TOT: ทศท.ชี้แจงข้อกังขาในการดำเนินงานของคณะกรรมการ

ข่าวทั่วไป Wednesday December 18, 1996 17:00 —ThaiPR.net

กรุงเทพ--18 ธ.ค.--ทศท.
ตามที่ปรากฎในข่าวสื่อมวลชนว่า ผู้บริหารของสมาคมพนักงานรัฐวิสาหกิจ ทศท. ได้ออกแถลงการณ์และแถลงข่าวตั้งข้อกังขาในการดำเนินงานของคณะกรรมการ ทศท. รวมทั้งชักชวนชี้นำให้มีการประท้วงหรือขับไล่คณะกรรมการ ทศท.นั้น
คณะกรรมการ ทศท.เห็นควรชี้แจงข้อเท็จจริงในประเด็นข้อกังขาต่าง ๆ ให้รับทราบทั่วกันโดยสรุป ดังนี้
ข้อ 1. คณะกรรมการทั้งคณะอำนาจที่แท้จริงในการอนุมัติงานแต่ละ โครงการเกิดจากกรรมการ 2 ท่าน คือ ประธานกรรมการ (พลเอก ศิรินทร์ ธูปกล่ำ) และนายไพศาล พืชมงคล
คณะกรรมการ ทศท. ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการ หรืออดีตข้าราชการระดับ สูง มีความรู้ มีวิจารณญาณของตนเอง และในการอนุมัติโครงการต่าง ๆ นั้นมาจาก การประชุมหารือร่วมกัน ซึ่งในการประชุมแต่ละครั้งจะต้องมีกรรมการไม่น้อยกว่ากึ่ง หนึ่ง (4 คน) และแต่ละท่านจะพิจารณากลั่นกรองเรื่องรวมทั้งแสดงข้อคิดเห็นต่างกัน ไป โดยประธานฯ หรือกรรมการคนใดไม่สามารถชักชวนหรือชี้นำได้ ในการลงมติ จะใช้เสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ จึงยืนยันได้ว่า งานทุกอย่างได้ดำเนินไปอย่างถูกต้อง โปร่งใส เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบแบบแผน มิใช่เกิดจากการชักจูงของประธานฯ หรือกรรมการท่านใด
ข้อ 2. ประเด็นจุดยืนของคณะกรรมการว่า ยืนอยู่ข้างบริษัทเอกชน หรือ ยืนอยู่กับผลประโยชน์ของรัฐ
ยืนยันได้ว่าจุดยืนของคณะกรรมการ ทศท. อยู่ที่ประโยชน์ของชาติ ประชาชน ทศท. และพนักงาน ทศท. โดยมีกฎหมายและระเบียบแบบแผนต่างๆ เป็น พื้นฐาน คณะกรรมการ ทศท. ไม่ได้มีผลประโยชน์ร่วมหรือเกี่ยวข้องกับเอกชนรายใด และไม่อยู่ในวิสัยที่จะเห็นแก่ประโยชน์ของบริษัทมากกว่าประโยชน์ของส่วนรวมโดย เด็ดขาด
ข้อ 3. ประเด็น "ช่วยกันหาทางหลบเลี่ยงข้อกฎหมาย ข้อสัญญาให้บริษัท เทเลคอมเอเซียฯ และบริษัท TT&T ทำระบบโทรศัพท์ PHS เป็นการเพิ่มศักยภาพของ เอกชนเฉพาะรายพฤติกรรมนี้ ส่วนหนึ่งเป็นการทำลายองค์การโทรศัพท์ฯ"
การให้บริการระบบ PHS มีที่มาจากปัญหาบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่ง ราคาค่อนข้างสูงและคุณภาพการบริการยังไม่ดีเท่าที่ควร ซึ่งรัฐบาลพยายามแก้ไข แต่มีข้อจำกัดอยู่มาก จึงกำหนดนโยบายให้นำเทคโนโลยีใหม่มาปรับปรุงบริการของ ทศท.เพื่อเพิ่มทางเลือกใหม่ให้แก่ประชาชน และโดยที่สัญญาร่วมการงานและร่วม ลงทุนระหว่าง ทศท. กับบริษัท TA และบริษัท TT&T มีข้อตกลงให้บริษัทใช้ประโยชน์ จากโครงข่ายที่ลงทุนไปแล้วได้ และทั้ง 2 บริษัทก็เสนอให้บริการระบบนี้ จึงอยู่ใน ขอบข่ายที่ได้รับการพิจารณาให้เป็นผู้ให้บริการ ประเด็นที่ว่ามีการหลบเลี่ยงข้อ กฎหมายนั้น เรื่องนี้ได้มีการพิจารณากลั่นกรองหลายครั้ง และหลายระดับทั้งจาก ทศท. คณะกรรมการ ทศท. กระทรวงคมนาคม สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และคณะ รัฐมนตรี ซึ่งแต่ละหน่วยงานต่างมีผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายดูแลในเรื่องนี้อยู่แล้ว จึงน่าจะยุติปัญหานี้ได้
ในส่วนที่ว่าเป็นการทำลาย ทศท.นั้น คณะกรรมการ ทศท.เห็นว่าการ นำระบบ PHS มาใช้ทำให้โทรศัพท์พื้นฐานสามารถนำไปใช้นอกสถานที่ได้ เป็นการ เพิ่มรายได้ให้ ทศท. และเพิ่มรายได้ให้รัฐ อีกทั้งยังช่วยลดรายจ่ายของประชาชน เพราะประชาชนรายได้ต่ำหรือปานกลางสามารถใช้บริการนี้ได้ เพราะเครื่องราคา ถูกกว่าโทรศัพท์เคลื่อนที่และค่าบริการก็ต่ำกว่าด้วย
