 4 จังหวัด และต้องการที่จะจุดประกายให้ทุกภาคส่วนในชุมชนที่ประกอบด้วย ‘บ ว ร’ ช่วยกันคิด วางแผน และดำเนินการในการเตรียมความพร้อมของชุมชนตนเองในการก้าวสู่ประชาคมอาเซียน ให้ครอบคุลมทั้งด้านการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม เพื่อขับเคลื่อนและสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชน จนสามารถเป็นตัวอย่างหรือต้นแบบให้แก่ชุมชนอื่นๆ ในการนำไปใช้เพื่อเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน เพื่อก่อให้เกิดการพัฒนาในด้านต่างๆ ควบคู่กันไปอย่างยั่งยืนพร้อมกันทั้งประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน โดยมีเป้าหมายที่แท้จริงของประชาคมอาเซียนก็คือการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข” ดร.อุบล ระบุ นายประทีป เพ็ชรจำรัส ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านน้ำกระจาย จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นที่ตั้งของ “ศูนย์ศึกษาอาเซียน” และเป็นศูนย์กลางในการขับเคลื่อนโครงการชุมชนต้นแบบสู่ AEC ของจังหวัดสงขลาเปิดเผยว่า นอกจากการสอนภาษาอังกฤษ และภาษามลายูให้กับเด็กนักเรียนในโรงเรียนที่มีความสนใจแล้ว ยังได้จัดให้มีการสอน “ภาษามลายู” ให้กับผู้ประกอบการในพื้นที่ โดยมีผู้ที่สนใจเข้าอบรมในรุ่นแรกมากกว่า 30 คน ซึ่งเป็นประโยชน์สำหรับการประกอบธุรกิจและทำการค้ากับชาวต่างชาติ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวมาเลในเซียที่เข้ามาในพื้นที่ “ผลดีที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชนในโรงเรียนก็คือ เกิดความตื่นตัว และพร้อมที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการรองรับการเปิดประชาคมอาเซียนในปี พ.ศ.2558 ในส่วนของชุมชนเองก็เกิดความตระหนักและตื่นตัวเช่นเดียวกันว่า ในฐานะเจ้าของบ้าน เราจะต้องเตรียมความพร้อมในการรับมือกับสิ่งต่างๆ ที่จะเข้ามาได้อย่างไร ซึ่งกิจกรรมต่างๆ ภายใต้โครงการนี้จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถพัฒนาตนเองขึ้นมาเพื่อรองรับการเปิดประชาคมอาเซียนในอนาคตได้ เพราะต่อไปจะมีชาวต่างชาติเข้ามาเป็นส่วนร่วมในการประกอบอาชีพต่างๆ มากมาย และภาษาก็มีบทบาทที่สำคัญสำหรับการค้าการขายต่างๆ เพราะถ้าเราพูดจาภาษาเดียวกัน สื่อสารกันรู้เรื่อง ก็จะทำให้เกิดความเข้าใจซึ่งกันและกันมากขึ้น สำหรับกิจกรรมที่จะดำเนินงานต่อไปในอนาคต จะขยายผลไปสู่การสอนภาษาพม่า เพราะปัจจุบันมีแรงงานชาวพม่าเข้ามาอยู่ในพื้นที่ของจังหวัดสงขลาเป็นจำนวนมาก ดังนั้นภาษาพม่าจึงมีความจำเป็นในการเรียนรู้ของชุมชนเพื่อที่จะก้าวสู่ประชาคมอาเซียนด้วยเช่นกัน” ผอ.ประทีป ระบุ “เพราะภาษาเป็นเครื่องมือที่จะช่วยทำให้การพัฒนาเป็นหนึ่งเดียวกันของ 10 ประเทศอาเซียน เป็นไปได้ด้วยดีและประสบความสำเร็จ ดังนั้นเมื่อทุกคนในชุมชนมีความรู้ภาษาเพื่อนบ้าน ก็เกิดความเข้าใจในด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม เมื่อนั้นปัญหาความขัดแย้งในด้านต่างๆ ก็จะหมดไป สิ่งเหล่านี้จะทำให้ประเทศไทยเกิดความเข้มแข็ง พร้อมที่จะรองรับความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น เกิดการอยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ เข้าถึง และสามารถพัฒนาประเทศไทยให้มีคุณภาพที่ดีในอาเซียน และนำประเทศไทยไปสู่เวทีโลกได้อย่างสง่างาม” พระธรรมภาวนาวิกรม กล่าวสรุป.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