สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปประจำสัปดาห์ 4-8 พ.ย. 56 และแนวโน้มในสัปดาห์นี้ 11-15 พ.ย. 56

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 11, 2013 15:13 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 พ.ย.--ปตท. ฝ่ายกลยุทธ์และแผนธุรกิจ หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) สรุปรายงานสถานการณ์น้ำมันดิบในสัปดาห์ที่ผ่านมาเมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อน ราคาน้ำมันดิบ เบรนท์ (Brent) ลดลง 3.57 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 105.08 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล น้ำมันดิบเวสท์ เท็กซัสฯ (WTI) ลดลง 2.61 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 94.32 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล น้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ลดลง 2.75 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 104.19 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาเฉลี่ยน้ำมันเบนซิน 95 ลดลง 2.26 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 111.82 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซลลดลง 2.30 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 121.66 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบ ได้แก่ ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันในเชิงลบ - การเจรจาสันติภาพระหว่างอิหร่านและชาติมหาอำนาจ P5+1 ได้แก่ สหรัฐฯ, อังกฤษ, ฝรั่งเศส, รัสเซีย, จีน และ เยอรมนี ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ วันที่ 7-9 พ.ย. 56 เป็นแรงกดราคาน้ำมันในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากตลาดเชื่อว่าการอ่อนท่าทีลงและหันหน้าเข้าหากันเป็นสัญญาณเริ่มต้นในการคลายความเข้มงวดของมาตรการคว่ำบาตรที่ประชาคมโลกมีต่ออิหร่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการส่งออกน้ำมันดิบซึ่งเป็นรายได้หลักของอิหร่าน อย่างไรก็ตาม การเจรจายังไม่บรรลุข้อตกลงและจะเปิดการเจราจาอีกรอบในวันที่ 20 พ.ย. 56 - ธนาคารกลางยุโรป (ECB) พลิกความคาดหมายของนักวิเคราะห์ด้วยการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Refinancing Rate) ของยูโรโซนลงมาอยู่ที่ 0.25% จากเดิม 0.5% ซึ่งต่ำสุดเป็นประวัติการณ์อยู่แล้ว เพื่อแก้ปัญหาเงินฝืด หลังจากอัตราเงินเฟ้อในเดือน ต.ค. 56 ลดลงมาเหลือ 0.7% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า การลดอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวส่งผลให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้นไปอีกเมื่อเทียบกับเงินยูโร ซึ่งจะทำให้การไหลเวียนของเงินทุน (Fund Flow) เปลี่ยนทิศทางจากสินทรัพย์เสี่ยงจำพวกสินค้าโภคภัณฑ์ อาทิ น้ำมันดิบ กลับไปยังเงินดอลลาร์ - กระทรวงพลังงานของรัสเซียรายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในเดือน ต.ค. 56 เพิ่มขึ้น 1.2% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า มาอยู่ที่ 44.77 ล้านตัน หรือคิดเป็น 10.54 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดเป็นประวัติการณ์หลังสิ้นสุดยุคสหภาพโซเวียต - ANP ของบราซิลรายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติในเดือน ก.