ข้อ 4. ร่วมกันทำลับ ๆ ล่อ ๆ และยินยอมแก้ไขสัญญาร่วมการงานทำ ระบบมือถือ Cellular 900 MHz. กับบริษัท AIS ในเครือชินวัตร
รัฐบาลได้แก้ไขปัญหาการผูกขาดโดยให้นำเทคโนโลยีใหม่มาทำให้ โทรศัพท์พื้นฐานสามารถนำไปใช้นอกสถานที่ได้ เป็นการเพิ่มทางเลือกใหม่ให้แก่ ประชาชน ซึ่งเรื่องนี้เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้บริษัท AIS ขอแก้ไขสัญญาเพื่อยกเลิก การผูกขาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ต่อ ทศท.และในการเจรจาแก้ไขสัญญาดังกล่าวได้กระทำ ตามขั้นตอนและกระทำโดยเปิดเผย มีการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนเป็นระยะ ๆ ยืนยัน ได้ว่าไม่มีการทำลับ ๆ ล่อ ๆ ตามที่กล่าวอ้าง
ข้อ 5. สมคบกันทำลายองค์การโทรศัพท์โดยการให้ TA และ TT&T ซ่อมบำรุงโทรศัพท์ และบริการ 13
ตามสัญญาฯ มีการกำหนดให้บริษัท TA และบริษัท TT&T ซ่อมบำรุงรักษา โทรศัพท์และรับงานบริการ 13 ตามที่ ทศท.ร้องขอได้ โดยคิดค่าบริการไม่เกิน 7% ของรายได้ ทศท.มีข้อขัดข้องในเรื่องเพิ่มอัตรากำลังและค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุง จึงเสนอขอดำเนินการตามที่กำหนดไว้ในสัญญา โดยจ่ายค่าตอบแทนไม่เกินที่กำหนดไว้ ในสัญญา ทั้งนี้ ได้เสนอให้บริษัท TA และบริษัท TT&T ดำเนินการเฉพาะงานซ่อม บำรุงโทรศัพท์ในโครงข่ายของบริษัทเท่านั้น ไม่ได้รวมถึงโครงข่ายของ ทศท. และ ไม่ได้รวมถึงงานบริการ 13 โดยค่าบริการก็ลดลงไปตามเนื้องานที่เป็นจริง
คณะกรรมการ ทศท.เห็นว่า การดำเนินการในเรื่องนี้เป็นไปเพื่อ ประโยชน์ของ ทศท. และเป็นหนทางที่ดีที่สุด เพราะนอกจากจะช่วยแก้ปัญหาเรื่อง อัตรากำลังแล้ว ยังช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุง ซึ่งเพิ่มขึ้นทุกปีอีกด้วย
ข้อ 6. อนุมัติให้ TH ในเครือของ TA ดำเนินธุรกิจมัลติมีเดีย และ ลดการลงทุนขององค์การโทรศัพท์ฯ ทำให้องค์การโทรศัพท์ฯ เสียหาย
คณะกรรมการ ทศท.ชุดก่อนอนุมัติในหลักการให้ ทศท.เข้าร่วมลงทุนใน บริษัท มัลติมีเดีย ซึ่งจะทำธุรกิจเกี่ยวกับการสร้างโครงข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสงไม่ เกินร้อยละ 49 ของทุนจดทะเบียน หลังจากนั้นคณะกรรมการ ทศท.ชุดก่อนพ้นวาระ ทศท.จึงนำเสนอผลการศึกษาของบริษัทที่ปรึกษาด้านการเงินให้คณะกรรมการ ทศท. ชุดนี้รับทราบว่า ทศท.มีภาระต้องลงทุนในโครงการจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โครงการเกี่ยวกับชนบท เมื่อพิจารณาภาระหน้าที่ประกอบกับฐานะการเงินแล้ว เห็น ว่า ทศท.ควรลงทุนในกิจการดังกล่าวไม่เกินร้อยละ 20 ซึ่งคณะกรรมการ ทศท. เห็นชอบด้วย เพราะหากลงทุนร้อยละ 49 ทศท.จะต้องนำเงินลงทุนหลายพันล้านบาท ไปให้เอกชนใช้ โดย ทศท.มีเสียงข้างน้อย ซึ่งเป็นการไม่ฉลาด (การลงทุนทั้ง โครงการใช้เงินประมาณ 6,500 ล้านบาท) และจากการพิจารณาครั้งหลังสุด ทศท. จะใช้เงินลงทุนเพียง 975 ล้านบาท โดยได้หุ้นฟรี 400 ล้านบาท ทั้งนี้ การนำเงิน ไปลงทุนดังกล่าวต้องได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงคมนาคม และคณะรัฐมนตรีด้วย มิใช่ยุติที่ความเห็นชอบของคณะกรรมการ ทศท.เท่านั้น (ยังมีต่อ)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