Bualuang House View: ไม่มี Tapering แล้ว Emerging Markets จะเป็นอย่างไร

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 24, 2013 14:10 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 ต.ค.--บลจ.บัวหลวง ขณะนี้นักลงทุนทั่วโลกคงคลายความกังวลลงแล้ว หลังจาก FED ได้สร้างความประหลาดใจในเดือนกันยายนที่ผ่านมาด้วยการประกาศคงมาตรการ QE ต่อไป ไม่มีการ Tapering (คือยังจะไม่ลดทอนปริมาณเงินอัดฉีดของ QE ลง) และสภาคองเกรสก็ตกลงกันได้ในกลางเดือนตุลาคม ทำให้หน่วยงานรัฐบาลกลางสหรัฐอเมริกาสามารถเปิดทำการได้อีกครั้ง คือเลิก Shut Down เพราะยอม Shut Up กันแล้ว เพดานหนี้รัฐบาลสหรัฐฯ ก็ได้ขยายเพิ่ม ทำให้รัฐบาลก่อหนี้เพิ่มได้ชั่วคราวจนถึง 7 กุมภาพันธ์ 2557 เท่ากับว่าคองเกรสได้อนุมัติและโอบามาได้ลงนามในเช็คเปล่าส่งให้รัฐบาลไปเขียนตัวเลขก่อหนี้ได้อย่างไม่จำกัดจำนวน จนกว่าถึงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2557 นั่นเอง ส่วนเจ้าหน้าที่รัฐบาลกลางที่โดนสั่งหยุดงานก็กลับเข้าทำงานกันหมดแล้ว พร้อมได้รับเงินเดือนค่าจ้างในช่วงหยุดงานย้อนหลังกันครบถ้วน นี่ก็เท่ากับว่าได้พักผ่อนประจำปีเพิ่มเติมโดยได้รับเงินครบ แล้วต้นปีหน้าค่อยทะเลาะกันใหม่หากยังไม่เข็ด ส่วนปีนี้ผลของการทะเลาะกันได้ทำให้โอบามาไปประชุม APEC ไม่ได้ ต้องยอมปล่อยให้จีนมีบทบาทนำโด่งในที่ประชุม APEC ที่บาหลีไปอย่างน่าเสียดายแทน ลองย้อนเวลากลับไปก่อนช่วงปัญหาเพดานหนี้สักนิด คือย้อนไปในช่วงเดือน พ.ค.ถึงต้นเดือน ก.ย. จะพบว่าบรรยากาศการลงทุนแตกต่างกับวันนี้อย่างสิ้นเชิง เพราะช่วงนั้นความกังวลเรื่อง FED จะลด QE ท่วมล้นไปทั้งตลาดการเงินในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (EM) จนถึงขั้นที่เกิดคำถามขึ้นว่า เศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่กำลังจะเดินทางไปสู่วิกฤติการเงินรอบใหม่หรือไม่ แต่ FED ก็เหมือนช่วยยืดเวลาในการหาคำตอบออกไปแล้วจากการประกาศว่า ยังไม่มีการ Tapering QE อย่างไรก็ตาม สิ่งที่นักลงทุนจะต้องจำไว้ให้ดีก็คือ แม้ว่า QE1, QE2, QE3 ทำท่าจะกลายเป็น QE Infinity ก็ตาม แต่ในที่สุด FED ก็จะต้องยกเลิกมาตรการ QE อยู่ดี ส่วนจะยกเลิกได้เองเพราะมีรายได้มากขึ้นจากการเก็บภาษีเพิ่ม รวมทั้งลดรายจ่ายลงได้ด้วย จนทำให้ฐานะการเงินของสหรัฐฯ “เอาอยู่” พร้อมๆ กับเศรษฐกิจกับการจ้างงานที่กระเตื้องขึ้นชัดเจน หรือจะถูกไฟท์บังคับจากแรงกดดันของคู่แข่งสกุลเงินหลักของโลกที่เข้มแข็งมากขึ้นอย่างจีน ฯลฯ ซึ่งบังคับโดยอ้อมด้วยการไม่ใช้ดอลลาร์อเมริกันเป็นตัวกลางในการซื้อขายระหว่างกัน ก็แล้วแต่ แต่ทุกคนก็รู้ว่าไม่มีลูกหนี้รายไหนที่แก้ไขปัญหาหนี้มหาศาลได้ด้วยการมีแต่กู้เพิ่ม ดังนั้น ลูกหนี้อย่างสหรัฐอเมริกาจึงต้องเร่งปรับปรุงตนเอง หรืออาจจะไปถึงขอปรับปรุงโครงสร้างหนี้ด้วยก็ได้ เรื่องนี้ ทาง Boston Consulting Group (BCG) ได้ทำการศึกษาและสรุปทางแก้หนี้ด้วยการ Bail in (เอาเงินเข้ารัฐ) ในยุโรป สหรัฐอเมริกา และอังกฤษ โดยสรุปผลศึกษาไว้ในเอกสารชื่อ Collateral Damage : Ending the Era of Ponzi Finance : 10 Steps Developed Economies Must Take (January 2013) ซึ่งระบุว่า ต้องเก็บภาษีจากความมั่งคั่งในทันทีครั้งเดียว (One-Time Wealth Tax) โดยเก็บจากคนรวยและคนชั้นกลางเพื่อรักษาระบบการเงินของประเทศในตลาดพัฒนาแล้วไม่ให้ล้มลงจากหนี้ที่ท่วมท้น เรียกว่าเอาเงินภาษีที่ยึดมาใช้ประคองฐานะการคลังของประเทศนั่นเอง BCG คำนวนออกมาว่าถ้าล้างหนี้ 21.249 ล้านล้านดอลลาร์ออกไปได้ เศรษฐกิจกับระบบการเงินของโลกตะวันตกก็จะเบาตัวจนสามารถเดินหน้าต่อไปได้อย่างปกติเสียที แต่จะทำได้ก็ด้วยการเก็บภาษีจากความมั่งคั่งของพวกที่ร่ำรวย โดยเก็บจากเงินฝาก หุ้น และสินทรัพย์ทางการเงินอื่นๆ คือเป็นการ Bail In ไม่ใช่ Bail Out แบบที่รัฐบาลทำกันมาก่อน BCG ระบุว่า หากเก็บภาษี Wealth Tax ได้ตามนี้รวมกัน 21.249 ล้านล้านดอลลาร์ หรือ 28.7% จากทรัพย์สินทางการเงินทั้งหมด ก็จะช่วยล้างหนี้ภาคครัวเรือน ภาคธุรกิจ และภาครัฐ ของสหรัฐอเมริกา กลุ่มอียู กับอังกฤษ ให้อยู่ในระดับที่เทียบกับ GDP แล้วจะมีความยั่งยืนทางเศรษฐกิจได้ แล้วทุกอย่างจะได้เริ่มต้นกันใหม่โดยไม่มีภาระที่หนักหนาสาหัส จนต้องออกพันธบัตรรัฐบาลไปขายเพื่อขอกู้ยืมแบบแชร์ลูกโซ่ไว้จ่ายหนี้ แบบที่เป็นมาจนระบบใกล้จะพังลงแล้ว ส่วนเขาจะกล้าทำตามข้อเสนอที่น่าจะทำให้ประชาชนที่โดนเก็บภาษีลุกฮือขึ้นต่อต้านหรือไม่นั้น เราค่อยไปติดตามดูกันต่อไป แต่เราจะย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้นในปี 2000 ที่กลุ่ม EM เริ่มเป็นที่จับตามองของนักลงทุนทั่วโลกกัน โลกจับตามองกลุ่ม EM เพราะมีอัตราการเติบโตที่โดดเด่นกว่าประเทศพัฒนาแล้วอย่าง G7 และช่องว่างยิ่งห่างออกจากกันมากขึ้นเรื่อยๆ จนห่างกันถึง 2-3 เท่าในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจการเงินปี ค.ศ. 2008 โดยกลุ่ม EM สามารถฟื้นตัวจากวิกฤติได้อย่างรวดเร็ว ปล่อยให้กลุ่ม DM จมปลักอยู่กับภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจอยู่จนถึงทุกวันนี้ แต่หลังจากผ่านยุคทองแห่งการเติบโตมานานถึงทศวรรษ กลุ่ม EM กำลังย่างเข้าสู่จุดหักเหครั้งสำคัญ เริ่มต้นจากกลุ่ม BRIC ที่ถือเป็นตัวแทนของกลุ่มที่ส่งสัญญาณการชะลอตัวอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการชะลอตัวจากประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจเป็นอันดับ 2 ของโลกในปัจจุบันอย่างจีนที่เติบโตลดลงจากระดับ 10% เหลือเพียง 7.8% ในปีก่อน และมีแนวโน้มจะชะลอลงไปอยู่ที่ 7.5% หรือทศนิยมมากกว่านี้เล็กน้อย ในปีนี้ แน่นอน การชะลอตัวลงของจีนได้ส่งผลไปยังประเทศอื่นๆ โดยทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ลดลง และทำให้การส่งออกไปยังจีนหดตัว เนื่องจากจีนเป็นเป้าหมายหลักที่มีสัดส่วนถึง 12-13% ของการส่งออกทั้งหมดของกลุ่ม EM และเป็นผู้นำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์รายใหญ่ของโลก แรงกดดันถัดมาเกิดขึ้นในวันที่ 22 พ.