ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร "ธ. ธนชาต" ที่ "AA-", หุ้นกู้ด้อยสิทธิไม่มีประกัน ที่ "A+", และหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ที่ "A" แนวโน้ม "Stable"

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 28, 2013 14:17 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 ต.ค.--ทริสเรทติ้ง ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “AA-” พร้อมทั้งคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิไม่มีประกันและหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ของธนาคารที่ระดับ “A+” และ “A” ตามลำดับ โดยแนวโน้มยังคง “Stable” หรือ “คงที่” อันดับเครดิตสะท้อนสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งในธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อและระบบการบริหารความเสี่ยงที่ดีขึ้น อันดับเครดิตยังได้รับแรงหนุนจากสถานะเครดิตที่แข็งแกร่งของ Bank of Nova Scotia (BNS) ซึ่งเป็นพันธมิตรจากประเทศแคนาดาที่ถือหุ้น 49% ในธนาคารธนชาตผ่าน Scotia Netherlands Holdings B.V. อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกจำกัดด้วยคุณภาพสินทรัพย์ที่ยังอ่อนแอจากปริมาณสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในระดับสูง รวมทั้งปริมาณสำรองเพื่อรองรับผลขาดทุนจากสินเชื่อซึ่งแม้จะมีเพิ่มขึ้นแต่ยังมีจำนวนน้อย และการแข่งขันที่สูงขึ้นในธุรกิจธนาคาร อันดับเครดิต “A” ของหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนซึ่งนับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ของธนาคาร (TBANK197A และ TBANK247A) สะท้อนความเสี่ยงจากความด้อยสิทธิและความเสี่ยงในการเลื่อนชำระดอกเบี้ยของหุ้นกู้ โดยหุ้นกู้ดังกล่าวมีลักษณะด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน และสะสมผลตอบแทน ซึ่งจะครบกำหนดไถ่ถอนในปี 2562 และ 2567 ธนาคารสามารถไถ่ถอนหุ้นกู้คืนทั้งจำนวนก่อนครบกำหนดได้ภายหลังระยะเวลา 5 ปีนับจากวันที่ออกตราสารและได้รับความเห็นชอบจากธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้ถือหุ้นกู้ด้อยสิทธิประเภทนี้จะมีสิทธิด้อยกว่าผู้ฝากเงิน ผู้ถือหุ้นกู้ไม่มีประกัน และผู้ถือหุ้นกู้ด้อยสิทธิของธนาคาร ทั้งนี้ ธนาคารสามารถเลื่อนการชำระดอกเบี้ยของหุ้นกู้ประเภทนี้ได้ในกรณีที่ธนาคารมีผลขาดทุนในงวดบัญชี 6 เดือนก่อนวันครบกำหนดชำระดอกเบี้ยและธนาคารไม่มีการจ่ายเงินปันผลในช่วงเวลา 6 เดือนก่อนวันครบกำหนดชำระดอกเบี้ย อย่างไรก็ตาม ดอกเบี้ยที่จ่ายคืนจะเป็นจำนวนดอกเบี้ยแบบสะสมยอด แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนบทบาทการเป็นธนาคารหลักของกลุ่มธนชาต โดยคาดว่าธนาคารจะสามารถใช้การผสานพลังในกลุ่มให้เกิดประโยชน์เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่สถานะทางการตลาดได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ อันดับเครดิตของธนาคารจะได้ประโยชน์ยิ่งขึ้นหากธนาคารสามารถควบคุมคุณภาพสินทรัพย์มิให้เกิดความเสียหายและสามารถสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ฐานเงินทุนและสำรองหนี้สงสัยจะสูญของธนาคารได้ ธนาคารธนชาตเป็นบริษัทลูกที่สำคัญของ บริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน) ผ่านการถือหุ้นในสัดส่วน 50.96% ธนาคารมีสินทรัพย์รวมใหญ่เป็นอันดับ 6 โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดของสินเชื่อที่ 8.1% และเงินรับฝากที่ 7.2% ณ เดือนมิถุนายน 2556 สินเชื่อของธนาคารมีการกระจายตัวที่ดีขึ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ภายหลังการควบรวมกับธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) ในปี 2553 ทำให้สัดส่วนของสินเชื่อดีขึ้นและลดการกระจุกตัวของสินเชื่อรายย่อย ณ เดือนมิถุนายน 2556 สินเชื่อของธนาคารประกอบด้วยสินเชื่อรายย่อย (68% ของสินเชื่อรวม) สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ (20%) และสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (10%) ธนาคารเป็นผู้ให้บริการสินเชื่อรถยนต์รายใหญ่ที่สุดในประเทศไทยด้วยส่วนแบ่งทางการตลาดประมาณ 27% สินเชื่อเช่าซื้อของธนาคาร ณ เดือนมิถุนายน 2556 คิดเป็นสัดส่วน 55% ของสินเชื่อรวม ธนาคารมีความเสี่ยงด้านเครดิตเพิ่มขึ้นกว่าในอดีต สินเชื่อเช่าซื้อเติบโตอย่างรวดเร็วถึง 39% ในปี 2555 และ 9% ในครึ่งแรกของปี 2556 ธนาคารให้ความสำคัญมากขึ้นกับสินเชื่อรายย่อยและสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ให้ผลตอบแทนสูงเพื่อเพิ่มส่วนต่างดอกเบี้ย นอกจากนี้ ธนาคารยังมีความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของสินเชื่อธุรกิจรายใหญ่ ทั้งนี้ คุณภาพสินทรัพย์และฐานเงินทุนของธนาคารอาจถดถอยลงได้หากสินเชื่อเหล่านี้กลายเป็นสินเชื่อด้อยคุณภาพ โดยเฉพาะในภาวะเศรษฐกิจขาลง ในเดือนพฤษภาคม 2556 ธนาคารได้ขายธุรกิจประกันชีวิตซึ่งดำเนินงานโดยบริษัทย่อยคือ บริษัท ธนชาตประกันชีวิต จำกัด ให้แก่ บริษัท พรูเด็นเชียล ประกันชีวิต (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (พรูเด็นเชียล) ด้วยมูลค่าประมาณ 17.5 พันล้านบาท โดยจะนำเงินสดจากการขายกิจการในครั้งนี้มาใช้ในการขยายสินเชื่อต่อไป ปัจจุบันธนาคารเป็นพันธมิตรกับพรูเด็นเชียลในธุรกิจการขายประกันชีวิตผ่านธนาคาร (Bancassurance) ซึ่งจะได้ประโยชน์จากความร่วมมือโดยอาศัยความเชี่ยวชาญในธุรกิจประกันของพรูเด็นเชียลและเครือข่ายสาขาจำนวนมากของธนาคาร อันจะส่งผลให้ธนาคารมีรายได้ค่าธรรมเนียมจากบริการ Bancassurance เพิ่มสูงขึ้น ธนาคารมีระบบการบริหารความเสี่ยงที่ดีขึ้นและสอดคล้องกับมาตรฐานสากล อย่างไรก็ตาม สถานะทางเครดิตของธนาคารถูกจำกัดด้วยปริมาณสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (ได้แก่ สินเชื่อค้างชำระเกินกว่า 3 เดือน สินเชื่อที่ปรับโครงสร้างหนี้ และสินทรัพย์รอการขาย) จำนวนมากซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อที่รับโอนมาจากธนาคารนครหลวงไทย ธนาคารพยายามปรับปรุงคุณภาพของสินเชื่อโดยการแก้ไขสินเชื่อด้อยคุณภาพที่ค้างมานาน ส่งผลให้สินเชื่อด้อยคุณภาพลดลงจาก 36.9 พันล้านบาทในปี 2553 เป็น 32.5 พันล้านบาทในปี 2555 อย่างไรก็ตาม ปรากฏมีสินเชื่อด้อยคุณภาพเกิดขึ้นจำนวนมากในไตรมาสที่ 2 ของปี 2556 ทำให้สินเชื่อด้อยคุณภาพเพิ่มขึ้นเป็น 34.8 พันล้านบาท ณ เดือนมิถุนายน 2556 โดยเพิ่มขึ้น 7% จากเดือนธันวาคม 2555 อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวมลดลงจาก 6.06% ในปี 2553 