ย. 56 เพิ่มขึ้น 8.9% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า เพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบ 33 เดือน มาอยู่ที่ 2.58 ล้านบาร์เรลต่อวันปริมาณเทียบเท่าน้ำมันดิบ เนื่องจากแหล่งผลิตน้ำมันดิบใหม่ ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันในเชิงบวก - สถานการณ์ในลิเบียยกระดับความรุนแรงขึ้น เมื่อกลุ่มผู้ประท้วงด้านตะวันออกของประเทศเรียกร้องการแบ่งแยกดินแดนออกเป็น 3 ส่วน เพื่อปกครองด้วยระบบสหพันธรัฐ พร้อมประกาศจัดตั้งรัฐบาลของตนเองแล้ว ล่าสุดยังได้จัดตั้งบริษัทน้ำมันเพื่อควบคุมการส่งออกน้ำมันดิบฝั่งตะวันออกด้วยตนเอง ทั้งนี้ ท่าส่งออก el-Hariga ซึ่งส่งออกน้ำมันดิบได้ 140,000 บาร์เรลต่อวัน ยังไม่สามารถดำเนินการได้ - กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ รายงานอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ในไตรมาสที่ 3/56 เพิ่มขึ้น 2.8% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ 2% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า - เศรษฐกิจยุโรปเริ่มฟื้นตัว ไม่ว่าจะสเปนที่ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (Industrial Output) ในเดือน ก.ย. 56 เพิ่มขึ้น 1.4% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า เพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 30 เดือน และ Troika (คณะกรรมาธิการยุโรป ECB และ IMF) อยู่ระหว่างการพิจารณาขั้นสุดท้ายให้ไอร์แลนด์ออกจากมาตรการไถ่ถอน (Bailout) ภายในสิ้นปีนี้ พร้อมอนุมัติเงินงวดสุดท้ายของการ Bailout ให้ 1.14 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แนวโน้มราคาน้ำมัน ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวลดลงในสัปดาห์นี้ เนื่องจากเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นทำให้นักลงทุนมีแนวโน้มเทขายสินค้าโภคภัณฑ์ อย่างไรก็ตาม ตัวเลขเศรษฐกิจของจีนต่างอยู่ในเกณฑ์ดี ไม่ว่าจะยอดขายปลีก (Retail Sales) ผลผลิตอุตสาหกรรม (Industrial Output) รวมไปถึงอุปสงค์น้ำมันดิบเมื่อรวมการปรับเพิ่ม/ลดปริมาณสำรอง (Implied Oil Demand) ในเดือน ต.ค. 56 ซึ่งเพิ่มขึ้น 0.3% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้ามาอยู่ที่ 9.79 ล้านบาร์เรลต่อวัน หลังจากเดือนก่อนหน้าลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 17 เดือน นอกจากนี้ ความวุ่นวายในลิเบียยังคงดำเนินต่อไปเมื่อรัฐบาลในกรุงทริโปลีอ่อนแอเกินกว่าจะสามารถสลายกลุ่มประท้วงซึ่งยึดพื้นที่ท่าส่งออกน้ำมันดิบ สำหรับกรอบราคาน้ำมันดิบ Brent ในสัปดาห์นี้ มีแนวรับแนวต้านอยู่ที่ 102.2-106.6 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วน WTI อยู่ที่ 92.5-95.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และ Dubai อยู่ที่ 101.7-106.1 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาน้ำมันเบนซินปรับตัวลดลง เนื่องจากปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ของสิงคโปร์เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับสูงสุดในรอบ 3 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม ตลาดในช่วงนี้ยังได้รับแรงสนับสนุนจากอุปสงค์ของอินโดนีเซียซึ่งคาดว่าจะนำเข้าน้ำมันเบนซินสำหรับเดือน ธ.ค. 56 ประมาณ 9.5-10 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้น 7.5-8.0% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 109.4-113.8 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล ราคาน้ำมันดีเซลเฉลี่ยสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวลดลง เนื่องจากมีอุปทานออกมาในตลาดมาก ทั้งนี้ หลายบริษัทเริ่มออกประมูลขายดีเซลแบบเทอมสำหรับปีหน้าแล้ว อย่างไรก็ตาม ปัจจัยพื้นฐานในเอเชียยังคงแข็งแกร่งจากปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ของสิงคโปร์ ซึ่งแตะระดับต่ำสุดในรอบ 11 สัปดาห์ ประกอบกับโรงกลั่นน้ำมันส่วนมากในอินเดียปิดซ่อมบำรุง และประเทศเขตหนาวเริ่มเก็บสำรองดีเซลเพื่อทำความร้อนในฤดูหนาวที่กำลังมาเยือน ในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 119.4-123.8 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