ค. จากแถลงการณ์ของประธาน FED ที่อาจชะลอมาตรการ QE และลดปริมาณซื้อพันธบัตรลง ส่งผลให้เกิดกระแสเงินไหลออกจากกลุ่ม EM ครั้งใหญ่ ทำให้ค่าเงินในกลุ่ม EM อ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งจากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมานั้นการแข็งค่าของดอลลาร์มักก่อให้เกิดวิกฤติการเงินในกลุ่ม EM เสมอๆ จากความประมาทของ EM ที่ไปกู้ยืมเงินนอกประเทศจนเกินตัว(คล้ายกับที่เกิดขึ้นกับไทยในปี 1997) ทั้งนี้ สิ่งที่นิยมใช้ในการระบุถึงวิกฤติของ EM หรือตลาดเกิดใหม่ก็คือ ระดับการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด กับ การขาดดุลงบประมาณ โดยปัจจัย 2 ตัวนี้จะบ่งบอกถึงความต้องการกู้ยืมเงินนอกประเทศ ในเวลานี้เมื่อพิจารณาจาก 2 ปัจจัยดังกล่าว สปอตไลท์แห่งวิกฤติจึงสาดพุ่งไปยัง อินเดีย และอินโดนีเซีย เพราะเขาขาดดุลงบประมาณสูง และขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับ 3-4% ต่อ GDP ซึ่งใกล้เคียงกับช่วงวิกฤติปี 1997 จึงทำให้เงินไหลออกมากกว่าประเทศอื่นๆ จนทำให้ค่าเงินอ่อนลงและทำให้ปัญหาขาดดุลบัญชีเดินสะพัดยิ่งน่ากังวลมากขึ้นเป็นเงาตามตัว ส่วนประเทศไทยนั้นก็หนีไม่พ้นเพราะอยู่ในกลุ่ม EM เหมือนกัน ประกอบกับตัวเลขเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวลงเกินคาดในครึ่งปีแรก ทำให้เงินไหลออก จนผลตอบแทนในตลาดหุ้นร่วงลงมาหลังปรับตัวขึ้นทำ New High ในช่วงต้นปี อย่างไรก็ตาม วิกฤติที่ผ่านมาได้ทำให้หลายประเทศในกลุ่ม EM ถือเป็นโอกาสหันกลับมามองตัวเองเพื่อจัดการปัญหาต่างๆ ที่สะสมมาเนิ่นนาน และเตรียมพัฒนาการเติบโตที่เน้นคุณภาพและเสถียรภาพมากขึ้น โดยเราได้เห็นข่าวการออกมาตรการปฏิรูปเศรษฐกิจในหลายประเทศ เช่น จีน ที่ประกาศปฏิรูปเศรษฐกิจขนานใหญ่ จากเดิมที่พึ่งพาการลงทุนจากภาครัฐมานานกว่า 2 ทศวรรษ เปลี่ยนเป็นจะหันไปสู่เศรษฐกิจแห่งการบริโภคภายในประเทศ (เหมือนเช่นสหรัฐ) ส่วนประเทศไทยก็มีแผนการลงทุนปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทั่วประเทศ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นปัจจัยใหม่ๆ ที่จะช่วยให้ประเทศมีการเติบโตในอนาคตได้ทั้งสิ้น และอีกประเด็นหลักที่ทุกประเทศในกลุ่ม EM ยังให้ความสำคัญก็คือ การอุปโภคบริโภคภายในประเทศ อันเป็นเครื่องยนต์ชิ้นสำคัญที่ยังมีกำลังมากพอที่จะผลักดันเศรษฐกิจในอนาคตให้ฝ่าฟันความผันผวนของเศรษฐกิจโลกไปได้ เนื่องจากประชาชนในกลุ่ม EM มีกำลังซื้อของในระดับสูงขึ้นตามการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในหลายประเทศและการขยายตัวของเศรษฐกิจตลอดทศวรรษที่ผ่านมา นอกจากนี้ จำนวนชนชั้นกลางที่ถือเป็นกำลังซื้อสำคัญก็มีจำนวนมาก โดย