เป็น 4.30% ในปี 2555 แต่กลับเพิ่มขึ้นเป็น 4.41% ณ เดือนมิถุนายน 2556 ธนาคารได้ตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มเติมในช่วงครึ่งแรกของปี 2556 เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งแก่ฐานะทางการเงิน ส่งผลให้อัตราส่วนสำรองหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพเพิ่มขึ้นจาก 75% ในปี 2555 เป็น 86% ในเดือนมิถุนายน 2556 แต่ยังคงน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของระบบที่ระดับ 134% ณ เดือนมิถุนายน 2556 ทั้งนี้ ในภาวะเศรษฐกิจไทยที่ยังคงอ่อนแอ ธนาคารยังคงเผชิญกับความท้าทายอย่างต่อเนื่องในการควบคุมคุณภาพสินทรัพย์และการเพิ่มปริมาณสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญให้สูงขึ้น ฐานะการเงินของธนาคารปรับตัวดีขึ้นภายหลังการรวมธุรกิจระหว่างธนาคารและธนาคารนครหลวงไทย ธนาคารมีกำไรสุทธิ 8.4 พันล้านบาทในปี 2555 เพิ่มขึ้น 10% โดยส่วนใหญ่เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยและการควบคุมต้นทุนดำเนินงาน ธนาคารบันทึกกำไรจากการขายกิจการประกันชีวิตในงวดไตรมาสที่ 2 ของปี 2556 ส่งผลให้กำไรสุทธิในงวดครึ่งแรกของปี 2556 เท่ากับ 10.4 พันล้านบาท ผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 0.89% ในปี 2555 และ 1.02% (ยังไม่ได้ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปี) สำหรับงวด 6 เดือนแรกของปี 2556 แม้ว่าผลประกอบการจะดีขึ้น แต่ความสามารถในการทำกำไรของธนาคารยังคงอ่อนแอกว่าเมื่อเทียบกับธนาคารคู่แข่ง ธนาคารมีเงินกองทุนที่เพียงพอต่อการขยายธุรกิจในช่วง 3 ปีข้างหน้า ณ เดือนมิถุนายน 2556 อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 และอัตราส่วนเงินกองทุนรวมของธนาคารเท่ากับ 8.34% และ 13.89% ตามลำดับ แม้ว่าจะสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ระดับ 6.00% และ 8.50% แต่ยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของระบบธนาคารที่ระดับ 11.67% และ 15.54% ตามลำดับ ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) (TBANK) อันดับเครดิตองค์กร: AA- อันดับเครดิตตราสารหนี้: TBANK155A: หุ้นกู้ด้อยสิทธิไม่มีประกัน 5,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2558 A+ TBANK194A: หุ้นกู้ด้อยสิทธิไม่มีประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2562 A+ TBANK196A: หุ้นกู้ด้อยสิทธิไม่มีประกัน 10,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2562 A+ TBANK204A: หุ้นกู้ด้อยสิทธิไม่มีประกัน 6,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2563 A+ TBANK227A: หุ้นกู้ด้อยสิทธิไม่มีประกัน 8,497 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 A+ TBANK22OA: หุ้นกู้ด้อยสิทธิไม่มีประกัน 4,018.5 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 A+ TBANK197A: หุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 3,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2562 A TBANK247A: หุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 1,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 A แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