เอินส์ทแอนด์ยัง ประเมินว่าภายในปี 2030 ชนชั้นกลาง 2 ใน 3 ของโลกจะอยู่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จึงถือว่า กลุ่ม EM ยังสามารถพึ่งพาเครื่องยนต์ชิ้นสำคัญนี้สำหรับการเดินทางในอนาคตได้เป็นอย่างดี เมื่อมองไปที่พื้นฐานทางเศรษฐกิจของกลุ่ม EM ก็จะเห็นได้ชัดว่าแข็งแกร่งกว่าช่วงวิกฤติปี 1997 อยู่มาก มีเงินสำรองระหว่างประเทศสูง มีกระสุนทางนโยบายการเงินและการคลังเหลือเพียงพอจะใช้ต่อสู้กับวิกฤติที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต นอกจากนั้น การชะลอตัวและพื้นฐานที่อ่อนแอก็เกิดขึ้นเพียงไม่ถึง 1 ปี ซึ่งการจะก่อให้เกิดวิกฤติจำเป็นต้องใช้เวลาเพาะบ่มที่นานกว่านั้นมาก อย่างเช่นปี 1997 ไทยขาดดุลบัญชีเดินสะพัดนานกว่า 5 ปี ก่อนวิกฤติจะเริ่มปะทุขึ้น จึงสรุปได้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจในกลุ่ม EM เป็นเพียงการชะลอตัวเท่านั้น ยังไม่ใช่การก้าวเข้าสู่วิกฤติรอบใหม่แต่อย่างใด นอกเหนือไปจากนี้ Janet Yellen ที่กำลังจะได้เป็นประธาน FED คนใหม่ ก็มีมุมมองที่สนับสนุนมาตรการ QE อย่างชัดเจนมาโดยตลอด ทำให้คาดว่าการชะลอมาตรการ QE ยังจะไม่เกิดขึ้นในเร็วๆ นี้(ยกเว้นโอบามาจะทำตามข้อเสนอของ BCG ที่ให้แก้ปัญหาแบบเบ็ดเสร็จด้วยการเก็บภาษี Wealth Tax ตามที่กล่าวข้างต้น) จึงถือ Janet Yellen เป็นปัจจัยบวกที่ช่วยบรรเทาความกังวลของกลุ่ม EM ลงได้ ซึ่งกลุ่ม EM ควรถือเอาประสบการณ์ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาเป็นบทเรียนไปเตรียมพร้อมรับมือกับเหตุการณ์ในอนาคตที่จะต้องเกิดขึ้นอีก เหตุการณ์ในอนาคตที่สำคัญที่สุดก็คือ สัญญาณขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปี 2015 หรือ 2016 ซึ่งหมายความว่า FED กำลังเข้าสู่การปรับนโยบายการเงินให้เป็นปกติหลังผ่อนคลายมานานมากแล้ว ซึ่งจะก่อให้เกิดความผันผวนขึ้นในตลาดเงินตลาดทุนจากสภาพคล่องที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น ทีมจัดการกองทุนของ บลจ.บัวหลวง จึงเน้นการลงทุนในรูปแบบ Protect your assets เพื่อเน้นความปลอดภัยและไม่ลงทุนในธุรกิจที่ผันผวนสูง โดยเชื่อว่าผลตอบแทนในระยะยาวจะดีกว่าตลาดโดยเฉลี่ย ถึงแม้ในระยะสั้นอาจจะแพ้ตลาดในบางช่วงบ้างก็ตาม จึงขอให้ผู้ลงทุนมีความมั่นใจในแนวคิดการลงทุนของเรา และมีความอดทนเพื่ออนาคตในระยะยาว เพราะการลงทุนระยะยาวคือการวื่งแข่งมาราธอน ไม่ใช่วิ่งระยะสั้นเพียง 100 เมตร ส่วนผู้ที่ลงทุนเองโดยตรงก็จะต้องพิถีพิถันเป็นพิเศษในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลง และให้พิจารณาเลือกลงทุนตามพื้นฐานที่ผ่านการวิเคราะห์อย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้วเท่านั้น โดยต้องไม่ลืมว่าในอนาคตความกังวลเดิมๆจะกลับมา และเหตุการณ์ในรอบ 3 เดือนที่ผ่านมาอาจจะตามมาหลอกหลอนนักลงทุนอีกครั้ง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